8 ข้อผิดพลาด เมื่อลูกอยู่ NICU
-
ไม่ดูแลตัวเอง
เมื่อลูกอยู่ใน NICU คุณแม่มักจะไม่เป็นอันทำอะไร ได้แต่เฝ้าอยู่หน้าห้องและภาวนาขอให้ลูกแข็งแรงขึ้นไวๆ จนลืมไปว่าร่างกายคุณแม่หลังคลอดก็ต้องได้รับการดูแลเช่นกัน ความเครียด วิตกกังวล ไม่ได้พักผ่อน ยิ่งจะทำให้คุณแม่ฟื้นตัวช้า น้ำนมไม่มา
ดังนั้น การที่คุณแม่ดูแลตัวเองก็เท่ากับเป็นการทำเพื่อเจ้าตัวน้อยเช่นกัน ลูกที่อยู่ในห้อง NICU ต้องการคุณแม่ที่แข็งแรง สุขภาพดี ดังนั้น ควรให้เวลาตัวเองได้พักผ่อน รักษาสุขอนามัย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อผลิตน้ำนมคุณภาพที่จะช่วยให้ลูกน้อยฟื้นตัวได้ไวขึ้น
บทความแนะนำ งานวิจัยชี้ เด็กคลอดก่อนกำหนดควรกินนมแม่เร็วที่สุด
-
ตำหนิตัวเอง
คุณแม่มักโทษตัวเองที่ทำให้ลูกต้องอยู่ในห้อง NICU แต่การคลอดก่อนกำหนด หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ แม้คุณแม่จะไม่ได้ทำอะไรผิดก็ตาม เพราะฉะนั้นคุณแม่อย่ามัวโทษตัวเองเลยค่ะ ทำใจให้ผ่อนคลาย ขยันปั๊มนมให้เจ้าตัวน้อยดีกว่า
-
ไม่ต้องการพบเจอใครๆ
เพื่อนและครอบครัวคือกำลังใจสำคัญของคุณ แม้ว่าคุณอาจจะรู้สึกว่าพวกเขาไม่เข้าใจคุณ แต่พวกเขาอาจช่วยบรรเทาความทุกข์ ทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น และสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปได้
เพราะฉะนั้น แทนที่จะปิดกั้นตัวเองจากความช่วยเหลือของเพื่อนและครอบครัว คุณควรเปิดโอกาสให้ตัวเองได้รับความช่วยเหลือจากคนที่ห่วงใยคุณจะดีกว่า แต่ไม่จำเป็นต้องเปิดรับแขกทุกคนที่ต้องการมาเยี่ยมหรอกนะคะ ในบางกรณี คุณอาจให้คุณพ่อเป็นตัวแทนช่วยเจรจาว่าคุณต้องการเวลาและการพักผ่อน รอให้เจ้าตัวน้อยกลับบ้านก่อนค่อยมาเยี่ยมก็ได้
-
ไม่มีส่วนร่วมในการดูแลเจ้าตัวน้อย
คุณอาจจะได้แต่นั่งอยู่ข้างเตียงลูก ดูพยาบาลจัดการกับเจ้าตัวน้อย โดยทำอะไรไม่ได้เลยซักอย่าง ที่เป็นเช่นนั้นอาจเพราะ คุณคิดว่าพวกเขามีประสบการณ์ในการดูแลทารกใน NICU เป็นอย่างดี หรือเพราะคุณไม่กล้าที่จะอุ้มลูก เพราะเขาตัวเล็กมาก หรือคุณไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร ไม่เคยมีใครบอกคุณว่าคุณสามารถดูแลลูกได้
แต่คุณคือแม่และเจ้าตัวน้อยก็ต้องการคุณ เพราะฉะนั้นคุณควรมีส่วนร่วมในการดูแลทารกให้มากที่สุดเท่าที่คุณได้รับอนุญาต ถ้าไม่มีใครบอกคุณว่าคุณสามารถทำอะไรได้บ้าง อย่ากลัวที่จะถามว่าคุณสามารถทำอะไรเพื่อเจ้าตัวน้อยของคุณได้บ้าง เช่น คุณสามารถเปลี่ยนผ้าอ้อมได้ไหม? หรือสามารถอุ้มลูกเพื่อให้ความอบอุ่นได้ไหม?
และแม้คุณอาจจะได้รับอนุญาตเพียงแค่สัมผัส อุ้ม เปลี่ยนผ้าอ้อมในบางเวลา แต่เชื่อไหมว่า เสียงและการสัมผัสของคุณ มีพลังช่วยให้ลูกรู้สึกสบายขึ้น และฟื้นตัวได้ไวขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น การได้ดูแลเจ้าตัวน้อยยังเป็นการสานสายใยแม่ลูกเชื่อมโยงความผูกพันที่มากขึ้นอีกด้วย
-
เปรียบเทียบลูกของคุณกับเด็กคนอื่นใน NICU
บางทีคุณอาจเห็นว่า เด็กทารกที่อยู่ถัดจากเจ้าตัวน้อยของคุณดูตัวใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่า แต่โปรดจำไว้ว่า เด็กแต่ละคนเข้ามาอยู่ในห้องนี้ด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกัน และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวไม่เท่ากัน ในห้องนี้มีทั้งเด็กที่แข็งแรงกว่าลูกของคุณ และบางคนก็อ่อนแอกว่า ดังนั้น จึงไม่ยุติธรรมเลยที่จะนำมาเปรียบเทียบกัน
-
ไม่พูด ไม่ถาม
คุณอาจรู้สึกว่า คุณไม่รู้จะพูดอะไรในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเจ้าตัวน้อยของคุณ การที่ลูกต้องอยู่ในห้อง NICU ทำให้คุณต้องดำเนินตามกฎและวิธีปฏิบัติของห้องนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณไม่สามารถพูดอะไรได้เลย คุณมีสิทธิ์ที่จะรู้ว่า ลูกคุณเป็นอย่างไร ต้องดูแลอย่างไร ที่ทำอย่างนี้เพื่ออะไร และจะต้องทำอย่างไรในขั้นต่อไป
เพราะคุณคือกระบอกเสียงของลูก หากคุณไม่พูดนั่นแหละคือความผิดพลาด ถึงแม้ว่าลูกจะอยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ แต่ไม่มีใครรักลูกของคุณมากเท่ากับคุณหรอก ดังนั้น ความคิดของคุณ คำถามของคุณ คำขอของคุณคือสิ่งสำคัญ จงพูดออกมา ถามคำถามเพื่อลูกของคุณ
-
คิดถึงแต่อนาคตมากเกินไป ไม่อยู่กับปัจจุบัน
คุณอาจเป็นกังวลกับอาการของลูก รู้สึกเกลียดห้อง NICU และได้แต่เฝ้ารอวันที่เจ้าตัวน้อยได้เป็นอิสระไวๆ จนทำให้คุณมองข้ามความสุขในปัจจุบัน ถ้าคุณจะสามารถผ่อนคลาย และอยู่กับปัจจุบัน ให้นมเจ้าตัวน้อย โอบกอดเขา ส่งยิ้มหวานๆ ให้เขา ความสุขก็เกิดขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญก็คือ ความสมดุล ไม่ทุ่มพลังไปกับความคิดเชิงลบที่ทำให้การเดินทางของคุณยากลำบากมากขึ้น แต่ควรเปิดโอกาสให้ตัวเอาได้พบกับความสุขในปัจจุบันจะดีกว่า
-
คิดว่าตัวเองไม่สำคัญ
อย่าคิดแบบนั้น เพราะคุณคือคนสำคัญที่สุดในชีวิตของลูก ความรักของคุณมีพลังเหนือสิ่งอื่นใด และสายใยความผูกพันระหว่างคุณกับเจ้าตัวน้อยนั้นมีอยู่จริง ลูกจำเสียงคุณได้ จำกลิ่นคุณได้ และจำสัมผัสของคุณได้ แม้ในตอนนี้คุณอาจไม่ได้เป็นผู้ดูแลหลัก แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกไม่ต้องการคุณ เจ้าตัวน้อยอาจจะหลับตลอดเวลา และดูเหมือนไม่ได้ต้องการคุณ แต่จริงๆ แล้วเขาต้องการคุณที่สุด ลูกอยากได้กำลังใจจากคุณ อยากได้น้ำนมจากอกคุณ อยากสัมผัสคุณ อยากได้ยินเสียงคุณ อยากได้กลิ่นคุณ และอยากให้คุณอยู่ตรงนั้น คุณเท่านั้นที่จะทำได้ เพราะคุณเท่านั้นที่เป็นแม่ของเขา
ขอเพียงคุณแม่เข้มแข็ง และยืนหยัดสู้เพื่อลูก ไม่ทำสิ่งผิดพลาดข้างต้น เราเชื่อว่า เจ้าตัวน้อยจะฟื้นตัวในเร็ววัน ด้วยความรักที่ได้รับจากคุณนั่นเองค่ะ
ที่มา www.verywell.com
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
เรื่องที่พ่อแม่ควรรู้ เมื่อลูกต้องเข้า NICU
ห้องอภิบาลทารกแรกเกิดภาวะวิกฤต (NICU) คืออะไร?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!