เวลาที่ลูกของคุณไม่สามารถดูดนมจากเต้าได้ ปกติแล้วจะเกิดจากที่ท่าให้นมที่ไม่สบาย หรือการที่หัวนมเข้าปากลูกผิดจุด เนื่องจากลูกอยู่ใกล้เต้านมของคุณเกินไป ทำให้ดูดนมไม่เข้า หรืออาจจะเป็นปัญหาที่ร้ายแรงกว่านั้นก็ได้ เช่น อาการลิ้นติด ซึ่งอาการนี้อาจนำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานของลิ้นลดลง และส่งผลต่อการดูดนมแม่ วันนี้ theAsianparent จะพาคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านมาดูกันว่า ลิ้นติด ในทารก คืออะไร และมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง ไปติดตามกันค่ะ
ลิ้นติด คืออะไร
ภาวะลิ้นติด (Tongue-tie) เป็นภาวะที่ลิ้นไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ อาจทำให้เด็กไม่สามารถเลียริมฝีปาก หรือกระดกลิ้นได้ โดยปัญหานี้เกิดจากการที่มีเนื้อเยื่อหนา และสั้นเกินไป มายึดเกาะกันแน่นระหว่างใต้ลิ้น และพื้นล่างของปาก ส่งผลให้ลูกมีปัญหาด้านการพูด การกลืน การรับประทานอาหาร และการดูดนมแม่ ซึ่งปกติแล้วภาวะนี้สามารถพบได้ในเด็กทารกแรกเกิด และสามารถรักษาได้ไม่ยาก
สาเหตุของปัญหาลิ้นติด
ปกติแล้วเนื้อเยื่อใต้ลิ้นจะมีลักษณะที่หนา สั้น และยึดติดกับใต้ลิ้นแน่น จะแยกตัวออกจากบริเวณใต้ลิ้น และพื้นล่างของปากมาตั้งแต่เกิด แต่หากเนื้อเยื่อในบริเวณดังกล่าวยังคงเกาะอยู่ด้วยกัน ก็จะทำให้เกิดภาวะลิ้นติดได้ โดยภาวะนี้มักจะเกิดกับเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า อาการนี้เกิดจากอะไร แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเด็กบางคนก็อาจเกิดจากปัญหาทางพันธุกรรม
ปัญหาลิ้นติดมีผลกระทบอย่างไรกับการให้นมจากเต้า
การที่จะให้นมจากเต้านั้น จะประสบความสำเร็จได้มากน้อยขึ้นอยู่กับความสามารถของเด็กที่จะควบคุมลิ้นของตัวเอง อย่างแรกเลยคือ การใช้ลิ้นช่วยดึงหัวนมให้อยู่ในจุดในสมดุลในปาก แล้วช่วยให้อยู่ในท่าให้นมที่เหมาะสมไปจนจบการให้นม แล้วยังต้องใช้ลิ้นในการเคลื่อนไหวพิเศษ เพื่อช่วยให้น้ำนมถูกเก็บไว้หลังลิ้นตอนที่ดูดนมเพื่อรอการกลืนเข้าไป
เด็กทารกที่มีปัญหาลิ้นติดจะเจอกับปัญหาหลาย ๆ อย่างในการเข้าเต้า เนื่องจากการเคลื่อนไหวที่จำกัดของลิ้นนั่นเอง เช่น ดูดนมไม่ได้ดี อมหัวนมแล้วมักหลุด แม่เจ็บหัวนม หรือหัวนมเป็นแผล ถ้าแผลเกิดติดเชื้อขึ้นมาอาจจะทำให้เกิดอาการเต้านมอักเสบได้ แม่สร้างน้ำนมได้น้อยลง น้ำหนักตัวเด็กไม่ขึ้น เพราะได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกชอบทำลิ้นจุกปาก ลูกชอบแลบลิ้นเป็นเพราะอะไร ลูกเราปกติไหม?
สัญญาณของอาการลิ้นติด
ลักษณะอาการเหล่านี้ คือ ปัญหาในการเข้าเต้า ซึ่งอาจจะแปลได้ว่าลูกของคุณ กำลังประสบกับอาการลิ้นติด
- ลูกของคุณ ไม่สามารถแลบลิ้นออกมาพ้นริมฝีปากได้
- ปลายลิ้นของลูกเป็นรูปหัวใจ หรืออาจจะเป็นร่องหยักเข้ามา
- เจ็บหัวนม มีรอยฟกช้ำ หรือเป็นแผล
- น้ำหนักตัวลูกลดลง เพราะไม่สามารถรับน้ำนมได้เต็มที่
- คุณสังเกตเห็นว่าลูกดูดนมได้น้อยลง และมีการสะอึกมากขึ้น เวลาคุณเข้าเต้าให้นมลูก
- ได้ยินเสียงคล้ายกระเดาะลิ้นจากปากของลูก ในขณะดูดนมแม่
- น้ำนมไหลออกจากปากลูกเวลาให้นม
- ลูกกัดหัวนม หรือเคี้ยวหัวนมแทนที่จะดูด
- น้ำนมออกมาน้อย เนื่องจากไม่ได้เกิดการไหลเวียนอย่างเต็มที่
การวินิจฉัยปัญหาลิ้นติด
โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะตรวจสุขภาพของทารกตั้งแต่เกิด แต่ก็อาจไม่พบปัญหาใด ๆ จนกระทั่งเด็กจะเกิดปัญหาจากการดูดนมแม่ หรือรับประทานอาหาร เมื่อพาลูกไปพบแพทย์ แพทย์จะสอบถามเรื่องการให้นมของคุณแม่ และดูความผิดปกติของช่องปากเด็ก โดยคุณหมออาจจะใช้ไม่กดลิ้นเพื่อตรวจสอบบริเวณใต้ลิ้น และประเมินลักษณะการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ดังนั้น คุณแม่จึงต้องคอยดูแลลูกน้อยอยู่ตลอดเวลา เมื่อพาลูกไปตรวจวินิจฉัย
วิธีการรักษาอาการลิ้นติด
ในกรณีที่ร้ายแรงที่การเคลื่อนไหวของลิ้นนั้น มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตจนน่าเป็นห่วง การผ่าตัดแยกส่วนติดของลิ้น หรือ frenotomy นั้นสามารถทำได้ โดยการผ่าตัดแบบ frenotomy เป็นการผ่าตัดที่ทำได้ไม่ยาก และเกือบจะไม่มีการเสียเลือด สามารถทำที่คลินิก หรือโรงพยาบาลก็ได้ โดยการใช้กรรไกรของคุณหมอตัดพังผืดใต้ลิ้นออก หลังจากนั้นก็สามารถให้นมได้ตามปกติทันที
การผ่าตัดนั้นมีความเสี่ยงอยู่บ้าง อย่างเช่นอาจจะเกิดการติดเชื้อ หรือเลือดไหลได้ ในบางกรณีเนื้อเยื่ออาจจะกลับมาติดกับพื้นล่างของช่องปากเองอีกครั้ง และ ในกรณีที่เนื้อเยื่อหนามาก และค่อนข้างมีเลือดมาเลี้ยงมาก ต้องส่งผ่าตัดแบบ frenuloplasty โดยผู้เชี่ยวชาญ หลังจากการผ่าตัดแบบนี้แล้ว แนะนำให้ทำกายภาพบำบัดลิ้น เพื่อที่จะฟื้นฟูการใช้งานให้ได้ประสิทธิภาพเต็มที่ได้เร็วขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : พังผืดใต้ลิ้นทารก ขลิบแล้วพูดไม่ชัดจริงหรือ! ไปอ่านคอมเมนต์จากแม่ ๆ กัน
ภาวะแทรกซ้อนของปัญหาลิ้นติด
อาการลิ้นติดอาจส่งผลต่อพัฒนาการในช่องปากลูกน้อย และอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังนี้
- ปัญหาในการดูดนม : เมื่อลูกมีปัญหาลิ้นติด จะทำให้เด็กไม่สามารถขยับลิ้นให้เหมาะสมในการดูดนมได้ เด็กจึงใช้เหงือกบริเวณขากรรไกรงับหัวนมแม่แทน ซึ่งอาจส่งผลให้คุณแม่เกิดอาการเต้านมคัด เป็นแผลที่หัวนม และเต้านมอักเสบ อีกทั้งยังทำให้ลูกได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ
- ออกเสียงยากลำบาก : หากลูกมีอาการลิ้นติด จะทำให้ลูกมีปัญหาในการพูด และการออกเสียงที่ต้องใช้ลิ้นแตะเพดานปาก หรือต้องกระดกลิ้น
- ไม่สามารถทำกิจกรรมบางอย่างได้ : ปัญหาลิ้นติดอาจส่งผลให้ลูกมีปัญหาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเลียริมฝีปาก การเลียไอศกรีม การเล่นเครื่องดนตรีเป่า เป็นต้น
- เสียสุขภาพช่องปาก : เด็กโต หรือผู้ใหญ่ที่มีอาการลิ้นติด อาจเกิดอาการฟันผุ และเหงือกอักเสบได้ เพราะไม่สามารถปัดเศษอาหารตามเหงือก และฟัน อีกทั้งยังทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันล่างอีกด้วย
ภาวะลิ้นติด ผู้ปกครองสามารถพาลูกไปรักษาให้หายขาดได้ ยิ่งให้ลูกรีบรักษาโดยเร็วอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยให้เด็กดูดนมแม่ได้ดี และได้รับปริมาณน้ำนมที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านการพูด และการออกเสียงได้ดี นอกจากนี้ ยังช่วยรักษาปัญหาการเคลื่อนไหวลิ้นของลูกอีกด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
8 สัญญาณเตือน ลูกพัฒนาการช้า ที่พ่อแม่สังเกตได้ตั้งแต่แรกเกิด
ลูกพูดไม่ชัด ออกเสียงบางคำไม่ได้ ลิ้นแข็ง เกิดจากอะไร มีวิธีไหม?
พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ 4 เดือน ลูกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เสริมทักษะอะไรให้ลูกดี
ที่มา : bangphaihospital, pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!