ลูกปวดแขนหลังฉีดวัคซีน ดูแลและรับมือยังไง? ให้ลูกสบายตัว

lead image

บ้านไหน ลูกน้อยมีอาการปวดแขนหลังฉีดวัคซีน หรือฉีดยาบ้างคะ กังวลมั้ย? เรามีวิธีดูแลให้ลูกน้อยสบายตัวขึ้นมาฝาก

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

พอจะทราบกันดีอยู่แล้วใช่ไหมคะว่า “การฉีดวัคซีน” ของทารกตั้งแต่วัยเเรกเกิดจนถึงช่วงอายุ 12 ปี นับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลย เนื่องจากการฉีดวัคซีนจะเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายลูกน้อยสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งการฉีดวัคซีน หรือฉีดยาใดๆ ก็ตาม ลูกน้อยอาจมีอาการข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนเกิดขึ้นได้ เด็กบางคนมีอาการปวด หรืออักเสบ บวม แดง บริเวณแขนที่ได้รับการฉีดยาหรือวัคซีน จนอาจทำให้ลูกน้อยงอแงเพราะรู้สึกไม่สบายตัว คุณแม่เองก็อาจไม่สบายใจตามไปด้วย เราเลยจะมาแชร์วิธีแก้ไขปัญหา ลูกปวดแขนหลังฉีดวัคซีน ว่าคุณแม่ควรดูแลและรับมืออย่างไรให้ลูกสบายตัวขึ้นค่ะ

ความสำคัญของการฉีดวัคซีนในเด็ก

ความสำคัญของการฉีดวัคซีนในเด็ก

ตามธรรมชาติของลูกน้อยวัยแรกเกิด – 1 ปี จะยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีพอในการต่อต้านเชื้อโรคต่างๆ ค่ะ หากลูกได้รับเชื้อที่มีอันตรายในช่วงวัยนี้ เช่น โรคหัด ไวรัสตับอักเสบ บาดทะยัก ก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกได้ดีที่สุดก็คือ การฉีดวัคซีน โดยนำแบคทีเรียหรือเชื้อโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ หรือทำให้ตาย ก่อนที่จะฉีดเข้าไปในร่างกายเด็ก ให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาสู้กับโรค และหากลูกได้รับเชื้อที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วในอนาคต ร่างกายลูกก็จะสามารถกำจัดเชื้อโรคเหล่านั้นได้ เปรียบเหมือนการทำให้ร่างกายได้รู้จักเชื้อโรคก่อนที่จะมีการติดเชื้อจริงนั่นเองค่ะ

 

วัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องได้รับ

วัคซีนตับอักเสบบี

(Hepatitis B Vaccine: HBV)

  • สำหรับป้องกันโรคตับอักเสบ ที่เกิดจากไวรัส Hepatitis B ที่จะทำให้เกิดโรคทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน
คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน

(Diphtheria-Tetanus-Pertussis Vaccine: DTP)

  • ใช้ป้องกันโรคคอตีบ จากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ลำคออักเสบรุนแรง ไข้สูง เป็นพังผืดอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจและกลืนลำบาก อาจหัวใจวายและเสียชีวิตได้
  • โรคบาดทะยัก จากพิษของเชื้อบาดทะยักทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น ขากรรไกรแข็ง คอแข็งชักเกร็ง หายใจลำบาก อาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้
  • โรคไอกรน เกิดการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ ไอมาก ไอต่อเนื่อง จนหายใจลำบาก ในเด็กเล็กอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หยุดหายใจ ไอจนซี่โครงหัก ส่งผลให้เสียชีวิตได้
โปลิโอ

(Polio Vaccine)

  • ป้องกันโรคโปลิโอ ที่ส่งผลต่อสมองและไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาต ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษา
วัคซีนเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ

(Hib Vaccine)

  • เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Haemophilus influenza type b หรือ Hib) ทำให้มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปวดอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด
ไข้สมองอักเสบเจอี

(Japanese encephalitis vaccine : JE)

  • ใช้ในการป้องกันเชื้อเจอีไวรัส (Japanese Encephalitis virus : JEV) ซึ่งทำให้มีอาการปวดศีรษะรุนแรง มีไข้ ชัก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม

(Measles-mumps-rubella vaccine : MMR)

  • ป้องกันโรคหัด จากเชื้อไวรัส Measles อาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น ปอดอักเสบ หูอักเสบ ท้องเดิน และสมองอักเสบ
  • โรคหัดเยอรมัน จากเชื้อไวรัส Rubella ทำให้ปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ และใบหูโต ตามมาด้วยอาการผื่น โรคนี้จะรุนแรงเมื่อติดในแม่ท้อง เพราะอาจทำให้เด็กในครรภ์พิการได้
  • โรคคางทูม ซึ่งเชื้อไวรัส Mumps เข้าไปทำให้ต่อมน้ำลายอักเสบ บางรายอาจเกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบด้วย อาจนำไปสู่อาการแทรกซ้อนอย่างอัณฑะอักเสบ รังไข่อักเสบ ข้ออักเสบ ระบบประสาทอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ทั้งนี้ คุณแม่สามารถเช็ก! ตารางการฉีดวัคซีนของลูกน้อย ได้ที่ กำหนดการให้วัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2568 นะคะ

ทำไม? ลูกปวดแขนหลังฉีดวัคซีน ฉีดยา

กรณีลูกปวดแขนหลังฉีดวัคซีน หรือการฉีดยารักษาอาการป่วยต่างๆ เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยค่ะ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อสารที่ฉีดเข้าไป โดยอาจมีสาเหตุหลักๆ ดังนี้

  • การอักเสบ: ร่างกายเด็กแต่ละคนอาจมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกัน บางคนตอบสนองต่อสารที่ฉีดเข้าไปด้วยการอักเสบเล็กน้อยทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือบวมบริเวณที่ฉีด ซึ่งเป็นกลไกการสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ
  • มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ: เข็มฉีดยาอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเล็กน้อยของเนื้อเยื่อบริเวณที่ฉีด หรือการฉีดวัคซีนในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดการระคายเคือง
  • ปฏิกิริยาต่อส่วนประกอบของวัคซีน: ในบางกรณี อาจเกิดปฏิกิริยาต่อส่วนประกอบบางอย่างในวัคซีน

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ลูกปวดแขนหลังฉีดวัคซีน ปกติ หรือ ต้องพบแพทย์

ปกติ ต้องพบแพทย์
  • ปวดบริเวณที่ฉีดเล็กน้อยถึงปานกลาง
  • อาการปวดอาจเริ่มภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังฉีด และหายได้เองภายใน 1-2 วัน
  • อาจมีอาการบวมแดงเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด
  • ปวดรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
  • มีไข้สูง
  • มีอาการแพ้ เช่น ผื่นขึ้น หายใจลำบาก หรือปากบวม
  • อาการบวมเพิ่มขึ้นหรือหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 2-3 วัน

 

วิธีดูแลเมื่อ ลูกปวดแขนหลังฉีดวัคซีน

การดูแลลูกหลังจากการฉีดวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดอาการปวดแขน หรือไม่สบายตัวอื่นๆ ทำให้ลูกน้อยรู้สึกดีขึ้น มีวิธีง่ายๆ ที่คุณแม่สามารถทำได้ดังนี้

  • ประคบเย็น ใช้ผ้าเย็นหรือเจลประคบเย็น ประคบบริเวณที่ฉีดประมาณ 10-15 นาที เพื่อลดอาการปวดและบวม
  • เคลื่อนไหวแขนเบาๆ กระตุ้นให้ลูกเคลื่อนไหวแขนเบาๆ เพื่อลดอาการแข็งเกร็ง
  • ให้ลูกพักผ่อน การพักผ่อนอย่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงการใช้แขนที่ฉีดวัคซีนมากเกินไป จะช่วยให้ร่างกายลูกน้อยฟื้นตัว และไม่ให้เกิดการระคายเคืองหรืออักเสบเพิ่มเติม
  • หลีกเลี่ยงการนวดหรือกดแรงๆ ในบริเวณที่ฉีดวัคซีน เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือเพิ่มการอักเสบได้
  • เบี่ยงเบนความสนใจ หากลูกน้อยงอแง ลองเบี่ยงเบนความสนใจด้วยของเล่นที่ลูกชอบ การอ่านหนังสือนิทาน หรือดูการ์ตูนเรื่องโปรด
  • ให้ยาแก้ปวด หากลูกมีอาการปวดมาก สามารถให้ยาแก้ปวดสำหรับเด็กตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

อาการข้างเคียงอื่นๆ หลังฉีดวัคซีน ที่พ่อเเม่ต้องรู้และระวัง

นอกเหนือไปจากอาการ ลูกปวดแขนหลังฉีดวัคซีน มีรอยบวมแดงบริเวณที่ฉีดยาแล้ว ยังมีอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ ดังนี้ค่ะ

1. มีไข้ ตัวร้อน

มักเกิดหลังการฉีดวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ซึ่งเมื่อลูกน้อยมีอาการไข้ คุณแม่ควรหมั่นเช็ดตัวให้ลูกด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาดๆ พักผ้าตามซอกคอ ข้อพับต่างๆ เพื่อลดอุณภูมิในร่างกาย และให้กินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ ซึ่งอาการมักจะหายไปใน 2-3 วัน เเต่ยังต้องเฝ้าระวังเพราะหากไข้สูงเกินไปลูกอาจจะชักได้

2. ไอ มีน้ำมูก ผื่นขึ้นตามผิวหนัง

เป็นอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้หลังจากที่ลูกน้อยได้รับวัคซีนในกลุ่มป้องกันหัด เช่น หัดเยอรมัน หรืออีสุกอีใส ซึ่งเกิดหลังจากฉีดวัคซีน 5-10 วัน โดยมากอาการไม่รุนแรง และจะหายได้เองภายในเวลาไม่เกิน 3-4 วัน แต่ถ้าลูกน้อยมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ซึม ไม่เล่น เพลียมาก ไม่ค่อยดูดนมหรือไม่กินอาหาร ควรพาลูกไปพบแพทย์

3. ตุ่มหนอง

มักเกิดจากวัคซีนป้องกันวัณโรค หรือ บีซีจี (BCG) ที่ฉีดบริเวณสะโพกซ้าย โดยตุ่มหนองมักปรากฏหลังฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ และจะพองๆ ยุบๆ อยู่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็จะหายไปเอง แต่คุณแม่ต้องระวังรักษาความสะอาด อย่าให้ตุ่มหนองเกิดการติดเชื้อ หากพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงที่ฉีดวัคซีนบีซีจี อักเสบ โตขึ้น หรือเป็นฝี ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

4. ชัก

โดยทั่วไปแล้วสาเหตุของการชักมักไม่ได้เกิดจากผลของวัคซีนโดยตรง แต่เกิดจากการที่มีไข้สูงหลังฉีดวัคซีน ดังนั้น วิธีป้องกันที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้คือ หลังจากฉีดวัคซีนแล้วต้องคอยดูแลลูกอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีไข้ต้องเช็ดตัวลดไข้ หรือให้กินยา อย่าปล่อยให้ไข้สูงเพราะจะทำให้เกิดอาการชักได้

วิธีแก้ไขเบื้องต้นเมื่อลูกชัก

  1. จับลูกนอนหันหน้าไปด้านข้าง เพื่อป้องกันการสำลัก
  2. เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย
  3. ไม่ควรนำสิ่งของ เช่น ช้อน นิ้วมือ ใส่เข้าไปในปากลูก เพราะจะยิ่งทำให้สำลัก
  4. รีบนำลูกน้อยส่งโรงพยาบาลทันที
  5. เมื่อพาลูกไปฉีดวัคซีนครั้งต่อไป ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่า ลูกมีอาการชักหลังจากฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ ภายหลังการรับวัคซีนของลูกน้อย คุณแม่ควรพักรอประมาณ 30 นาที เพื่อสังเกตอาการแพ้แบบรุนแรง (Anaphylaxis) ที่อาจเกิดขึ้นค่ะ ได้แก่ ปากบวม มีผื่น หายใจลำบาก ช็อก

ลูกปวดแขนหลังฉีดวัคซีน เป็นอาการที่พบได้บ่อยและมักไม่รุนแรง แต่การดูแลอย่างเหมาะสมสามารถช่วยบรรเทาอาการไม่สบายตัวให้ลูกน้อยได้ รวมถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์และการใช้วิธีบรรเทาอาการต่าง ๆ จะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกดีขึ้น ทำให้กระบวนการฉีดวัคซีนเป็นประสบการณ์ที่ดีและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นนะคะ

 

ที่มา : www.bangpakok3.com , www.paolohospital.com , www.ram-hosp.co.th , www.nonthavej.co.th

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ลูกนอนผวา ร้องไห้ เรื่องที่คุณแม่ต้องเข้าใจ และรับมืออย่างเหมาะสม

สอนลูกพูด ยังไงดี? 9 วิธีสอนลูกพูด เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษา

ทำไม ลูกเลือดกำเดาไหลบ่อย สัญญาณเตือนอะไร? วิธีดูแลและป้องกัน

บทความโดย

จันทนา ชัยมี