เด็กออทิสติก
ออทิสติก (Autistic Children) หรือเด็กที่มีภาวะออทิสซึม หมายถึง เด็กที่มีความผิดปกติทางสมอง ซึ่งส่งผลให้เขามีปัญหาในการทำความเข้าใจและตอบสนองกับโลกภายนอก และทำให้เขามีพฤติกรรมและการแสดงออกที่แตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป
จากสถิติพบว่ามีเด็กออทิสติกทั่วโลก ประมาณ 4 – 5 คน ต่อประชากรเด็ก 10,000 คน โดยมีแนวโน้มที่จะพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงถึง 4 เท่า จากการวินิจฉัยตามคู่มือและสถิติของสมาคมจิตแพทย์อเมริกันครั้งที่ 3 และ 4 พบภาวะออทิสซึมในเด็กอายุ 1 – 5 ปี เท่ากับ 9.9 ต่อประชากรเด็ก 10,000 คน
เด็กออทิสติกมีลักษณะอย่างไร
เด็กออทิสติกจะมีปัญหาบริเวณสมอง ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าใจและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กที่มีภาวะออทิสติกมีการแสดงท่าทางแตกต่างจากคนทั่วไป ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและเปรียบเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน เพื่อค้นหาความบกพร่องที่เกิดขึ้นและได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด พฤติกรรมของเด็กออทิสติกที่สังเกตได้มีดังนี้
1. ภาวะบกพร่องด้านการปฎิสัมพันธ์ทางสังคม ส่วนใหญ่เด็กออทิสติกจะมีปัญหาด้านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม โดยมีพฤติกรรม ได้แก่
– ไม่สบตา
– ตั้งใจฟังหรือดูคนอื่นน้อยหรือมีความบกพร่องในการตอบสนองกับบุคคลรอบข้างน้อย
– ไม่รู้จักการแบ่งปันของเล่นหรือทำกิจกรรมอื่นร่วมกับบุคคลรอบข้าง
– มีการตอบสนองที่ไม่ปกติต่ออารมณ์โกรธ ความเครียด หรือการแสดงความรักจากบุคคลอื่น
2. ภาวะบกพร่องด้านการสื่อสาร โดยทั่วไปแล้ว เด็กในวัยเตาะแตะหรือเมื่อย่างเข้าขวบปีแรก จะเริ่มพูดได้สองสามคำ และรู้จักหันมามองเมื่อถูกเรียกชื่อ หรือชี้ของเล่นที่ต้องการได้แต่สำหรับเด็กออทิสติกจะมีพฤติกรรม ได้แก่
– ไม่ตอบสนองหรือตอบสนองช้าเมื่อมีคนเรียกชื่อหรือเรียกให้สนใจ
– มีการพัฒนาที่ล่าช้าทางด้านท่าทาง เช่น การชี้และแสดงสิ่งของให้ผู้อื่นดู
– ส่งเสียงและพูดอ้อแอ้ในช่วงปีแรก แต่หลังจากนั้นจะหยุดพฤติกรรมดังกล่าว
– การพัฒนาด้านภาษาล่าช้า
– เรียนรู้การสื่อสารโดยใช้รูปภาพหรือสัญลักษณ์ของตัวเอง
– พูดเพียงคำเดียวหรือพูดซ้ำไปซ้ำมา ไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้
– พูดทวนคำที่ได้ยินซ้ำ ๆ
– ใช้คำแปลกๆ สื่อความหมายแปลกๆ เฉพาะคนที่ใกล้ชิดกับเด็กจึงจะเข้าใจ
3. การแสดงพฤติกรรมซ้ำ ๆโดยทั่วไปเด็กออทิสติกมักแสดงพฤติกรรมที่ซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งบางคนอาจแสดงพฤติกรรมดังกล่าวอย่างรุนแรง ชัดเจน ในขณะที่บางคนอาจแสดงพฤติกรรมดังกล่าวเพียงเล็กน้อย เช่น เล่นนิ้วมือ กระพือแขน เดินในท่าเฉพาะ ซ้ำ ๆ นอกจากนี้ ยังมีความสนใจจดจ่อกับบางสิ่งบางอย่างมากเป็นพิเศษ เช่น บางคนอาจชอบดูล้อรถที่หมุน ก็จะนั่งดูได้นาน ๆ โดยไม่สนใจสิ่งอื่น เป็นต้น เด็กออทิสติกไม่รู้จักการยืดหยุ่น จึงมักจะยึดติดอะไรแบบเดิม ๆ พวกเขาจะรับประทานอาหารแบบเดิม ๆ เวลาเดิมๆ ทุกวัน หรือไปโรงเรียนก็จะชอบไปเส้นทางเดิมๆ เป็นต้น
เมื่อเด็กได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นออทิสซึมแล้ว สิ่งสำคัญต่อไปที่ควรกระทำอย่างยิ่ง คือ การบำบัด เพราะเมื่อสามารถระบุได้ว่าเด็กมีความผิดปกติเร็วเท่าใด ก็จะสามารถนำเด็กเข้ารับการรักษา หรือบำบัดได้เร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ตามศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้
ABA การบำบัดเด็กออทิสติกด้วยการปรับพฤติกรรม
ABA (Applied Behavior Analysis) คือ การประยุกต์ใช้ทฤษฎีด้านพฤติกรรม มาปรับพฤติกรรมของคนอีกทอดหนึ่ง สำหรับวิธีการบำบัดแบบ ABA ได้รับการอ้างอิงมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 ว่าสามารถใช้ได้ผลและเด็กออทิสติกก็มีพัฒนาการดีขึ้นมาก ซึ่งการบำบัดนี้จะใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวันเพื่อปรับพฤติกรรมเด็ก 1 คน โดยใช้หลักการฝึก คือ สิ่งเร้า การตอบสนอง การให้รางวัล
ตัวอย่างการสอนแบบ ABA : วิธีสอนให้มองหน้า (ใช้วิธี ABA Applied Behavior Analysis)
วิธีสอนให้มองหน้า ฟังเหมือนเป็นสิ่งง่ายที่ใคร ๆ ก็ทำกัน แต่สำหรับคนออทิสติกแล้ว มันเป็นสิ่งที่ยากสำหรับพวกเขา การสอนในเริ่มแรกควรสอนในห้อง หรือมุมห้องที่ไม่มีสิ่งรบกวน รวมไปถึงสิ่งตกแต่งต่าง ๆ ในห้อง ถ้าไม่มีห้องว่างก็สามารถใช้มุมห้องที่ไม่มีการตกแต่ง ให้เด็กนั่งหันหน้าเข้าที่มุมห้อง ครู (หรือคุณพ่อคุณแม่ กรณีนำมาฝึกเองต่อที่บ้าน) อาจจะนั่งหลังชนมุมห้องหรือนั่งข้าง ๆ
เป้าหมาย
1. มองหน้าได้ 1วินาที ในระยะ 1 ฟุต
2. มองหน้าได้ 5วินาที ในระยะ 1 ฟุต
3. มองหน้าได้ 5วินาที ในระยะ 2 ฟุต
4. มองหน้าคนพูด
อุปกรณ์
1. ที่นั่งสำหรับเด็กและครู โดยที่หน้าทั้งสองอยู่ในระดับเดียวกัน
2. รางวัล หรือ กระดานรางวัล
วิธีสอน
1. ตั้งคำสั่ง “มองหน้า” ต่อมาให้คำสั่งที่หลากหลาย เช่น เรียกชื่อเด็ก
2. ทันทีที่บอกคำสั่ง ให้มือทั้งสองข้างป้องข้างตาทั้งสองข้างของเขาให้เขามองมาที่ครูเท่านั้น เมื่อทำได้ลดการช่วยลง โดยป้องมือในระยะห่างจากหน้าของเด็ก, ใช้ของรางวัลหรือของเล่นที่เขาชอบแตะที่ระหว่างตาของครู (เพื่อให้เด็กมอง), และ ไม่มีการช่วย
3. ให้รางวัล และชมเด็กทันที “มองหน้าทำได้เก่งมาก”
ข้อดีของพฤติกรรมบำบัด
จากทฤษฎีพฤติกรรมและการให้รางวัล เด็กจะเรียนรู้จากการสอนที่มีระบบอย่างสม่ำเสมอและเคร่งครัด ข้อดีของพฤติกรรมบำบัด คือ เด็กจะเรียนรู้เร็ว สามารถนั่งเรียนได้ ตอบสนองคำสั่งได้ และการฝึกสอนโดยครูประจำตัวเป็นไปได้ง่าย คุณพ่อคุณแม่สามารถนำมาปรับใช้ที่บ้านและทำประจำสม่ำเสมอจะช่วยเสริมพัฒนาการได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
อนาคตของเด็กออทิสติก
เด็กที่เป็นออทิสติกบางคนสามารถทำงาน และใช้ชีวิตอย่างมีอิสระ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ สามารถแต่งงานมีลูกได้อย่างคนทั่วไป แต่ในบางคน ออทิสติกก็มีผลกระทบมากต่อพัฒนาการโดยรวมของเขา ซึ่งทำให้เขายังต้องการความช่วยเหลือต่อไปเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้คุณพ่อ คุณแม่และผู้เชี่ยวชาญจึงควรร่วมมือกัน เพื่อบำบัดและเสริมสร้างทักษะการดำรงชีวิตให้กับเด็กที่มีภาวะนี้ตั้งแต่พวกเขายังเล็ก เพื่อเขาจะสามารถใช้ชีวิตในวิถีที่ใกล้เคียงกับคนทั่วไปมากที่สุดนั่นเอง
ข้อมูลนำมาฝาก
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกหลานเป็นออทิสติก มีอายุระหว่าง 3 – 7 ปี และสนใจบำบัดด้วยวิธีการ ABA สามารถนัดและขอคำแนะนำและได้รับการประเมินเบื้องต้นได้ที่ 02-200-4029 อาจารย์ ดร.ปรียาสิริ วิฑูรชาติ ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อ้างอิงข้อมูล
https://www.healthtoday.net
https://myrightsolution.blogspot.com
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เด็กออทิสติกเรียนร่วมกับเด็กปกติได้หรือไม่
เกือบไปแล้ว! ลูกของฉันพัฒนาการถดถอย จนเกือบเป็นออทิสติก
14 วิธีสังเกต ลูกเสี่ยงเป็นออทิสติก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!