การตรวจ คัดกรองทารกแรกเกิด จะตรวจโดยการเจาะเลือดเพื่อนำตรวจหาความผิดปกติของร่างกายทารก การตรวจตั้งแต่แรกเกิดจะช่วยให้รู้ผลและรักษาได้รวดเร็วทันท่วงที เพราะถ้าเด็กทารกมีความผิดปกติร้ายแรง คุณหมอจะได้ทำการรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น
การตรวจ คัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิด ที่ต้องทำภายใน 24 ชม.หลังคลอด
1. การตรวจ คัดกรองทารกแรกเกิด
การตรวจทารกแรกเกิด ทารกจะถูกเจาะเลือดที่ส้นเท้าภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังคลอด และส่งตรวจเพื่อหาโรคที่จะเกิดได้ในเด็ก โดยรวมถึงโรคอันตรายที่มีผลต่อชีวิต และโรคที่เกิดจากพันธุกรรม เพื่อป้องกันความเจ็บป่วย ความพิการ หรือ เสียชีวิตของทารกจากโรคตั้งแต่แรกเกิด
ในปัจจุบันประเทศไทยมีการตรวจคัดกรองโรคที่สำคัญ 2 โรค ได้แก่
– ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด
คือ การที่ทารกไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้เพียงพอ ทำให้มีโอกาสปัญญาอ่อน หรือ สมองทึบ หรือ ที่เรียกว่า โรคเอ๋อ (เนื่องจากไทรอยด์เป็นฮอร์โมนที่สำคัญของการพัฒนาสมอง)
สาเหตุ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของการสร้างต่อมไทรอยด์ของทารก หรือ มารดามีภาวะขาดไอโอดีนระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นต้น ในประเทศไทยพบได้ประมาณ 1 / 2,500 – 3,000 ของทารกแรกเกิด
อาการ แรกเกิดจะไม่มีอาการ แต่อาการแสดงจะพบเมื่อทารกอายุมากขึ้น เช่น ตัวเหลืองนาน ซึม หลับมาก ไม่ค่อยดูดนม ท้องผูก สะดือจุ่น ผิวแห้ง ลิ้นโต ร้องเสียงแหบ การเจริญเติบโตไม่ดี
การป้องกันโรคเอ๋อ สามารถป้องกันได้โดยต้องให้กินยาไทรอยด์ฮอร์โมนภายใน 1 เดือนหลังคลอด หากผลฮอร์โมนมีค่าผิดปกติ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : แผลฝีเย็บ หลังคลอด รู้สึกเจ็บจี๊ด คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร ?
– ภาวะฟินิลคิโตนยูเรีย (Phenylketonuria) หรือ พี เค ยู (PKU)
เกิดจากความผิดปกติของเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยสลายสารฟีนิลอะลานีน (Phynylalanine) เสียไป ซึ่งสารดังกล่าว มีอยู่ในอาหารที่เป็นโปรตีนทุกชนิด เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว และนม ทำให้เกิดการคั่งของสารนี้ในร่างกายและเข้าไปทำลายสมอง เกิดภาวะปัญญาอ่อนอย่างรุนแรงได้ ในสหรัฐอเมริกา พบประมาณ 1 / 8,000 สำหรับในประเทศไทยพบน้อย ประมาณ 1 / 200,000
สาเหตุ เป็นโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบยีนต์ด้อย
การรักษา ใช้นมพิเศษและเมื่อโตขึ้นให้หลีกเลี่ยงอาหาร ที่มีสารพีนิลอะลานิน เพื่อป้องกันสมองถูกทำลายจากการที่มีสาร Phenylalanine คั่งในร่างกาย
การป้องกัน ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนดได้กำหนดให้เด็กแรกเกิดทุกคนต้องได้รับการเจาะเลือดเพื่อ ตรวจระดับ PKU หลังจากที่ได้รับการป้อนนมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้รับนมที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว
2. การตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด
ในประเทศไทย พบอัตราการสูญเสียการได้ยินในทารกแรกเกิด 1-2 คนต่อ 1,000 คน หากสามารถให้การวินิจฉัยภาวะสูญเสียการได้ยินได้ตั้งแต่แรกเกิดก่อนอายุ 3 เดือน และทำการรักษาฟื้นฟูก่อนอายุ 6 เดือน ทำให้การฟังและการพูดมีการพัฒนาได้ดีใกล้เคียงเด็กปกติ
ทารกแรกเกิดจึงควรได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยินทุกคนหลังคลอด 24 ชั่วโมงหรือก่อนกลับบ้าน ซึ่งจะสามารถวินิจฉัยการสูญเสียการได้ยินได้ตั้งแต่แรกเกิด
การตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดในปัจจุบันทำได้โดยใช้เครื่องตรวจวัดเสียงสะท้อนจากเซลล์ขนในหูชั้นใน เพื่อตรวจการทำงานของปลายประสาทรับเสียงในหูชั้นใน การตรวจทำโดยใส่เสียงเข้าไปในหูขณะเด็กอยู่นิ่ง ๆ และวัดเสียงที่เกิดขึ้นจากการทำงานของหูชั้นใน เครื่องจะบันทึกการตอบสนองโดยอัตโนมัติ การตรวจทำได้ง่าย ใช้เวลาน้อย ไม่เจ็บปวด สามารถทราบผลทันที และผลมีความเชื่อถือได้มากกว่า 95%
3. การตรวจภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด
ทารกแรกเกิดจะได้รับการตรวจภาวะตัวเหลือง ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากสารกลุ่มบิลิรูบินในเลือดสูงขึ้นมากกว่าปกติ ส่วนใหญ่เกิดจากเม็ดเลือดแดงแตก เนื่องจากเม็ดเลือดแดงของทารกมีจำนวนมากกว่าในผู้ใหญ่ และเม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าผู้ใหญ่ (90 : 120 วัน) ประกอบกับตับยังไม่เจริญเต็มที่ จึงขับสารบิลิรูบินออกมาได้น้อย
ภาวะตัวเหลืองพบได้ในทารกแรกเกิดถึงร้อยละ 25-50 ส่วนใหญ่จะพบวันที่ 2-3 หลังคลอดและลดลงภายในวันที่5-7 ซึ่งในเด็กคลอดครบกำหนดจะมีค่าบิลิรูบินสูงสุดไม่เกิน 12 มก./ดล. ในทารกคลอดก่อนกำหนดมีค่าบิลิรูบิน ไม่เกิน 15 มก./ดล. แต่หากพบภาวะตัวเหลืองภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด ค่าบิลิรูบิน อาจสูงถึง 20 มก./ดล. และทำให้ทารกเสียชีวิตได้
4. การตรวจน้ำตาลในเลือด
หากทารกแรกเกิดตัวใหญ่หรือตัวเล็กกว่าอายุครรภ์จะได้รับการตรวจน้ำตาลในเลือด โดยทั่วไปพบว่ามีทารก 1 ใน 4 ที่คลอดจากมารดาที่เป็นเบาหวานเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำในระยะแรกคลอด
ภาวะน้ำตาลในเลือดของทารกต่ำ คือ ภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 35-40 มก./ดล. ใน 12 ชั่วโมงแรกหลังคลอดของทารกครบกำหนด ทารกแรกเกิดปกติระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลง (หลังจากคลอด) เป็น 50-60 มล./ดล. โดยที่ไม่พบอาการผิดปกติใดๆ และถึงแม้ค่าระดับน้ำตาลจะต่ำกว่า 50 มก./ดล. ทารกส่วนใหญ่สามารถทนได้ อย่างไรก็ตามเมื่อระดับน้ำตาลต่ำกว่า 30 มก./ดล. จะพบอาการต่างๆ เช่น ซึม ไม่ดูดนมและชักได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
5 ของจำเป็นหลังคลอด สำหรับคุณแม่ที่ต้องการคืนรูปร่าง และฟื้นฟูร่างกาย
การอยู่ไฟ หลังคลอด อยู่ไฟคืออะไร แม่หลังคลอดจำเป็นที่จะต้องอยู่ไฟไหม?
รวมเมนูหลังคลอด บำรุงน้ำนม ลดน้ำหนัก พุงยุบ กินอะไรเพิ่มน้ำนม ให้ลูกได้รับสารอาหารเต็ม ๆ
ที่มา : thonburihospital , doctor , gotoknow , parenttown