แม่ให้นมท่านใดที่ ลูกไม่ยอมดูดเต้า บ้างคะ ยกมือขึ้น!!! ซึ่งการที่ลูกไม่ยอมดูดเต้าอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนั้นไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ เรามีวิธีบอกลาขวดนม ให้ลูกน้อยกลับไปหาเต้าอันแสนอบอุ่นของคุณแม่ มาตามไปดูพร้อมกันเลย!
ทำไมลูกไม่ยอมดูดนมจากเต้า ?
ช้าก่อนอย่าเพิ่งเสียใจ ใจเสียไปค่ะคุณแม่ ทำไมลูกน้อยถึงเปลี่ยนใจง่ายแบบนี้ หันไปรักขวดนมมากกว่าเต้าอุ่น ๆ ของแม่ สาเหตุส่วนใหญ่มาจาก
- อาจเป็นเพราะน้ำนมแม่ยังผลิตไม่พอ พอลูกดูดน้ำนมไม่ออกเลยทำให้หงุดหงิด ไม่ยอมกินต่อ
- เต้านมคัด หัวนมแข็ง ทำให้ดูดไม่สะดวก ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ยอมดูดได้
- ภาวะเครียดบางอย่างของลูก โดยมากเกิดจากอาการเจ็บป่วย เช่น เป็นหูอักเสบ เวลาดูดแล้วทำให้เจ็บหู ลูกก็จะไม่ยอมดูด คออักเสบ เป็นหวัด คัดจมูก ดูดนมไม่ได้ เพราะเวลาดูดลูกต้องอาศัยการหายใจทางจมูก ถ้าคัดจมูกก็จะทำให้ดูดไม่สะดวก เลยไม่ยอมดูด ดูดไป ร้องไป งอแงไป
บทความเพิ่มเติม : วิธีนำลูกเข้าเต้าที่ถูกต้อง ไม่ทำให้เจ็บหัวนม
ขวดนมมีดีอย่างไร ?
แน่นอนว่าเต้านมแม่ต้องดีที่สุด แต่บางครั้งการที่ลูกต้องใช้ความพยายามในการดูด การงับเต้า บางทีเจอน้ำนมเยอะพุ่งใส่หน้า บางทีน้ำนมน้อยจัง หนูดูดไม่อิ่ม เลยทำให้ร้องไห้โยเยจนคุณแม่ใจอ่อนลองให้ดูดจากขวดเมื่อปั๊มนมใส่ขวด ประกอบกับจุกนมเป็นจุกยาง ทำให้ดูดง่ายกว่าเต้านมแม่ ดูดปุ๊บนมไหลมาเทมา ยิ่งใช้จุกนมผิดขนาด เช่น วัยของลูก 2 – 3 เดือน ควรใช้ไซส์ S คุณแม่ซื้อเผื่อโต ใช้ไซส์ M แบบนี้น้ำนมในขวดไหลเร็ว ทันใจ แบบนี้หนูชอบ ดูดง่าย ดูดเร็ว น้ำนมไหลมาเทมา แบบนี้ก็ติดขวดสิคะ!!! คุณแม่
แก้อย่างไร? ลูกไม่ยอมดูดเต้า ลูกไม่เอาเต้าเฝ้าแต่ขวดนม
- หาก ลูกไม่ยอมดูดเต้า คุณแม่หมดเวลาลาคลอดต้องกลับไปทำงานแล้ว จำเป็นต้องให้ลูกดูดนมจากขวดนม ให้ใช้จุกเบอร์ S , SS ห้ามใช้ M , L ถึงโตขึ้นก็ไม่ต้องเปลี่ยนขนาด เพราะถ้ารูใหญ่ ลูกจะติดความเร็ว ทำให้หงุดหงิดเวลาดูด
- ให้ลูกกินนมแม่ที่สต๊อกไว้จากขวดแค่วันละ 1-2 ครั้ง/วัน ก็พอแล้ว เวลาถือขวดนมป้อนให้ถือขวดขนานกับพื้นราบ จะทำให้น้ำนมค่อย ๆ ไหล ไม่แรงและเร็วจนเกินไป ทำให้ลูกติดเวลาดูดนมแม่ไม่เร็วและแรงแบบนี้ จนทำให้ลูกไม่เอาเต้าขึ้นมาได้ค่ะ
- หากคุณแม่ออกไปทำงานวันหนึ่งนาน 8 – 10 ชั่วโมง คุณแม่ควรสต๊อกนมแม่ไว้ 5-10 ออนซ์ คือ ไม่เกินชั่วโมงละออนซ์ ทุกช่วงอายุ เพื่อให้ลูกเก็บท้องไว้รอเต้า ตอนที่แม่กลับมา ลูกจะได้ตื่นขึ้นมาดูดเต้าทุก 3-4 ชั่วโมงค่ะ
- ไม่อยากให้ติดขวด ก็ไม่ต้องใช้ขวดเลยค่ะ เวลาที่คุณแม่ไปทำงานปั๊มนมเก็บไว้ให้เจ้าตัวน้อย คนเลี้ยงที่บ้านให้ป้อนนมจากถ้วย ช้อนตัก หรือหลอดดูด ค่อย ๆ ฝึกกันไป ลูกอาจจะไม่อิ่มเอมเต็มที่อย่างน้อยก็มีที่ว่างในท้อง รอแม่กลับมาให้ดูดเต้าก็เป็นอีกวิธีหนึ่งนะคะ
- อีกวิธีหนึ่งที่ดูจะใจร้ายไปสักนิดนะคะ คือ ให้เลิกขวดแบบเด็ดขาด ยอมปล่อยให้หิวจึงเอาเข้าเต้า แม้แรก ๆ จะปฏิเสธแต่ถ้าหิวมาก ๆ เต้าก็เต้า ค่ะแม่!!! หนูดูดทั้งนั้น เพราะเมื่อหิวแล้วเจ้าหนูคงไม่เลือกแล้วค่ะ อดทนฝึกกันไป แม้จะสงสารเจ้าตัวน้อยเพียงใดก็ต้องอดทนนะคะ ไม่นานก็กลับมาเข้าเต้าได้เหมือนเดิมแน่นอน บอกลาขวดนมไปเลยทีนี้
บทความเพิ่มเติม : แม่รู้ไหม??ท่าให้นมท่าไหนสบายทั้งแม่และลูก
เทคนิคดูดนมแม่ให้เจ้าหนูอิ่มเอม
คำแนะนำจาก พญ.วิมล เสกธีระ กุมารแพทย์ กุมารเวชศาสตร์ด้านทารกแรกเกิด-ปริกำเนิด รพ.เวชธานี คือ โดยวิธีการกระตุ้นน้ำนมที่ดีที่สุด คือ การใช้เทคนิค ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดนาน ดังนี้
- ดูดเร็ว คือเมื่อลูกคลอดออกมาภายใน 15 – 30 นาที ควรให้ลูกดูดนมเลย เพื่อกระตุ้นน้ำนมครั้งแรก
- ดูดบ่อย คือให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ วันละ 8 -12 ครั้ง หรือตามที่ลูกต้องการ ถ้าลูกร้องงอแง หรือหิวก็ให้ดูดทันที
- ดูดนาน คือในแต่ละครั้งที่ลูกดูดนมให้ดูดนาน ๆ ประมาณข้างละ 15 นาที หรือดูดจนกว่าลูกจะเลิกดูดไปเอง แต่ละข้างไม่ควรเกิน ข้างละ 30 นาที โดยสลับเต้าซ้าย – ขวา
วิธีดังกล่าวจะทำให้น้ำนมผลิตมาอย่างสม่ำเสมอ มีน้ำนมออกมาเต็มที่ โดยในช่วง 2 – 3 วันแรกหลังคลอด ลูกอาจจะดูดน้อย ธรรมชาติสร้างให้แม่กับลูกคู่กัน จึงไม่ต้องกังวลว่าน้ำนมจะไม่พอ ถ้ากระตุ้นด้วยการดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดนาน รับรองว่าจะมีน้ำนมเพียงพอต่อความต้องการของลูกแน่นอน ตามที่คุณหมอได้กล่าวมา วิธีดังกล่าวรับรองว่าทารกน้อยต้องหันกลับมาเข้าเต้าเหมือนเดิม เมินขวดนมไปเลยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
หมอแนะ!!ดูดนมแม่ช่วยให้ลูกฟันสวย
ลิ้นติด สาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกน้อยมีปัญหากับการดูดนมจากเต้า
ฝึกลูก ดูดนม ลูกไม่ยอมอ้าปากเข้าเต้า ทำอย่างไรให้ลูกดูดเต้าอย่างถูกวิธี?
ที่มา : Breastfeedingthai.com , babytrick.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!