บ่อยครั้งที่เด็ก ๆ มักเล่นซนจนเกิดอุบัติเหตุ หากลูกเล่นเบาก็อาจมีแค่รอยแผลฟกช้ำทั่วไป แต่ถ้าหากถึงขั้นรุนแรง ก็อาจทำให้เด็กกระดูกหักได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อให้ลูกน้อยปลอดภัย และปกป้องอันตรายที่อาจเกิดขึ้น วันนี้ theAsianparent Thailand จะพามาดูกันว่า เด็กกระดูกหัก พ่อแม่รับมืออย่างไร พร้อมวิธีดูแลลูกเมื่อกระดูกหักค่ะ มาติดตามกันเลย
รู้ได้อย่างไรว่าลูกกระดูกหัก เด็กกระดูกหัก
เมื่อลูกได้รับบาดเจ็บจนกระดูก เขาอาจไม่สามารถบอกความรู้สึก หรืออาการผิดปกติของตัวเองได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังพูดไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ก็อาจมีความกังวลใจอย่างมาก เรามาดูวิธีสังเกตอาการเบื้องต้น เมื่อลูกกระดูกหักกันค่ะ
- กระดูกบิดเบี้ยว ผิดรูปไปจากเดิม หรือออกมาจากผิวหนัง
- เกิดเสียงดังกร๊อบแกร๊บบริเวณที่กระดูกหักขณะเกิดอุบัติเหตุ
- รู้สึกเจ็บเมื่อมีคนมาจับหรือแตะโดน หากเป็นเด็กเล็กจะร้องไห้งอแงเป็นอย่างมาก
- มีอาการปวด บวมแดง ฟกช้ำ มีรอยห้อเลือด และมีสีผิวบริเวณที่บาดเจ็บเปลี่ยนไป
- รู้สึกชาบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ เพราะเส้นประสาทบริเวณกระดูกหักได้รับความเสียหาย
- เด็กไม่ยอมขยับส่วนที่บาดเจ็บ เช่น เดินไม่ได้ หรือไม่สามารถเหยียดข้อศอกให้ตรงได้
อย่างไรก็ตาม อาการข้างต้นอาจเป็นเพียงสัญญาณที่พบได้บ่อยเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันทีหากสงสัยว่าลูกกระดูกหัก เพราะเด็กบางคนก็อาจสังเกตได้ยาก บางคนอาจมีอาการเล็กน้อย หรือบิดเบี้ยวไม่ถึงกับหัก หากปล่อยไว้ ก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการร่างกายของเขาตอนโตได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของลูก เวลาเขาเกิดอุบัติเหตุค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ปฐมพยาบาลเบื้องต้น กับ 5 อาการที่เกิดบ่อยของลูกวัยซน
กระดูกหักมีกี่ประเภท
แม้ว่ากระดูกของเด็ก จะสามารถรองรับแรงกระแทกได้ดีกว่าของผู้ใหญ่ เพราะมีความยืดหยุ่นกว่า แต่ก็ยังเป็นกระดูกอ่อนที่เจริญเติบโตไม่เต็มที่ อาจส่งผลให้มีความเปราะบาง และแตกหักได้ง่าย โดยทั่วไปแล้ว อาการกระดูกหัก สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
- กระดูกเดาะ : เป็นภาวะที่กระดูกหักเฉพาะด้านที่เกิดแรงปะทะด้านเดียว ส่วนอีกด้านโก่งออกไปตามแรงกด และมีลักษณะเหมือนกิ่งไม้ที่โดนหัก
- กระดูกหักแบบยู่หรือย่นด้วยแรงอัด : เป็นภาวะที่กระดูกถูกแรงอัดจนย่นเข้าหากัน แต่ไม่ได้เคลื่อนที่ออกจากกัน
- กระดูกโก่งงอไม่มีรอยหัก : เป็นภาวะที่กระดูกโก่งงอผิดรูปไปจากเดิม โดยไม่มีรอยแตกหัก ซึ่งมักพบได้บ่อยในวัยรุ่นมากกว่าเด็กเล็ก
- กระดูกหักบริเวณส่วนปลาย : เป็นภาวะที่กระดูกหักออกจากกันเป็นสองท่อน โดยเกิดขึ้นที่แผ่นการเจริญเติบโตของกระดูก (Growth Plate) ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนบริเวณส่วนปลายที่ยังไม่เจริญเติบโต หากลูกเกิดกระดูกหักบริเวณส่วนนี้ และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจส่งผลให้กระดูกบริเวณนั้น เติบโตได้ช้ากว่าส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
เด็กกระดูกหัก พ่อแม่รับมืออย่างไร
เมื่อลูกเกิดอุบัติเหตุจนกระดูกหัก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตกใจเกินไปนะคะ ควรพาลูกไปโรงพยาบาลทันที โดยให้ลูกอยู่นิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนไว้ และสามารถใช้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
- นำน้ำแข็งห่อด้วยผ้าสะอาด แล้วนำไปประคบเย็นบริเวณที่คิดว่ากระดูกหัก จากนั้นยกอวัยวะส่วนนั้นให้สูงขึ้น เพื่อบรรเทาอาการปวดบวม อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรประคบน้ำแข็งกับเด็กทารกนะคะ เพราะความเย็นของน้ำแข็งอาจทำลายผิวหนังของลูกได้
- หากต้องถอดเสื้อผ้าลูก พยายามไม่ถอดด้วยวิธีปกติ เพราะอาจทำให้ลูกรู้สึกเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น ควรใช้กรรไกรตัด หรือใช้วิธีฉีกเสื้อผ้าออกดีกว่า
- หากลูกกระดูกหักที่แขนหรือขา ให้นำวัสดุที่แข็งแรงมาดาม เช่น ไม้ ลังกระดาษ หรือหนังสือพิมพ์ม้วน เป็นต้น โดยพยายามเลือกความยาวของวัสดุให้เลยว่าบริเวณที่ลูกบาดเจ็บ แล้วใช้ผ้าพันรอบ ๆ ไม่ต้องแน่นจนเกินไป เพื่อบรรเทาอาการปวด และลดการเคลื่อนไหว
- หากลูกต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรให้ลูกงดรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ และกินยาทุกชนิด
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกหกล้ม หัวโน ดูแลอย่างไร ควรปล่อยให้ลูกลุกด้วยตัวเองดีไหม?
การรักษาอาการกระดูกหัก
การรักษาอาการกระดูกหักของเด็ก สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรง ลักษณะของกระดูกที่หัก และอายุของลูก โดยเมื่อคุณพ่อคุณแม่นำตัวลูกส่งโรงพยาบาลแล้ว แพทย์จะสอบถามข้อมูลทั่วไป เช่น สาเหตุที่กระดูกหัก อาการผิดปกติ หรือประวัติทางการแพทย์ จากนั้นจะตรวจการเคลื่อนไหวบริเวณที่ลูกบาดเจ็บก่อนจะส่งตัวไปเอกซเรย์ เพื่อทำการรักษา ซึ่งการรักษากระดูกหักนั้น จะใช้อุปกรณ์พยุง การใส่เฝือก หรือการผ่าตัด หากลูกกระดูกหักไม่รุนแรง ก็อาจจะใช้อุปกรณ์พยุงชั่วคราว หรือใส่เฝือก แต่หากลูกกระดูกหักอย่างรุนแรง ก็อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อใส่โลหะยึดกระดูกไว้
สำหรับเด็กที่มีอาการกระดูกหักไม่รุนแรง แพทย์จะให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านทันทีหลังรักษา แต่สำหรับเด็กที่มีอาการรุนแรง ก็อาจต้องนอนพักฟื้นในโรงพยาบาลเพื่อตรวจดูอาการ อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนอาจใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ และจะหายสนิทภายใน 1 เดือน เพราะกระดูกของเด็กสามารถซ่อมแซมเองได้ ในช่วงการพักฟื้นวันแรก ๆ ลูกอาจรู้สึกอึดอัด และเกิดอาการบวมบริเวณที่หัก คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกนอนพักผ่อนมาก ๆ และพยายามเอาหมอนมารองบริเวณที่กระดูก รวมทั้งพยายามไม่ให้ลูกเคลื่อนไหวบ่อย ๆ ก็จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดของลูกได้ค่ะ
วิธีดูแลเมื่อลูกใส่เฝือก
สำหรับเด็กที่เข้ารับการใส่เฝือก คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเขาเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันอาการปวดบวม และช่วยให้แผลสมานกันได้เร็วขึ้น เรามาดูวิธีดูแลเมื่อลูกต้องใส่เฝือกกันค่ะ
- ห้ามให้เฝือกโดยน้ำ
- ห้ามถอดเฝือกออกเอง
- ห้ามนำเฝือกไปโดนความร้อน
- พยายามไม่ให้ลูกเคลื่อนไหวบริเวณที่ใส่เฝือก
- หากลูกมีอาการคันบริเวณผิวหนังใต้เฝือก ไม่ควรนำวัสดุแข็งหรือแหลมเข้าไปเกา เพราะอาจทำให้เกิดแผลหรือเกิดการหักค้างอยู่ข้างในได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกเดินเซ ทรงตัวไม่อยู่ เป็นสัญญาณของอันตรายหรือไม่? เกิดจากอะไร
วิธีป้องกันลูกกระดูกหัก
คุณพ่อคุณแม่อาจไม่สามารถปกป้องอุบัติเหตุจากลูกน้อยได้ทุกเมื่อ แต่ก็ควรรู้จักวิธีการป้องกันความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักของลูกน้อยค่ะ โดยวิธีป้องกันลูกกระดูกหักเบื้องต้น มีดังนี้
- ระมัดระวังไม่ให้ลูกปืนป่ายเฟอร์นิเจอร์
- สำหรับเด็กที่เริ่มเดินได้แล้ว พยายามให้ลูกอยู่ห่างจากบันได และควรปิดประตูห้องให้มิดชิด
- อย่าให้ลูกอยู่คนเดียวบนที่สูง เช่น บนเตียง บนโต๊ะ บนเก้าอี้ เพราะอาจทำให้เด็กกลิ้งตกลงมาได้
- หากคุณพ่อคุณแม่นอนกับลูก ให้นำหมอนข้างมากั้นระหว่างคุณกับลูกไว้ เพราะคุณพ่อคุณแม่บางคนอาจกลิ้งไปทับลูกระหว่างนอนหลับได้
เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จักวิธีการรับมือ และบรรเทาอาการของลูกเมื่อ เด็กกระดูกหัก รวมถึงควรสังเกตอาการของลูกหลังเกิดอุบัติเหตุ เพราะเด็กเล็ก ๆ อาจไม่สามารถบอกความผิดปกติของตัวเองได้ คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรปล่อยลูกให้เล่นคนเดียว ยิ่งโดยเฉพาะเด็กที่เริ่มหัดเดินนั้น ก็อาจมีความเสี่ยงในการกระดูกหักได้ง่าย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อันตรายในบ้าน ที่มักเกิดขึ้นกับลูกของคุณ ทำอย่างไรให้ปลอดภัย
วิธีลดความเสี่ยงไม่ให้คุณแม่ กระดูกหัก ในช่วงตั้งครรภ์ อ่านก่อนจะสายเกินแก้!
โรคนิ้วล็อกในเด็ก พบได้ตั้งแต่แรกเกิด พ่อแม่จะมีวิธีสังเกตอาการลูกน้อยได้อย่างไร
ที่มา : pobpad, motherhood, 3