“คำพูดแรก” ของลูกน้อย น่าจะเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนเฝ้ารอ ลูกจะเรียก “พ่อ” หรือ “แม่” ได้ก่อนกันนะ หรือคำพูดคำแรกจะเป็นคำอื่นๆ ลูกจะเริ่มพูดได้ตอนไหน แล้วพ่อกับแม่อย่างเราจะ สอนลูกพูด ยังไงดี? ให้ทักษะภาษาของลูกเติบโตได้ตามวัย พัฒนาได้เต็มศักยภาพ เรามี 9 วิธีสอนลูกพูด เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษา มาฝากค่ะ

ลูกจะเริ่มพูดได้ตอนไหน สอนลูกพูด ยังไงดี?
พัฒนาการด้านการสื่อสารของเด็กนั้นจะเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงวัยทารกค่ะ โดยเริ่มจากการแสดงออกผ่านเสียง หรือการส่งสัญญาณทางร่างกาย เช่น การร้องไห้ การยิ้ม หรือการสบตา แต่การพูดคำแรกๆ จะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงอายุประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งปกติแล้ว ลูกน้อยจะพูดคำที่มีความหมายได้คำแรกเมื่ออายุประมาณ 1 ปี โดยการพยายามเลียนแบบเสียงจากคุณพ่อคุณแม่และสภาพแวดล้อมที่พบเจอ โดยจะพูดคำที่ออกเสียงง่ายๆ ได้ก่อน เช่น หม่ำๆ ปาป๊า มาม้า แม่ และจะพูดได้ 2-3 คำติดกันเมื่ออายุประมาณ 2 ขวบค่ะ
|
พัฒนาการทางภาษาของลูกน้อยแต่ละวัย
|
วัยแรกเกิด – 3 เดือน |
- ลูกน้อยจะเริ่มส่งเสียงร้องเพื่อสื่อสารความต้องการ เช่น หิว ง่วง หรือไม่สบายตัว
- เริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ (cooing) เมื่อรู้สึกสบายใจ
- ใช้ปากทำเสียงต่างๆ ที่ไม่มีความหมาย
- ใช้โทนเสียงในการร้องไห้ที่ต่างกัน เพื่อแสดงความต้องการที่ต่างกัน
|
4 – 6 เดือน |
- เริ่มส่งเสียงเล่น (babbling) เช่น “มา มา” “ปา ปา”
- เริ่มเข้าใจคำง่ายๆ เช่น ชื่อตัวเอง
- สามารถตอบสนองต่อการเรียกชื่อด้วยการหันไปหาที่มาของเสียง
- เริ่มตอบสนองต่อของเล่นที่มีเสียงและเสียงดนตรี
|
วัย 7 – 12 เดือน |
- เริ่มเข้าใจคำสั่งง่ายๆ เช่น “บ๊ายบาย”
- สื่อสารด้วยการออกเสียงคำที่คุ้นเคยพร้อมแสดงท่าทางประกอบ
- เข้าใจการสื่อสารด้วยประโยคง่ายๆ เช่น มาหาคุณแม่หน่อย
- มีการเลียนแบบเสียงของพ่อแม่โดยมักใช้คำพยางค์เดียว แต่การออกเสียงจะยังไม่ชัดเจน
|
1 ขวบ – 1 ขวบครึ่ง |
- เริ่มพูดคำง่ายๆ และออกเสียงได้อย่างชัดเจน
- สามารถจดจำชื่อของคนอื่น ๆ ในครอบครัว
- รู้จักอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
- สามารถตอบสนองต่อคำขอหรือคำสั่งของคุณพ่อคุณแม่ได้
|
อายุ 1 ขวบครึ่ง – 2 ขวบ |
- เริ่มพูดคำศัพท์ได้มากขึ้น การใช้คำเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น
- มีคำศัพท์ที่รู้จักประมาณ 50-80 คำ
- เริ่มพูดวลีสั้นๆ 2-3 คำ สื่อสารด้วยการใช้คำที่มีความหมายมาเรียงต่อกัน
- เข้าใจประโยคหรือคำสั่งที่ซับซ้อนมากขึ้น
|
ช่วง 2 – 3 ขวบ |
- เริ่มพูดประโยคที่ซับซ้อนขึ้น
- เริ่มถามคำถาม
- ในช่วงวัยนี้ลูกจะสามารถสื่อสาร โต้ตอบ หรือร้องขอด้วยวลีหรือประโยคสั้น ๆ
|
ทั้งนี้ หากลูกน้อยมีพัฒนาการทางด้านการสื่อสารที่ช้ากว่าปกติ เช่น ไม่ตอบสนองต่อเสียงในช่วง 10 เดือนแรก ไม่เข้าใจคำสั่งหรือไม่พูดคำแรกในช่วง 15 เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุนะคะ เนื่องจากการพูดช้าหรือพัฒนาการทางด้านการสื่อสารที่ช้าในเด็กทารก อาจมีสาเหตุจากโรคทางพันธุกรรม การได้ยินบกพร่อง ภาวะออทิสติก หรือขาดการฝึกพูดและการกระตุ้นอย่างเหมาะสมค่ะ

สอนลูกพูด ยังไงดี? 9 วิธีสอนลูกพูด เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษา
แม้คุณพ่อคุณแม่จะเห็นชัดเจนว่าพัฒนาการทางภาษา การออกเสียง และการพูดของลูก เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงวัยทารก แต่ความจริงแล้วคุณพ่อคุณแม่สามารถ สอนลูกพูด ได้ตั้งแต่ที่ลูกยังอยู่ในท้องได้เลยนะคะ ซึ่ง วิธีสอนลูกพูด ตั้งแต่ในครรภ์ก็คือการเริ่มพูดคุยกับลูกในท้องผ่านการลูบท้องที่กำลังโตขึ้น แล้วส่งข้อความสื่อสารกับลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งการพูดคุยในรูปแบบนี้จะทำให้ทารกสามารถจดจำและเรียนรู้เสียงของคุณแม่ได้ตั้งแต่ในท้องเลยค่ะ
ส่วนเมื่อลูกน้อยคลอดออกมาแล้ว สอนลูกพูด ยังไงดี? ก็ขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เสริมพัฒนาการทางภาษาของลูก โดยใช้ วิธีสอนลูกพูด ดังต่อไปนี้ค่ะ
-
พูดคุยกับลูกบ่อยๆ ด้วยคำศัพท์ที่ง่ายและชัดเจน
การพูดคุยกับลูกตั้งแต่ทารกช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาได้ แม้ลูกยังไม่สามารถพูดกลับได้ แต่การฟังเสียงและการสังเกตท่าทางของพ่อแม่จะช่วยให้ลูกน้อยค่อยๆ เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูกในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นช่วงกำลังอาบน้ำ แต่งตัว หรือกินอาหาร โดยใช้คำศัพท์ที่ง่าย แต่หลากหลาย และพูดให้ชัดเจน เช่น คำว่า “น้ำ”, “กิน”, “มามา” จะช่วยให้ลูกเข้าใจและพูดตามได้ค่ะ
-
ตอบสนองการสื่อสารของลูก
แม้ทารกจะยังไม่สามารถสื่อสารด้วยการพูดเป็นคำหรือเป็นประโยคได้ แต่หลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นได้ว่าลูกน้อยพยายามแสดงสีหน้าและท่าทางต่างๆ กับคนรอบข้าง ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจสารที่ลูกน้อยส่งมา ก็ควรตอบสนองกลับการสื่อสารของลูกแม้ว่าจะไม่มีเสียงโต้ตอบกลับมาก็ตาม เช่น กรณีลูกน้อยทำท่าอุ้ม หรือชี้ อาจลองพูดกับลูกด้วยประโยคง่ายๆ เพื่อช่วยให้ลูกน้อยเข้าใจวิธีในการสื่อสารมากขึ้น เช่น อยากได้อันนี้ใช่มั้ยจ๊ะ หรือ อยากให้พ่ออุ้มใช่ไหมลูก

-
สอนลูกพูด ด้วยการชวนกันอ่านนิทาน
การอ่านนิทาน หนังสือภาพ หรือหนังสือสำหรับเด็ก จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ กระตุ้นพัฒนาการทางภาษา พัฒนาทักษะการฟัง รวมถึงเสริมสร้างช่วยเสริมจินตนาการได้ด้วย โดยลูกน้อยจะเรียนรู้คำศัพท์และประโยคต่างๆ ได้เป็นอย่างดีจากเรื่องราวและรูปภาพในหนังสือนิทาน ซึ่งระหว่างการอ่านนิทานร่วมกันคุณพ่อคุณแม่ควรชี้ชวนให้ลูกดูรูปภาพ และตั้งถามคำถามง่ายๆ เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง เช่น
- “เห็นนั่นไหมลูก เด็กคนนั้นทำอะไรอยู่จ๊ะ” เพื่อถามความคิดเห็นของลูก แม้ว่าจะไม่สามารถโต้ตอบออกมาเป็นคำได้ก็ตาม
- ใช้การอธิบายลักษณะและรายละเอียดสิ่งของ ฉากประกอบในนิทาน เช่น ขนาด สี รูปร่าง รูปทรง หรือผิวสัมผัส ก็จะช่วยให้ลูกน้อยเข้าใจได้มากขึ้น
-
สอนลูกพูด โดยใช้เสียงเพลงเป็นตัวช่วย
การใช้เพลง ดนตรี อาจช่วยให้การฝึกพูดระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยมีสีสันน่าสนใจมากยิ่งขึ้นค่ะ ซึ่งปัจจุบันมีเพลงเสริมทักษะทางด้านการพูดและการฟังอยู่มากมายที่สามารถเข้าถึงง่าย โดยเสียงเพลงและการร้องเพลงจะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้เสียงหลากหลายรูปแบบ ได้เรียนรู้คำศัพท์ไปพร้อมๆ กัน แต่ดนตรีและเพลงที่ผ่านสื่อตัวกลางอย่างแท็บเล็ต หรือหน้าจออื่นๆ ก็อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของลูกได้เมื่อใช้มากเกินไป ดังนั้น ควรจำกัดการใช้สื่อเหล่านี้อย่างใกล้ชิด และเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาที่อาจกระทบต่อพัฒนาการลูกน้อยในอนาคตนะคะ
-
สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้
หนึ่งใน วิธีสอนลูกพูด ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้ามคือ การจัดสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้ลูกอยากพูด และสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยการสื่อสารค่ะ เช่น มีของเล่น หนังสือนิทาน การ์ดคำศัพท์ หรือรูปภาพต่างๆ ที่ปราศจากหน้าจอ มีการตั้งคำถามผ่านสิ่งแวดล้อมรอบตัวเหล่านี้ ที่ลูกสามารถตอบได้ แม้จะเป็นการตอบด้วยการชี้หรือการทำท่าทาง รวมทั้งพูดคุยกับลูกในทุกโอกาสและสม่ำเสมอ เหล่านี้เป็นกิจวัตรประจำวันง่ายๆ ที่ช่วยส่งเสริมทักษะภาษาและการสื่อสารแก่ลูกน้อยได้ค่ะ

-
เล่นบทบาทสมมติ
โดยปกติลูกน้อยมักจะเรียนรู้การพูดจากการเลียนแบบอยู่แล้วค่ะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถ สอนลูกพูด ผ่านการทำท่าทางหรือเสียงที่เป็นส่วนหนึ่งของคำพูด การเล่นบทบาทสมมติ เช่น การเลียนเสียงสัตว์ หรือทำท่าเลียนแบบสัตว์ต่างๆ จะช่วยให้ลูกได้ใช้ภาษาในการสื่อสาร ฝึกการใช้จินตนาการ และสนุกกับการพูดมากขึ้นค่ะ
-
ใช้น้ำเสียงให้ตรงกับสถานการณ์
โทนเสียง หรือน้ำเสียงในการสื่อสาร หรือแม้แต่การเล่าเรื่อง ล้วนมีผลต่อการทำความเข้าใจในประโยคต่างๆ ของลูกน้อยได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประโยคคำถาม ประโยคคำสั่ง รวมไปถึงการเลียนเสียงสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรเลือกใช้น้ำเสียงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ก็จะช่วยให้ลูกน้อยเข้าใจการออกเสียงและเรียนรู้เสียงต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ตรงความหมายมากขึ้นค่ะ

-
ฟังลูกอย่างตั้งใจ และให้คำชม
ในช่วงที่ลูกเริ่มฝึกพูด หากลูกพูดไม่ชัดเจน หรือพูดผิด อย่าเพิ่งรีบแก้ไขค่ะ แต่ให้ฟังอย่างตั้งใจ และตอบสนองในสิ่งที่ลูกต้องการจะสื่อสาร เพื่อให้ลูกรู้ว่าคำพูดของตัวเองมีความหมาย นอกจากนี้ ควรชมเชยเมื่อลูกพูดได้ดี เพราะคำชมเป็นแรงเสริมที่จะช่วยสนับสนุนให้ลูกน้อยพูดได้ถูกต้องมากขึ้น อยากพัฒนาการพูดมากขึ้น ดังนั้น เมื่อลูกสามารถพูดประโยคยากๆ หรือเรียงประโยคและใช้คำได้อย่างถูกต้อง ลองมอบคำชม พร้อมรอยยิ้มและอ้อมกอดเพื่อเป็นกำลังใจ ที่จะช่วยให้ลูกเริ่มจดจำวิธีในการใช้คำที่ถูกต้องนะคะ
-
ส่งเสริมการเข้าสังคม ให้ลูกน้อยมีเพื่อน
การสื่อสารกับคนใกล้ชิดอาจช่วยให้ลูกพัฒนาทักษะภาษาได้ในระดับหนึ่งค่ะ แต่การพาลูกน้อยออกไปพบเจอกับเพื่อนใหม่บ้าง จะเป็นการเปิดโลกการสื่อสารที่กว้างมากขึ้น ช่วยให้ลูกได้เรียนรู้วิธีการสื่อสารกับคนอื่นๆ ที่ไม่ใช้แค่คนใกล้ชิด ซึ่งอาจช่วยให้ลูกได้เตรียมตัวสำหรับการเข้าสังคม เตรียมความพร้อมในการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ นอกเหนือจากการ สอนลูกพูด ได้ด้วยค่ะ

พัฒนาการทางภาษาของเด็กแต่ละคนแตกต่างกันนะคะ หากลูกน้อยมีพัฒนาการช้ากว่าเกณฑ์ ยังไม่ต้องกังวลมากจนเกินไปค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่ส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของลูกน้อยด้วยความรัก ความเข้าใจ และความอดทน ผ่านการพูดคุย อ่านนิทาน ร้องเพลง และเล่นเกมสนุกๆ ฝึกทักษะกับลูกบ่อยๆ จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการทางภาษาที่สมวัย และพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในอนาคตแน่นอน อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยหรือมีความกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการทางภาษาของลูก ควรปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กนะคะ
ที่มา : www.pobpad.com , healthsmile.co.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ทารกได้ยินตอนไหน การได้ยินของทารกเริ่มเมื่อไหร่ กระตุ้นการได้ยินอย่างไร
ทารก 6 เดือน กินอะไรได้บ้าง ? เริ่มต้นอาหารตามวัยอย่างปลอดภัย ได้ประโยชน์ครบ!
ลูกชอบทำอะไรซ้ำๆ ปกติมั้ย? แบบไหน มีภาวะเสี่ยงออทิสติก!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!