จากกรณี พ่อแม่วัยใส (15 และ 16 ปี) ให้นมลูกน้อยวัยเดือนเศษก่อนนอนหลับ กระทั่งผู้เป็นย่าเข้ามาดูกลางดึก จึงพบหลานนอน สำลักนม เสียชีวิต ในบ้านพักกลางสวนยางพารา ต.ท่ากุ่ม อ.เมือง จ.ตราด ซึ่งในที่เกิดเหตุตำรวจพบทารกเพศหญิง อายุ 1 เดือน 7 วัน มีน้ำนมเลอะเต็มหน้า ไหลออกมาจากปากและจมูก ซึ่งพ่อและแม่ของเด็ก เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุ ได้ให้นมลูก 1 ขวด (แบบมีจุก) หลังให้นมเสร็จจึงนำขวดนมออกแล้วเข้านอน จนเวลา 02.00 น. แม่ของฝ่ายชายกลับมาบ้านแล้วเห็นว่าหลานนิ่งไป เลยปลุกทั้งพ่อและแม่เด็กทารกมาดูพบว่า ลูกน้อย สำลักนม เสียชีวิต
theAsianparent ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขออนุญาตนำเรื่องนี้มาเป็น อุทาหรณ์ สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทุกคน รวมถึงขอพาทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่องวิธีการให้นมลูกโดยไม่ให้ สำลักนม จนเกิดอันตรายถึงขั้น เสียชีวิต ค่ะ
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในข่าว
ลูกน้อย สำลักนม มีอาการอย่างไร
อาการสำลักนมสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัย 3 ขวบ โดยเฉพาะในช่วงอายุน้อยกว่า 4 เดือน โดยมีอาการไอที่เหมือนกับลูกน้อยจะขย้อนนมออกมาขณะที่กินนม หรือกินนมเสร็จใหม่ ๆ โดยกรณีที่สำลักไม่มาก เพียงไอ 2-3 ครั้ง ก็จะสามารถหายได้เอง แต่หากลูกไอแรงจนหน้าแดง หรือมีเสียงครืดคราดขณะหายใจถือว่าอันตราย คุณแม่ควรพาลูกไปโรงพยาบาลค่ะ
อย่างไรก็ตาม บางครั้งการสำลักอาจไม่ได้เกิดขึ้นในขณะที่ลูกน้อยกินนม แต่เกิดในขณะหลับได้ เนื่องจากขณะนอนหลับ หูรูดกระเพาะอาหารจะค่อย ๆ ผ่อนคลายตัว เป็นเหตุทำให้นมไหลย้อนกลับขึ้นมาได้เช่นกัน
ทั้งนี้ การสำลักนมหรือของเหลวในเด็กเล็กอาจไม่ร้ายแรงนักหากคุณแม่ให้นมและดูแลลูกอย่างถูกวิธี เพราะเมื่อของเหลวเข้าไปถึงหลอดทางเดินอาหาร กลไกในร่างกายจะสามารถดูดกลืนได้เองตามปกติ แต่หากลูกสำลักวัตถุแปลกปลอมที่หลุดเข้าไปในปากไหลลงไปถึงหลอดลม จนเกิดการอุดตันทางเดินหายใจ เด็กจะขาดออกซิเจนจนถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้
ลูกน้อย สำลักนม เกิดจากอะไร
อาการสำลักนมของลูกน้อยวัยทารกนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุหลัก ๆ คือ ลูกน้อยกลืนนมไม่หมด กลืนนมไม่ทัน ทำให้นมไหลล้นจากระบบทางเดินอาหารไปอุดกั้นระบบทางเดินหายใจ ร่างกายจึงตอบสนองโดยแสดงอาการสำลักออกมา เพื่อให้ระบบทางเดินหายใจสามารถทำงานได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมอื่น ๆ ที่ทำให้ลูกน้อยเกิดอาการสำลักได้ ดังนี้
▪ ปัจจัยจากการให้นม
โดยปกติแล้ว ทารกที่กินนมแม่จะมีโอกาสสำลักนมได้น้อยกว่าทารกที่กินนมขวด เนื่องจากน้ำนมแม่จะไหลก็ต่อเมื่อลูกน้อยออกแรงดูดเท่านั้น ยกเว้นกรณีที่คุณแม่มีน้ำนมพุ่งหรือน้ำนมมากเกินไปจนกลืนไม่ทัน ขณะที่การกินนมจากขวดนั้นน้ำนมจะไหลเรื่อย ๆ หากคุณแม่ป้อนนมไม่ถูกวิธี ป้อนในขณะที่ลูกหลับ หรือร้องไห้งอแง ใช้อุปกรณ์ช่วยค้ำขวดนม หรือให้ลูกนอนกินนม ก็มีโอกาสที่ทำให้ลูกสำลักนมได้ค่ะ
▪ ปริมาณนมที่มากเกินไป
บ่อยครั้งสาเหตุที่ทารกร้องไห้ไม่ได้มาจากการหิวนมเสมอไป การให้นมทุกครั้งที่ลูกร้องงอแง จะทำให้ปริมาณน้ำนมล้นกระเพาะอาหาร ลูกก็จะสำลักนมได้
▪ ระบบทางเดินอาหารยังไม่สมบูรณ์
ในช่วงแรกเกิดระบบทางเดินอาหารของลูกน้อยยังไม่พัฒนาเต็มที่ ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดที่ควบคุมการไหลของนมยังทำงานได้ไม่ดีพอ รวมถึงอวัยวะที่เกี่ยวกับการดูดกลืนของทารกยังไม่แข็งแรง จึงเกิดการสำลัก
▪ ลูกมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง
เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ ภาวะกรดไหลย้อน พัฒนาการล่าช้า ทารกคลอดก่อนกำหนด มีปัญหาดรคหัวใจ โรคปอด หรือมีประวัติเคยชักมาก่อน หรือมีอาการหวัดหรือคัดจมูก อาจทำให้หายใจลำบากและสำลักได้ง่ายขึ้น
▪ ขนาดจุกนมที่ใช้เหมาะสม
จุกนมที่ใช้อาจมีขนาดใหญ่เกินไป หรือมีรูใหญ่เกินไป ทำให้มีน้ำนมไหลออกมามาก ลูกจึงสำลักนม
|
ผลกระทบจากการที่ ลูกน้อย สำลักนม
|
ผลกระทบเล็กน้อย |
ผลกระทบร้ายแรง |
- ทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณจมูก ปาก หรือผิวหนังบริเวณรอบ ๆ ปากและจมูกของลูก
- กรณีที่ลูกเป็นเด็กกินนมแม่ การสำลักนมบ่อย ๆ จะทำให้ลูกไม่อยากเข้าเต้า และหงุดหงิดเมื่อต้องกินนมแม่
- ส่งผลต่อน้ำหนักตัวของลูกน้อย
|
- อาจทำให้ลูกน้อยเกิดอาการปอดติดเชื้อ ปอดอักเสบ และอุดกั้นทางเดินหายใจ และส่งผลให้เสียชีวิตได้
|
วิธีจัดการเมื่อลูกน้อยสำลักนม
- กรณีสำลักนมไม่มาก ไอเพียง 2-3 ครั้ง ให้ประคองตัวลูกขึ้น ลูบช่วงคอและหลังเบา ๆ เมื่อลูกสบายตัวขึ้นสามารถให้นมต่อได้ตามปกติ
- สำลักนมไหลออกปากและจมูก ไม่ควรอุ้มลูกขึ้นทันทีเมื่อมีอาการสำลัก แต่ให้จับลูกนอนตะแคง ศีรษะต่ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้นม ไหลย้อนกลับไปที่ปอด
- ลูกสำลักนมมาก มีอาการหยุดหายใจ ให้คุณแม่ตั้งสติ ระหว่างนี้ควรมีผู้ช่วยโทร.ขอความช่วยเหลือจาก 1669 ควบคู่กันไปด้วยนะคะ แล้วปฐมพยาบาลลูกน้อยเบื้องต้น ดังนี้
- จับลูกนอนคว่ำลงไปบนตัวคุณแม่ โดยใช้นิ้วโป้งแล้วนิ้วชี้ประคองบริเวณขากรรไกรของลูก ศีรษะลูกต่ำกว่าลำตัว แล้วใช้ส้นสันมืออีกข้างทุบลงไประหว่างกลางสะบักทั้ง 2 ข้างของลูกประมาณ 5 ครั้ง
- หากลูกยังไม่หายใจ ให้จับหงายตัวขึ้น ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของคุณแม่กดบริเวณกระดูกกลางหน้าอก 5 ครั้ง
- หากลูกยังไม่หายใจให้ทำซ้ำทั้ง 2 ท่า
วิธีป้องกันการสำลักของลูกน้อย
ก่อนอื่นเลยคุณแม่ต้องทำความเข้าใจว่าในช่วงแรกเกิดจนถึง 6 เดือนนั้น ควรให้ลูกได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว ไม่ควรให้กินอาหารตามวัย เพราะทักษะการดูดกลืนของลูกยังไม่แข็งแรง เสี่ยงต่อการสำลักได้มาก โดยเริ่มต้นให้อาหารเสริมตามวัยหลังอายยุ 6 เดือนไปแล้ว การดูดกลืนดีขึ้น ลูกสามาถชันคอตั้งตรงได้ดี โอกาสที่จะเกิดการสำลักก็จะน้อยลงค่ะ
- สำหรับเด็กนมแม่ คุณแม่ควรให้นมในท่าที่หลังลูกตรง ไม่โค้งงอ เพื่อให้น้ำนมไหลลงกระเพาะอาหารได้ดี
- กรณีลูกกินนมขวด ขณะให้นมคุณแม่จะต้องยกศีรษะของลูกให้สูงกว่ากระเพาะอาหาร ประมาณ 30-45 องศา เพื่อให้นมไหลลงสู่กระเพาะอาหารได้ดีขึ้น
- ไม่แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ค้ำขวดนม และไม่ควรทิ้งลูกไว้นำพังในขณะที่ลูกกินนม
- ไล่ลมในระบบทางเดินอาหารของลูกน้อย ด้วยการจับเรอ เพราะหากมีลมในทางเดินอาหารมากเกินไปก็จะเกิดลมกับน้ำนมไหลย้อนขึ้นมาได้ โดยสำหรับเด็กวัยแรกเกิด – 2 เดือน ที่คอยังไม่แข็ง ควรใช้วิธีอุ้มลูกนั่งตัก หลังตรง ใช้มือประคองช่วงขากรรไกรเพื่อประคองศีรษะ ส่วนลูกน้อยที่คอแข็งแล้วสามารถอุ้มพาดบ่าได้แล้วใช้มือลูบหลังลูกโดยการลูบขึ้นเบา ๆ
- หลังไล่ลมแล้ว คุณแม่ควรอุ้มลูกในท่าที่ศีรษะสูง หลังตั้งตรง นาน 30 นาที ก่อนให้ลูกนอน โดยท่านอนที่เหมาะสมคือ นอนหงาย หรือนอนตะแคง ไม่ควรให้ลูกน้อยนอนคว่ำ
- เลือกขนาดจุกนมให้เหมาะสม โดยลูกน้อยวัยแรกเกิดควรใช้จุกนมขนาดเล็กที่สุด และหมั่นตรวจสภาพจุกนม เพราะจุกนมที่เสื่อมสภาพจะทำให้นมไหลเยอะและไหลเร็ว
- เวลาลูกดูดนมจากขวด คุณแม่จะสังเกตได้ว่าควรมีฟองอากาศเกิดขึ้นภาพในขวดนมด้วย
- ต้องให้ลูกกินนมตรงเวลา ไม่ให้หิวจัด เพราะเมื่อหิวจัดจะดูดนมเร็ว และแรง จนปริมาณน้ำนมเยอะเกินไป
ทั้งนี้ หากลูกมีอาการสำลักนมแบบรุนแรง หน้าเขียว ตัวเขียว น้ำนมที่สำลักออกมามีสีของน้ำดีหรือเลือดปนมาด้วย หรือหลังสำลักมีอาการซึม เป็นไปได้ว่ามีความเสี่ยงที่ปอดจะติดเชื้อหรือปอดอักเสบ ควรรีบพบแพทย์ทันทีค่ะ
ที่มา : โหนกระแส , www.purthailand.com , www.nannyproducts.com , มิตรไมตรีคลินิกเวชกรรม , พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care
ภาพปก : www.amarintv.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
White noise เสียงไดร์เป่าผม ช่วยกล่อมทารก หลับสบายจริงไหม ?
ฟันน้ำนมมีกี่ซี่ ? ฟันซี่แรกขึ้นเมื่อไหร่ วิธีดูแลสุขภาพฟันลูกน้อยให้แข็งแรง
“นมแม่” สำหรับ ทารก 1 สัปดาห์ กินกี่ออนซ์
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!