7 วิธีออกกำลังกายสมอง ในช่วงวัยเด็กมีอะไรบ้าง มาดูกัน
7 วิธีออกกำลังกายสมอง ในช่วงวัยเด็กมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย จริงๆแล้วสมองเด็กเรียนรู้ได้มากกว่าที่เราคิด
รศ.พญ.ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการทำงานของสมองเด็ก สรุปได้ ดังนี้
7 วิธี ออกกำลังกายสมอง
1. ธรรมชาติได้สร้างสรรค์สมองของมนุษย์ให้รู้จักการเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดบนโลกใบนี้ ดังนั้น สมองจึงมีกระบวนการทำงานที่หลากหลายซับซ้อน เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ตามวัยที่เพิ่มขึ้น
2. การเรียนรู้ของสมอง เริ่มต้นจากเรื่องง่าย ๆ ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการยิ้ม หัวเราะ การคลาน นั่ง พูด เดิน เป็นต้น
3. สิ่งสำคัญ สมองของมนุษย์พัฒนาตัวเองผ่านกระบวนการเรียนรู้
4. เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับหนึ่งแสนล้านเซลล์สมอง ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายวงจรและสามารถเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้เรื่อยๆ เมื่อมีการกระตุ้นสมองให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเราเรียกกระบวนการเชื่อมต่อของสมองนี้ว่า ไซแนปส์
5. การเชื่อมต่อของสมอง หรือไซแนปส์สามารถเกิดได้สูงถึง 1,000 ล้านล้านครั้งในระยะเวลา 1-5 ปีแรก ช่วงวัยนี้เป็นระยะเวลาที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ เพราะสมองของเด็กจะพัฒนาถึง 85% เทียบเท่าสมองของผู้ใหญ่
6. ที่สำคัญทุก 1 วินาที เซลล์สมองของเด็กจะมีการเชื่อมต่อสูงถึง 700 เซลล์ ซึ่งหมายความว่า สมองของลูกน้อยเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เมื่อพ้นช่วงวัยนี้ไปแล้ว จะไม่มีการเพิ่มเซลล์สมอง แต่เป็นการพัฒนาโครงข่าย ส่วนเซลล์สมองที่ไม่ได้รับการกระตุ้นก็จะเสื่อมสลายไป ดังนั้น การสร้างทุกนาทีให้เป็นการเรียนรู้ของลูก (Non-Stop Learning) จึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยกันส่งเสริมในโอกาสทองนี้
7 วิธี ออกกำลังกายสมอง 1
การออกกำลังกายสมอง คืออะไร
ศาสตราจารย์ลอเรนซ์ ซี แคทซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งคิดค้นการออกกำลังสมองแบบ Neurobics Exercise โดยมีแนวคิดว่า สมองของคนเรานั้นไม่ต่างอะไรจากกล้ามเนื้อ ซึ่งถ้ามีการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ กล้ามเนื้อนั้นก็จะยังแข็งแรงและสามารถทำงานได้ดี การออกกำลังสมองอย่างสม่ำเสมอ โดยการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ การได้ยิน การมองเห็น การได้กลิ่น ลิ้มรส และการสัมผัสได้ทำงานประสาน เชื่อมโยงกับความพึงพอใจ หรือที่เกี่ยวข้องกับ “อารมณ์” ได้ทำงานเชื่อมโยงกันโดยใช้กิจกรรมในชีวิตประจำวันเดิมของเราเป็นตัวช่วย เพียงแต่ต้องเปลี่ยนวิธีการไปจากเดิม เราก็สามารถออกกำลังกายสมองได้
7 วิธีออก กำลังกายสมอง2
อ่าน 7 วิธีง่าย ๆ ออกกำลังกายสมองให้ลูกน้อย คลิก
7 วิธีง่าย ๆ ออกกำลังกายสมองให้ลูกน้อย
เมื่อทราบข้อดีของการออกกำลังกายสมองแล้ว คุณพ่อคุณแม่มาชวนลูกน้อยออกกำลังกายสมองกันค่ะ ดูกันว่ามีวิธีการอย่างไรบ้าง เริ่มกันเลยค่ะ
วิธีที่1 : ชวนลูกเดินถอยหลัง
เวลาที่คุณพ่อคุณแม่พาลูกน้อยออกไปเดินเล่นในช่วงเช้า หรือช่วงเย็นที่สวนสาธารณะ หรือในสวนหลังบ้านก็ได้ ลองเปลี่ยนบรรยากาศจากการเดินไปข้างหน้าตามปกติ มาเล่นสนุก ๆ เพื่อออกกำลังกายสมองด้วยการเดินถอยหลัง ลองเดินไปเดินมาเช่นนี้ สัก 4-5 รอบ แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้น วิธีนี้ได้ทั้งความสนุกสนานและสมองยังได้ออกกำลังกายอีกด้วย
วิธีที่ 2 : ชวนลูกนับเลขถอยหลัง
ตามปกติแล้วการนับเลขของลูกและของคนทั่วไปก็จะนับเรียงลำดับจากน้อยไปหามาก 1 2 3 … ลองมาเล่นสนุก ๆ ด้วยการนับถอยหลัง หรืออาจจะท่อง A B C… ถอยหลังก็ได้ เริ่มจากง่าย ๆ ทำเช่นนี้บ่อย ๆ สมองจะเกิดการเชื่อมโยงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
วิธีที่ 3 : เปลี่ยนมือข้างที่ไม่ถนัด
คนเรามักจะมีข้างที่ถนัดในการจับดินสอ ปากกา ช้อน ส่วนใหญ่จะเป็นข้างขวา หรือบางคนจะถนัดซ้ายก็ไม่เป็นไรค่ะ สำหรับลูกถนัดการใช้มือข้างไหนคุณพ่อคุณแม่ทราบอยู่แล้ว ที่นี้เราลองมาเปลี่ยนกิจวัตรเดิม ๆ จากการใช้มือข้างที่ถนัดมาเป็นอีกข้างหนึ่ง ที่ไม่ถนัด เช่น ลองใช้มือข้างที่ไม่ถนัดหัดเขียนหนังสือ หรือแปรงฟัน หรือจับดินสอเขียนหนังสือ จับสีมาระบายรูปภาพเป็นต้น ถือเป็นการกระตุ้นสมองจากที่เคยทำซ้ำ ๆ ให้สมองเรียนรู้เพิ่มเติมในการทำงานอีกข้างหนึ่ง เป็นวิธีการออกกำลังกายสมองที่น่าสนุกนะคะ
7 วิธีออกกำลังกาย สมอง3
วิธีที่ 4 : สลับที่ สลับทาง
วิธีการนี้คุณแม่อาจชวนลูกเล่นเกมสลับตำแหน่งสิ่งของที่เคยวางอยู่ที่เดิมเปลี่ยนมาไว้ที่ใหม่ ดูว่าลูกจำได้หรือไม่ หรืออาจจะช่วยกันจัดห้องนอน ห้องนั่งเล่น แล้วแต่สะดวก ลองจัดวางสิ่งใหม่ ๆ สลับตำแหน่งที่วาง โดยให้ลูกช่วย การเรียนรู้ในการสลับที่สลับทาง ช่วยกระตุ้นสมองให้ออกกำลังกายได้อย่างดี
วิธีที่ 5 : เปลี่ยนวิธีการเดินทาง
กิจวัตรประจำวันเวลาจะไปที่ไหน คุณพ่อหรือคุณแม่มักจะขับรถไปให้ ลองเปลี่ยนบรรยากาศ พาลูกนั่งรถเมล์ นั่งเรือ ก็น่าสนุกไม่น้อย การเดินทางไปสถานที่แปลกใหม่ ทำให้สมองเกิดการเรียนรู้เพิ่มเติม เพิ่มเนื้อที่ความจำให้มากขึ้น เมื่อสมองได้รับรู้สิ่งใหม่ ๆ สมองก็ได้ออกกำลังกายไปด้วย
วิธีที่ 6 : หลับตาดมกลิ่น
วิธีนี้คุณพ่อคุณแม่อาจเล่นเป็นเกมกับลูก ด้วยการให้ลูกหลับตา ดมกลิ่น แล้วลองทายดูว่าเป็นผลไม้ชนิดไหน ขนมที่ดมอยู่นี้เป็นขนมอะไร อาหารจานนี้คืออะไร เป็นต้น ที่สำคัญการดมกลิ่นต้องระมัดระวังเกี่ยวกับอาการแพ้ หากลูกมีอาการแพ้สิ่งใดต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ในกรณีที่ลูกยังเล็ก เกมนี้คงต้องเล่นกับคุณพ่อคุณแม่น่าจะปลอดภัยกว่า
วิธีที่ 7 : ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายสมองเชื่อมโยงกับการออกกำลังกาย การบริหารร่างกาย โดยคุณพ่อคุณแม่ลองหากิจกรรมสนุกที่กระตุ้นร่างกายลูกให้เคลื่อนไหว เช่น เล่นวิ่งไล่จับ เล่นปีนป่าย ว่ายน้ำ เป็นต้น การออกกำลังกายจะช่วยให้ออกซิเจนในร่างกายเกิดการหมุนเวียน ซึ่งส่งผลดีต่อสมองนั่นเอง
7 วิธีออก กำลังกายสมอง4
ข้อคิดดี ๆ ที่คุณหมอฝากบอก
คุณหมอ ได้ฝากข้อคิดดี ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกไว้ว่า “โอกาสในการสร้างการเรียนรู้ให้แก่ลูกน้อยนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพียงพ่อแม่เข้าใจเรื่องการทำงานสมอง ที่เหลือคือการสร้างทุกนาทีสู่การเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดให้แก่ลูกน้อย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา แม้จากกิจวัตรประจำวันที่ดูเป็นเรื่องทั่วไป เช่น ร้องเพลงเกี่ยวกับการแปรงฟันที่มีทำนองสนุก ๆ จดจำได้ง่ายเพื่อชวนลูกไปแปรงฟัน หรือการจัดวางผลไม้รูปทรงและสีต่าง ๆ ในจานให้กลายเป็นระบบสุริยะจักรวาล ให้ความรู้เรื่องดาราศาสตร์แบบง่าย ๆ นอกจากจะสนุกแล้วยังได้ความรู้อีกด้วย
สิ่งสำคัญ การเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาดนั้น พ่อแม่ไม่ควรใส่ความกดดันหรือความคาดหวังที่ลูกมากเกินไปนัก แต่ควรดำเนินทุกกิจกรรมไปด้วยความรัก และความสนุกสนาน เมื่อลูกสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นและความปรารถนาดี ลูกก็พร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับเราในทุก ๆ นาทีค่ะ”
หากคุณพ่อคุณแม่มีประสบการณ์ดี ๆ เกี่ยวกับการออกกำลังกายสมองให้ลูก มาแชร์ประสบการณ์กันได้นะคะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.thaihealth.or.th
https://www.tpa.or.th
https://www1.assumption.ac.th
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เสริมสมอง 3 ส่วนให้ลูกน้อยฉลาดรอบด้าน
7 เทคนิคอ่านหนังสือช่วยพัฒนาสมองให้ลูก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!