จุกนมหลอก สามารถทำให้ลูกเพดานปากเบี้ยวได้จริงหรือ? การให้ลูกดูดจุกนมหลอก สามารถเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ลูกอายุ 1 เดือนจนใกล้ครบ 1 ขวบ หรืออาจใช้ต่อเนื่องไปจนกว่าฟันซี่แรกเริ่มขึ้น หลังจากนี้ควรหยุดใช้เพราะอาจทำให้ลูกฟันยื่น ฟันผุ ระบบการงอกของฟันผิดปกติ รวมทั้งมีปัญหาเพดานปากเบี้ยว ปากเสียรูปทรง จากการออกแรงดูดจุกนมหลอกมากเกินไป
จุกนมหลอก คืออะไร
จุกนม หรือจุกนมหลอก หรือจุกหลอก เป็นจุกนมที่ถูกผลิตขึ้นมาให้มีลักษณะใกล้เคียงกับจุกนมแม่ โดยมากจะผลิตจากพลาสติก ซิลิโคน หรือยาง ซึ่งเชื่อกันว่า อุปกรณ์ชนิดนี้ สามารถช่วยให้ทารกรู้สึกผ่อนคลายได้ เหมือนกับได้ดูดนมแม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีส่วนช่วยในการเบี่ยงเบนความสนใจเมื่อคุณแม่ต้องการพักจากการให้นม หรือให้นมในปริมาณที่พอเหมาะกับเด็กแล้ว ทำให้เด็กไม่ร้องไห้กระจองอแง และยังช่วยป้องกันไม่ให้เด็กดูดนิ้ว ได้อีกด้วย
ปัจจุบัน จุกนมหลอก ที่จำหน่ายโดยทั่วไปนั้น จะมีให้เลือกหลากหลาย ขึ้นอยู่กับวัยของเด็ก และวัสดุที่ใช้ในการผลิต ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ จะต้องให้ความใส่ใจในเรื่องของความปลอดภัยเป็นหลัก และขนาดที่เหมาะสมกับลูกน้อยของคุณ
ข้อควรระวังในการใช้จุกนมหลอก
- ควรทำความสะอาดให้เหมาะสม ทำการฆ่าเชื้อด้วยการต้มในน้ำเดือดประมาณ 5 นาที
- ควรเลือกใช้วัสดุที่มีความทนทาน และปลอดภัยต่อเด็ก
- ควรเลือกขนาดจุกนมหลอกให้เหมาะสมกับวัยของลูก ไม่ให้ใหญ่ หรือเล็กจนเกินไป
- ไม่ควรบังคับลูก หากเด็กไม่ต้องการใช้จุกหลอก
- ห้ามใส่ หรือทาอะไรบนจุกหลอก เพื่อกระตุ้นให้ลูกน้อยดูดจุกนมหลอก เช่น นม, น้ำผึ้ง, น้ำหวาน เป็นต้น
- ไม่ควรใช้สายคล้องจุกนมหลอก เนื่องจากตัวสายคล้อง อาจจะเป็นอันตรายต่อเด็กได้
- ห้ามใช้จุกหลอกร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่าง ๆ
- ควรจัดเก็บจุกนมหลอกไว้ในที่เหมาะสมเมื่อไม่ได้ใช้งาน
- ไม่ควรให้เด็กใช้งานยาวนาน และต่อเนื่องมากจนเกินไป
- เมื่อเกิดการชำรุด ควรเลิกใช้งานโดยทันที เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อเด็กได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : 19 ไอเท็มเด็ด สำหรับ คุณแม่มือใหม่ ที่คุณไม่ควรพลาด
ข้อดีและข้อเสียของการดูดจุกนมหลอก
ข้อดี
- เด็กมีอารมณ์ดีขึ้น และรู้สึกผ่อนคลาย : เด็กส่วนใหญ่มักจะอารมณ์ดีเมื่อได้ดูดอะไรบางอย่าง และยังรู้สึกผ่อนคลาย เหมือนได้ดูดนมแม่อยู่ตลอดเวลา แม้จะไม่มีน้ำนมก็ตาม จึงส่งผลให้เด็กสามารถนอนหลับได้ดีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การใช้จุกหลอก ยังช่วยฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้อีกด้วย
- ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กได้ : อีกหนึ่งคุณประโยชน์ของการใช้จุกหลอกนี้ สามารถทำให้เด็กหยุดการดูดนมแม่ เมื่อคุณแม่ต้องการพัก หรือเกิดอาการเจ็บหัวนม หรือการหยุดดูดนมจากขวดเมื่อให้ทานในปริมาณที่เพียงพอแล้ว หรือ เบี่ยงเบนความสนใจจากการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นการฉีดยาเป็นต้น
- ป้องกันนิสัยดูดนิ้ว : หากเทียบกันระหว่างจุกนมหลอก กับดูดนิ้วแล้ว การเลิกติดจุกนมหลอกสามารถทำได้ง่ายกว่ามาก ดังนั้นการให้ลูกฝึกใช้จุกนมหลอก เพื่อให้เลิกติดนิสัยการดูดนิ้วนั้น จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีเลยทีเดียว
- ช่วยปรับระดับความดันภายในหู : สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่จำเป็นจะต้องพาลูกน้อยขึ้นเครื่องบิน หรือเดินทางไปในพื้นที่สูงจนทำให้เกิดแรงกดอากาศ การให้เด็กใช้จุกนมหลอก จะเป็นตัวช่วยในการปรับระดับความดันภายในหูของเด็กได้เป็นอย่างดี ทำให้ลดอาการหูอื้อได้ อีกทั้งยังลดอาการงอแงขณะขึ้นเครื่องบินได้อีกด้วย
- ลดความเสี่ยงจากโรคใหลตายในทารก : แม้จะเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ แต่ก็มีงานวิจัยบางฉบับพบว่า การให้ทารกดูดจุกนมหลอกในขณะนอนหลับนั้น สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคใหลตายได้ แต่ผลงานวิจัยนี้ ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนที่สามารถการันตีได้อย่าง 100%
ข้อเสีย
- ปัญหาในช่องปาก : แน่นอนว่า การที่เราใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่งนาน ๆ ก็มักจะส่งผลกระทบกับบริเวณนั้น ๆ โดยเฉพาะทางช่องปาก ที่จะต้องมีฟันน้ำนมผุดขึ้นมาจากเหงือก หากเด็กใช้จุกนมหลอกเป็นเวลานาน และต่อเนื่อง การกัด และดูดจุกนมหลอก ก็อาจจะส่งผลให้ฟันที่กำลังขึ้นนั้น เสียทรง หรือฟันเรียงตัวผิดปกติได้
- ติดจนเป็นนิสัย : การใช้จุกนมหลอกต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ ทำให้เด็กเกิดความคุ้นชิน จนไม่สามารถแยก หรือเลิกใช้ได้ ทำให้เมื่อดึงจุกนมหลอกออกจากปาก ก็จะเกิดการร้องไห้งอแง โดยเฉพาะช่วงเวลานอนหลับกลางดึก หากจุกนมหลุดออกจากปากเด็ก จะส่งผลให้เด็กตื่นขึ้นมาร้องไห้งอแงกลางดึก และเมื่อจะกลับไปนอนอีกครั้งก็ดูจะเป็นเรื่องยากไปซะแล้ว
- เสี่ยงต่อการติดเชื้อ : เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่จับเข้าจับออกอยู่บ่อยครั้ง และสุดท้ายก็นำเข้าสู่ปาก หากไม่มีการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม จุกนมหลอก ก็จะกลายเป็นพาหะเชื้อโรคอย่างดีสำหรับเด็ก ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากเมื่อเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าไปสะสมในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหูชั้นกลาง และส่งผลต่อการพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กในระยะยาว
- เด็กเกิดการสับสนระหว่างนมแม่และจุกนม : หากคุณให้ลูกเริ่มใช้จุกนมเร็วเกินไป เด็กซึ่งพยายามทำความคุ้นเคยกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ก็อาจจะเกิดความสับสนได้ โดยเฉพาะระหว่างนมแม่ กับการดูดจุกนมหลอก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อลักษณะของการดูดน้ำหนักนมสำหรับเด็ก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : เชื้อราในปากทารก ฝ้าสีขาวในช่องปากลูก เป็นเชื้อรารักษาอย่างไรดี?
จุกนมหลอกเป็นอันตรายต่ออะไรบ้าง?
ในขณะที่จุกนมหลอกมีข้อดีมากมายหลายประการ แต่ข้อเสียของการใช้จุกหลอกก็มีมากไม่แพ้กัน โดยเฉพาะหากลูกของคุณใช้จุกนมหลอก เป็นเวลานานและต่อเนื่อง โอกาสที่จะเกิดผลเสียในช่องปากก็มีสูงตามมาด้วยเช่นกัน
- การดูดจุกหลอก หรือการคาบจุกหลอกไว้ตลอดเวลา ส่งผลให้เด็กมีความเสี่ยงเกี่ยวกับอาการฟันยื่น ฟันเหยิน หรือฟันที่ขึ้นมาใหม่เรียงตัวไม่สวยงาม เนื่องจากเพดานปาก หรือเพดานฟันเบี้ยว หรือถูกปรับเปลี่ยนโครงสร้าง
- เด็ก ๆ จะขาดจุกหลอกไปไม่ได้ หากโดนดึงออกหรือไม่ให้ใช้จุกหลอก ก็จะร้องไห้งอแงหนักมาก
- เพราะว่าลูกติดจุกหลอกมาก ต้องใช้ทั้งวันทั้งคืน อาจทำให้การนำจุกหลอกไปทำความสะอาดบ่อย ๆ ทำได้ยาก ทำให้เกิดเชื้อโรคสะสมในตัวอุปกรณ์ และส่งผลเสียต่อสุขอนามัยของลูกได้
- เด็ก ๆ ที่เริ่มเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว โดยถึงเฉพาะตอนกำลังตั้งไข่ หัดเดิน หากหกล้มในขณะที่คาบจุกหลอกเอาไว้อยู่ อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง และเกิดการกระแทกภายในช่องปาก
วิธี คลายจุกนมหลอก
- กำหนดอายุการใช้งานให้เหมาะสม : การให้ลูกเลิกใช้จุกนมหลอกยิ่งเลิกได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งส่งผลดีกับตัวเด็กมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งวัยที่เหมาะสมกับการใช้จุกหลอกนี้ ควรให้เด็กมีอายุ 3 – 4 สัปดาห์ก่อน และไม่ควรใช้เมื่อเด็กมีอายุครบ 3 เดือน
- ฝึกลดระยะเวลาการใช้จุกหลอก : คุณพ่อคุณแม่ต้องควบคุมระยะเวลาการใช้จุกนมหลอกให้เหมาะสม ให้เด็กใช้เฉพาะในช่วงเวลาที่จำเป็น เช่นต้องการให้เกิดการเบี่ยงเบน หรือต้องการให้เด็กลดอาการงอแง แต่ควรทำเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เพื่อให้เด็กเริ่มเรียนรู้ว่า ไม่สามารถใช้จุกนมหลอกได้ตลอดเวลานั่นเอง
- หากิจกรรมอื่น ๆ ทดแทน : เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น มีพัฒนาการด้านต่าง ๆ มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่จะสามารถดึงดูดความสนใจของเขาผ่านกิจกรรมอื่น ๆ เมื่อเกิดอาการงอแง เช่น การดึงดูดความสนใจด้วยตุ๊กตาตัวโปรด หรือเสียงดนตรี หรือของเล่นที่เด็กชื่นชอบ
- การเปลี่ยนรสชาติของจุกนม : เช่นเดียวกับวิธีการให้ลูกหย่านมแม่ คุณแม่หลายคนเลือกที่จะนำเอาบอระเพ็ดที่มีรสขมมาทาบริเวณหัวนม เพื่อให้ลูกผละตัวหนี เพราะไม่ชอบในรสชาติ จุกนมหลอกก็สามารถใช้วิธีแบบเดียวกันนี้ได้เหมือนกันค่ะ
- หักดิบกันไปเลย : วิธีนี้ คุณพ่อคุณแม่ จำเป็นจะต้องแข็งใจ และใช้ความอดทนกันมากพอสมควร อาจจะต้องมีการพูดคุยตกลงกับคนในบ้านให้ดีก่อน เนื่องจากถ้าคิดจะหักดิบแล้ว นั่นหมายถึง จะต้องไม่มีใครหยิบยื่นให้เขาอีก ซึ่งเด็กจะเกิดอาการร้องไห้ โวยวาย เพื่อเรียกร้องสิ่งที่ต้องการ แต่สุดท้าย เมื่อไม่มีใครหยิบยื่นให้ เด็กก็จะเกิดการเรียนรู้ และจะเลิกร้องขอให้จุกนมหลอกไปเองในที่สุด
ของทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมัน การที่เราพึ่งพาอะไรมากจนเกินไป ก็อาจจะส่งผลเสียให้กับตัวเด็กในระยะยาวได้เหมือนกัน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นจุกนมหลอก หรือสิ่งของอื่น ๆ คุณพ่อคุณแม่ รวมถึงผู้ปกครองที่ต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ควรให้เด็กใช้สิ่งของอย่างเหมาะสม และสมวัย เพื่อสุขภาพ และพัฒนาการที่ดีสำหรับเด็กนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ฟันลูกเก เกิดจากอะไร ฟันน้ำนมเกส่งผลต่อฟันแท้มากแค่ไหน ?
ไซส์จุกนม 100 สิ่งแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 42 เลือกอย่างไรให้เหมาะกับลูก?
7 ข้อควรรู้ก่อนให้จุกนมหลอกลูก
ที่มา :pobpad , kidminute
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!