เพราะการกินนมของลูกน้อยเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการให้นมแบบไหนก็ตาม อาทิ วิธีให้นมแม่ หรือวิธีให้นมผง วิธีป้อนนมจากขวด ความต้องการของเด็กแต่ละคนอาจต่างกัน ดังนั้น พ่อแม่ควรให้ความดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ป้อนนมลูก ที่อาจจะเกิดการสำลักได้ตลอดเวลา ที่สำคัญไม่มีตำราเล่มใดที่จะบอกคุณพ่อคุณแม่ได้อย่างแม่นยำ 100% ว่าแบบไหนเป็นวิธีให้นมที่ถูกต้อง คุณแม่ควรสังเกตสัญญาณที่ลูกน้อยแสดงออกว่าลูกได้รับน้ำนมเพียงพอหรือไม่
การป้อนนมลูกจากขวดอย่างไรให้ถูกวิธีนั้น เป็นเรื่องสำคัญเมื่อถึงเวลาที่ต้องให้ลูกกินนมจากขวด พ่อและแม่ควรฝึกให้ลูกกินอย่างถูกวิธี สิ่งแรกที่สำคัญเลยก็คือ การเรียนรู้วิธีการให้นมลูก เพราะในบางครั้งอาจจะต้องใช้นมแม่ที่ปั๊มเก็บตุนไว้ การที่คุณพ่อหรือพี่เลี้ยงจะป้อนนมแทนนั้น จึงเป็นเรื่องที่ควรจะทำความเข้าใจให้เท่ากัน เพราะนมที่ควรจะให้เด็กนั้น ไม่จำเป็นต้องอุ่นให้ร้อนเพื่อจะได้สารอาหารที่เหมาะสม หรือได้โภชนาการที่ดี นมอุณหภูมิห้องก็มีคุณค่าทางอาหารได้
แต่ในทางปฏิบัตินั้นก็สามารถอุ่นนมลูกน้อยได้หากต้องการ แต่ห้ามอุ่นนมจากไมโครเวฟเด็ดขาด เพราะสารอาหารในนมแม่อาจสูญเสียได้และไมโครเวฟอาจอุ่นนมให้อุ่นได้ไม่เท่ากันในทุกส่วน เสี่ยงต่อการทำให้นมเกิดจุดร้อนเดือดในบางส่วนและอาจร้อนจนลวกปากลูกน้อยได้
วิธีอุ่นนมลูกที่ดี จึงมักแนะนำให้อุ่นนมด้วยการใส่นมลงในขวดนมแล้ววางในน้ำอุ่น ก่อนให้ลูกดื่ม ควรหยดนมเล็กน้อยที่ด้านหลังของฝ่ามือ หรือท้องแขนเพื่อทดสอบอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ร้อนจนเกินไป ก่อนป้อนให้ลูกน้อยทาน
วิธีป้อนนมจากขวด ควรทำอย่างไร
คำแนะนำจากกรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติราชินี (รพ.เด็ก) ได้กล่าวไว้ว่า หากป้อนขวดนมให้กับลูกผิดท่า สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายของลูกได้โดยตรง ดังนั้นผู้ปกครองควรฝึกให้นมลูกอย่างถูกวิธี พร้อมคอยสังเกตในขณะที่ลูกดูดนมอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันทารกสำลักนมได้
- พยายามป้อนนมแม่ก่อน 15 นาทีที่จะให้ ฝึกลูกดูดนมแม่จากขวด ในเวลาที่ลูกเคยดูดนมแม่เป็นปกติ หรือขณะที่กำลังใกล้ตื่น (สังเกตจากอาการขยับปากก่อนใกล้ตื่น) ไม่ควรให้ลูกกินนมแม่จากขวดในขณะที่ลูกร้องหิว เพราะเด็กจะมีอาการโมโห หงุดหงิด จนไม่ยอมกินนมแม่ที่อยู่ในขวด และร้องที่จะหานมแม่จากเต้าเพียงอย่างเดียว
- ในขณะที่จะให้ลูกได้กินนมแม่จากขวดนมนั้นควรให้ผู้อื่นเป็นคนป้อน คุณแม่ควรหลบไปยืนอยู่ห่าง ๆ หรือนอกห้องนอนลูกเลย เพราะถึงแม้ว่าทารกจะมองไม่เห็นคุณแม่ แต่สัญชาตญาณของตัวเด็กจะได้กลิ่นแม่ และทำให้ลูกไม่ยอมกินนมจากขวดได้
- สอนให้คนป้อนใช้ท่าอุ้มป้อนนมที่ไม่เหมือนท่าที่คุณแม่เคยอุ้มดูดนม เพราะทารกบางคนจะจำและเรียนรู้ว่า ถ้าอุ้มนี้คือท่าที่จะต้องได้ดูดนมจากอกแม่ อาจต้องเปลี่ยนมาใช้วิธีวางนอนในขณะป้อนนมแม่จากขวดแทน
- ทารกบางคนชอบให้มีการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ อาจใช้วิธีฝึกลูกดูดขวดด้วยการนั่งป้อนบนเก้าอี้โยก หรือแกว่งเปลไกวขณะป้อน ซึ่งอาจทำให้ทารกยอมกินนมแม่จากขวดได้ง่าย
- หากลูกไม่งอแงยังไม่ยอมกินนมจากขวด ลองพยายามเปลี่ยนจุกนมหลายแบบ ๆ อาจเลือกจุกที่นิ่ม ๆ มีความยืดหยุ่นคล้ายหัวนมแม่
- อย่าใช้จุกนมที่เย็นเกินไปป้อนนมทารก ถ้าเป็นขวดที่แช่มาจากตู้เย็น ควรแช่น้ำอุ่นก่อน
- ในครั้งแรกที่ฝึกลูกดูดนมแม่จากขวด ลูกอาจจะกินไม่มาก แต่ถ้าเจ้าตัวน้อยยอมกินแต่แรกให้ค่อย ๆ ลองไปทุกวันเพื่อให้เกิดความเคยชิน และจะทำให้ทารกดูดนมจากขวดได้มากขึ้น
- ในช่วงแรก ๆ ของการฝึกลูกดูดนมแม่จากขวดแทนการดูดจากเต้า ทารกอาจจะมีการงอแง ต่อต้าน ไม่ยอมกินนมจากขวดนอกจากอกแม่ สิ่งสำคัญคือความอดทนจากคนช่วยป้อน ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณย่า คุณยาย หรือพี่เลี้ยง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการฝึกเจ้าตัวน้อยหลายวันกว่าจะเป็นผลสำเร็จ
อย่างไรก็ตามในช่วงที่คุณแม่มีวันหยุดยาว ๆ ถ้าต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาที่เจ้าตัวน้อยต้องมาติดเต้าก่อนกลับไปทำงานอีก ควรให้ลูกได้กินนมแม่จากขวดและสลับมาเข้าเต้าเป็นบางมื้อ แต่ถ้าในกรณีที่ใช้วิธีฝึกลูกดูดขวดตามวิธีข้างต้นไม่ได้ผล ให้ลองใช้วิธีค่อย ๆ ป้อนนมด้วยช้อนหรือจากแก้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง : 7 ความเชื่อการป้อนนม ที่คุณไม่ควรเชื่อ มีอะไรบ้างที่ไม่จริง
ฝึกให้นมลูกจากขวดเริ่มได้เมื่อไหร่
สำหรับคุณแม่ที่ทำงานไปด้วย และให้นมลูกไปด้วย แนะนำให้วางแผนให้ลูกฝึกดูดนมจากขวดตั้งแต่เริ่มเข้าสู่เดือนที่สอง เหตุผลที่ไม่ควรฝึกในเดือนแรก เพราะลูกอาจเกิดความสับสนระหว่างจุกนมที่เป็นยางและหัวนมแม่ เมื่อเด็กอายุมากกว่า 1 เดือนไปแล้ว จะสามารถปรับตัวเข้ากับหัวนมแม่และจุกนมขวดได้ คุณแม่จึงควรให้ลูกดูดนมจากขวดบ้าง อย่างต่ำวันละ 1 ครั้ง เมื่อถึงเวลาที่คุณแม่ต้องไปทำงานจะได้ไม่มีปัญหา ส่วนคุณแม่ที่ให้ลูกกินนมขวดอยู่แล้วก็ไม่มีปัญหานี้
1. ให้ลูกรู้จักจุกนมก่อน
โดยทำให้เป็นของเล่นของลูก ซึ่งลูกอาจอยากเคี้ยวจุกเล่นดูก่อน ปล่อยให้ลูกได้สร้างความคุ้นเคย ให้เล่นกับจุกนมก่อนที่จะทำการดูดจริง
2. ฝึกลูกในช่วงเย็นหลังจากดูดนมปกติไปแล้ว
ในช่วงเวลานี้ลูกจะอารมณ์ดีที่สุด เพราะได้กินอิ่มเป็นที่เรียบร้อย ควรเริ่มจากนมในปริมาณน้อย ๆ ประมาณครึ่งออนซ์ดูก่อน
3. เลือกจุกนมให้ถูกใจลูก
โดยเลือกแบบที่เป็นยางซิลิโคนที่มีผิวสัมผัสยืดหยุ่นนุ่มนวลคล้ายเต้านมแม่ เลือกจุกนมแบบที่ไหลช้า ๆ คุณแม่สามารถดูดได้จากข้างกล่องจะเขียนว่า slow-flow จุกเบอร์ 1 ซึ่งให้น้ำนมไหลช้า ๆ เหมือนการดูดจากเต้านมของคุณแม่
4. อย่าให้แม่ฝึกเพราะกลิ่นแม่เป็นปัญหา
คุณแม่ต้องให้ผู้อื่นให้นมลูก เพราะหากคุณแม่เป็นคนป้อนลูกเอง ลูกจะสามารถจำกลิ่นของแม่ได้เป็นอย่างดี และเขาก็จะเรียกร้องการดูดนมจากเต้า ไม่ยอมดูดขวด ทำให้การฝึกไม่ประสบความสำเร็จ
5. ให้ลูกชิมนมที่จุกนมก่อน
โดยคุณแม่ใช้น้ำนมแม่เล็กน้อยแตะที่จุกนม ให้ลูกได้ลองชิมดูก่อน พอรู้ว่าเป็นน้ำนมแม่ที่กินประจำลูกจะมั่นใจในการดูดมากขึ้น
6. เตรียมนมให้พร้อมดูด
ไม่ควรให้ลูกดูดจุกนมที่เย็น หรือน้ำนมแม่ที่เย็น ควรให้นมอุณหภูมิปกติก่อนค่อยนำมาป้อน จะได้เหมือนกินน้ำนมแม่
7. เบี่ยงเบนความสนใจลูก
ควรหากิจกรรมที่ทำให้ลูกผ่อนคลายขณะฝึกดูดขวด ถ้าลูกน้อยเป็นเด็กที่ติดการเคลื่อนไหว ให้ใช้การเคลื่อนไหวเพื่อหยุดการร้องไห้ ลองนั่งเก้าอี้โยกป้อนนมดู จะทำให้ลูกผ่อนคลายและเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจไปที่จังหวะการโยกเก้าอี้ของคุณแม่ จนดูดนมจากขวดเพลินแบบสบายใจ
8. ฝึกดูดจากแก้วเป็นขั้นต่อไป
หลังจากที่ฝึกให้นมลูกจากขวดแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็ฝึกลูกกินนมจากแก้ว โดยกุมารแพทย์ส่วนใหญ่แนะนำว่าควรฝึกลูกกินนมจากแก้วประมาณเดือนที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกกินอาหารเสริมได้แล้ว แต่หากลูกยังไม่พร้อมก็อาจรอและไปเริ่มที่อายุ 9 เดือน เด็ก ๆ มีความอยากรู้อยากเห็น คุณแม่จึงให้เขาลองได้จิบน้ำหรือนมจากแก้ว แล้วค่อย ๆ เพิ่มเป็นการฝึกดูดจากหลอด ครั้งแรกลูกอาจจะบ้วนน้ำหรือนมออกมาบ้าง เตรียมผ้ากันเปื้อนเอาไว้ให้พร้อม แต่ใช้เวลาไม่นานลูก ๆ ก็จะสามารถฝึกดูดจากขวดและแก้วได้อย่างแน่นอน
9. จุกนมหลอก ตัวช่วยคุณแม่
คุณแม่คงเคยได้ยินหลายคนเตือนมาบ้างว่า อย่าให้ลูกดูดจุกนมหลอกเล่นโดยไม่จำเป็น แต่ในการฝึกลูกดูดนมจากขวด จุกนมหลอกสามารถเป็นตัวช่วยคุณแม่ได้ เพราะมีลักษณะเหมือนจุกนมจริงนั่นเอง จึงช่วยให้เด็กคุ้นเคย คุณแม่สามารถให้ลูกดูดจุกนมหลอกได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยวิธีป้อนจุกนมหลอกสลับกับป้อนนมจากเต้าระหว่างให้นมแม่ วิธีนี้จะทำให้ปากของลูกได้รู้จักสัมผัสใหม่ ๆ นอกจากเต้านมแม่ รวมถึงคุ้นเคยกับการดูดนมจากจุกนมยางมากขึ้น เมื่อถึงเวลาให้นมลูกจากขวดจริง ๆ ลูกจะยอมรับได้ง่าย ที่สำคัญควรเลือกจุกนมหลอกที่ติดกันเป็นชิ้นเดียว สามารถทำความสะอาดได้ง่าย และมีขนาดเหมาะสมกับช่วงอายุของลูก ขนาดฐานของจุกนมหลอกควรกว้างไม่น้อยกว่าหนึ่งนิ้วครึ่ง ทำด้วยพลาสติกที่แข็งแรง และมีรูระบายด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : การให้นมลูก ปริมาณน้ำนม และความถี่ในการให้นม ฉบับคู่มือแม่มือใหม่
สิ่งที่แม่ควรใส่ใจ
- ลูกกินนมจากขวดได้น้อยเป็นเรื่องปกติ การดูดนมจากขวดครั้งแรก ลูกอาจจะดูดได้ไม่มากตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ ต้องสลับกับกินจากเต้าด้วยเพื่อให้ลูกได้รับนมอย่างเพียงพอ คุณแม่อย่าได้กังวลและค่อย ๆ ฝึกไปเรื่อย ๆ เมื่อลูกชินแล้ว จะสามารถดูดนมเพิ่มมากขึ้น
- การฝึกต้องใช้เวลา ในการฝึกให้นมลูกจากขวดแทนการให้นมจากเต้า ต้องค่อย ๆ ฝึก และสิ่งสำคัญคือคนช่วยป้อนต้องใจเย็นและอดทน เพราะลูกจะงอแงหรือต่อต้าน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และในช่วงวันหยุดที่คุณแม่ได้อยู่กับลูก อย่าใจอ่อนให้ลูกดูดจากเต้าทุกมื้อ ควรให้ลูกได้กินนมแม่จากขวดเป็นหลัก และสลับมาเข้าเต้าเป็นบางมื้อ เพราะไม่เช่นนั้นลูกจะกลับไปติดหัวนมแม่ได้อีก
5 สัญญาณที่ลูกบอกว่าอิ่มนมแล้ว
หนึ่งในวิธีให้นม คือการสังเกตให้เป็นว่าลูกอิ่มหรือยัง จากสัญญาณที่ได้จากลูกของคุณในการให้นมแต่ละครั้ง ซึ่งคุณควรหยุดให้นม เมื่อเห็นทารกส่งสัญญาณ ต่อไปนี้
- ปิดปาก
- การดูดช้าลงหรือหยุดดูด
- ผลักขวดนมออก
- โก่งหลังของเขาและหันศีรษะออก
- ผ่อนคลายร่างกายและนอนหลับ
ทั้งนี้ สิ่งที่คุณแม่ห้ามทำคือการให้ทารกนอนราบ และไม่ควรใช้วัสดุหนุนขวดนม หรือไม่ควรจัดตำแหน่งขวดนมเป็นแนวตั้งมากเกินไป หากป้อนนมจากขวดผิดท่วงท่า อาการน้ำนมท่วมช่องปากเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฟันผุได้ สำหรับคุณแม่ที่ไม่ได้ฝึกให้นมลูกจากขวดมาก่อน แต่มาฝึกในอาทิตย์สุดท้ายของวันลาคลอด คงต้องทำใจกันสักนิด เพราะจะฝึกไม่ทัน ลูกจะงอแง เพราะฉะนั้นต้องวางแผนการฝึกกันให้เป็นอย่างดี
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ล้างขวดนมและฆ่าเชื้ออย่างไรให้สะอาดสุดสำหรับลูกน้อย
กำไรเห็น ๆ ที่ทั้ง “แม่ลูก” จะได้รับจากการให้ “นมแม่”
เมนูแซนวิชหัวหอมไก่ไข่ขาว ฟิตหุ่นคุณแม่หลังคลอด อิ่มน้ีไม่เกิน 200 แคล
ที่มา : enfababy, 2
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!