ลักษณะของครอบครัวในปัจจุบัน
ในสมัยก่อนครอบครัวของคนไทยจะมีลักษณะเป็นครอบครัวใหญ่ นอกจากจะมีพ่อ แม่ ลูก อยู่ด้วยกันแล้ว อาจรวมปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา อยู่ด้วยกัน แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ครอบครัวมีขนาดเล็กลง คนเป็นแม่เคยอยู่บ้านเลี้ยงลูกก็ต้องออกไปทำงานข้างนอก หน้าที่เลี้ยงลูกกลายอาจจะหาพี่เลี้ยงหรือไปฝากเลี้ยงที่สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือบางครอบครัวโชคดีที่มีปู่ ย่า ตา ยายช่วยเลี้ยง ประหยัดเงินและเชื่อมั่นในความปลอดภัยมากกว่าไปฝากคนอื่นเลี้ยง แต่บางครั้งให้ปู่ ย่า ตา ยายเลี้ยงก็จะมีปัญหาอื่น ๆ เหมือนกันนะคะ จะรับมือกับปัญหาอย่างไรให้สมานฉันท์ ติดตามอ่าน
รับมือปู่ย่าตายายเลี้ยงหลานอย่างไรให้สมานฉันท์ในครอบครัว
คุณพ่อคุณแม่ที่ฝากลูกปู่ ย่า ตา ยาย เลี้ยง แน่นอนว่าท่านเลี้ยงหลานตัวน้อยด้วยความรัก เคยมีคำโบราณบอกว่า พ่อแม่รักลูกมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรักหลานมากขึ้นไปเป็นทวีคูณ ทำให้อาจมีบ้างที่ท่านเลี้ยงตามใจ แต่ขัดใจพ่อแม่นี่สิ จะหาวิธีปรองดองกันในการเลี้ยง ทั้งเป็นลูกของพ่อแม่ และเป็นหลานของปู่ ย่า ตา ยายเช่นกัน สิ่งสำคัญคุณแม่ต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเอง และพยายามคิดในแง่บวก อย่านำความไม่พอใจในการเลี้ยงมาเป็นปัญหา เพราะทุกคนต่างก็อยากเลี้ยงลูกหลานให้ดี เพียงแต่มีแนวทางเลี้ยงในแบบของตนซึ่งต้องพูดคุยหาทางประนีประนอมทุกฝ่าย
แนวทางการเลี้ยงหลานอย่างสมานฉันท์
1.หลีกเลี่ยงการปะทะ
ข้อนี้ถือเป็นอันดับหนึ่งเลยค่ะ ไม่ควรใช้อารมณ์ซึ่งกันและกัน เข้าใจว่าคุณแม่อาจจะเหนื่อยจากการทำงานข้างนอกมาก เมื่อกลับมาบ้านแล้วหากมีเสียงบ่นของปู่ ย่า ตา ยาย บ้างถึงความเหนื่อยในการเลี้ยงหลาน หรือคำตำหนิใด ๆ ก็ตาม ให้นิ่งและอดทนนะคะ รับคำ “ค่ะ”ไปเท่านั้น หรืออาจจะลองมุกใหม่ ๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจให้ด้วยการชวนคุยเรื่องอื่น เช่น ความซุกซนของเจ้าตัวเล็ก ความน่ารักน่าชัง คุยเรื่องทั่ว ๆ ไปนะคะ พยายามเลือกเรื่องดี ๆ ฟังแล้วรู้สึกสบายใจ รื่นรมย์ ที่สำคัญระมัดระวังเรื่องสีหน้า แววตาด้วยนะคะ ไม่ใช่พูดเรื่องดี ๆ แต่สีหน้าไม่ให้ความร่วมมืออันนี้ก็ไม่ได้นะคะ เชื่อว่าไม่ยากเกินไปสำหรับคุณแม่แน่ ๆ ใช่ไหมคะ
2.อย่าทำตัวเป็นฝ่ายค้าน
เราไม่ได้อยู่ในคณะรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องค้านใคร แต่เราอยู่ในครอบครัวความสมานฉันท์ปรองดองถือเป็นสิ่งสำคัญ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องเถียงไปทุกเรื่องก็ได้ พยายามหาจุดบวกของท่าน เช่น ท่านช่วยเราเลี้ยงลูก ความใจดีอ่อนโยนที่มีต่อหลาน การมองหาจุดบวกทำให้คุณแม่หงุดหงิดน้อยลง และใจเย็นมากขึ้น จัดการปัญหาด้วยสติ หากท่านให้คำแนะนำอะไรมาหากไม่ขัดแย้งกับความคิดเกินไปนักก็ควรรับฟังไว้บ้างเพราะบางทีท่านสิ่งที่ท่านพูดก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ดังนั้น อย่าเพิ่งรีบค้านนะคะ การรับฟังไว้ก่อนเป็นเรื่องดี แต่เราจะปฏิบัติหรือไม่นั้นก็ดูตามความเหมาะสม หรืออาจจะลองนำวิธีการที่ท่านแนะนำมาปรับใช้ดูก็ได้นะคะ
3.เห็นพ้องต้องกัน
วิธีการเลี้ยงดูหลานของปู่ ย่า ตา ยาย บางอย่างถ้าไม่ตรงใจก็ต้องรับฟังถึงเหตุผลของท่าน สมมติว่า คุณย่าพูดว่า คุณแม่ใจดีกับลูกมากเกินไป ต้องตีเสียบ้าง ถ้าคุณแม่คัดค้านว่าการตีลูกเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็จะมีปัญหาต่อไปอีก แต่เปลี่ยนเป็นรับฟังและถามว่าตนเองนั้นใจดีในเรื่องใดบ้าง เผื่อจะได้ปรับปรุง จำไว้นะคะ ผู้ใหญ่ท่านชอบให้เรารับฟังความคิดเห็นของท่านบ้าง ซึ่งคุณแม่อาจจะไม่ต้องทำอะไรมาก ลองปรับทัศนคติใหม่รับฟังท่านบ้าง หากเรื่องใดที่นำมาปฏิบัติแล้วได้ผลอย่างไร ก็บอกให้ท่านทราบ รับรองว่าท่านต้องปลื้มใจที่เราเชื่อฟัง เพียงแค่นี้ก็ไม่มีปัญหาแล้วค่ะ
4.มีความยืดหยุ่น
ปัญหาในเรื่องนี้มักจะเกิดกับคุณแม่มือใหม่ คุณแม่บางคนเข้มงวดในการเลี้ยงลูกมากเกินไป จัดตารางเป็นแบบแผนเอาไว้เพื่อให้ปู่ ย่า ตา ยาย ทำตามเพราะเชื่อมั่นว่าสิ่งนั้นดีและเหมาะสมกับลูกของตน หากท่านไม่ทำตามตารางที่คุณแม่วางไว้เผลอไปดุท่าน ก็เป็นสิ่งไม่สมควรนะคะเพราะอย่างไรท่านก็เลี้ยงเรามาก่อน เช่น คุณแม่กำหนดเวลาว่าต้องให้ลูกนอนนอนตอนเที่ยง พอโทรกลับบ้านสอบถามคุณยายลูกยังเล่นอยู่เลยไม่ยอมนอน ก็ควรฟังเหตุผลก่อนนะคะ ว่าทำไมลูกถึงยังไม่นอน ไม่ใช่รีบดุคุณยายก่อนเลยทำไมไม่ให้หลานนอนนี่ก็เที่ยงกว่าแล้ว เป็นต้น อย่าลืมว่าในวันนี้ท่านเป็นปู่ ย่า แล้วเราต้องให้ความรพ ดังนั้น คุณแม่ควรจะปรับความคิดของตนเองให้มีความยืดหยุ่น จะไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดเกินไปสำหรับทุกฝ่าย เรื่องใดไม่สำคัญก็ปล่อย ๆ ไปบ้าง
5.กฎของแม่
หากลูกโตพอที่จะรู้เรื่องแล้ว อย่างเด็กในช่วงวัย 3 – 5 ขวบ อาจจะสับสนกับระเบียบที่เคร่งครัดของแม่ ชอบกฎสบาย ๆของคุณยายมากว่า คุณแม่อย่ากังวลเกินไป ระหว่างกฎของยายกับแม่ เช่น ห้ามไม่ให้ลูกกินขนมกรุบกรอบ แต่คุณยายก็ซื้อให้ เพราะในเวลานั้นเด็กอาจจะร้องไห้จนคุณยายไม่รู้จะทำยังไงก็ต้องซื้อให้เป็นต้น คุณแม่ก็อย่าไปดุว่า คิดเสียว่ามันก็ต้องมีบ้างเด็ก ๆกับขนบกรุบกรอบ คุณแม่อาจจะหาเวลาคุยกับลูกเรื่องขนมที่ไม่มีประโยชน์กินเข้าไปจะเกิดผลเสียอย่างไร หรือในบางคราวแม้ว่าเจ้าตัวเล็กจะป่วนไปบ้างแต่ที่สุดแล้วเขาก็จะกลับมาเข้าที่เข้าทางได้เองเพราะเคยชินกับกฎของคุณแม่ และคิดได้ว่าหากเล่นซนปีนป่ายอาจจะตกลงมาหัวแตก ขาหักก็ได้ เป็นต้น แล้วคุณแม่ค่อยหาโอกาสพูดคุยกับคุณยายว่าควรเอาจริงเอาจังให้มากขึ้น แต่เป็นการพูดคุยแบบถามความคิดเห็นก่อนนะคะไม่ใช่มุ่งประเด็นต่อว่า หรือโจมตีว่าเป็นเพราะยาย อันนี้คงไม่ดีแน่ ๆ
6.อ้างคุณหมอ
แต่ไม่ควรใช้บ่อยนะคะ เป็นการพูดคุยแบบสบายๆ แบบว่าได้ยิน ได้ฟังมา หรือคุณหมอบอกมา เป็นต้น เรียกว่ายืมคุณหมอมาเป็นที่กำบัง แต่ไม่ควรใช้บ่อยนะคะจะผิดใจกันเปล่า ๆ
7.เรียนรู้ไปด้วยกัน
คุณแม่อย่าลืมว่าเวลาในการเลี้ยงลูกและอยู่กับลูกในช่วงวัน แน่นอนว่าคุณยายย่อมมีเวลามากกว่า ดังนั้น คุณแม่ควรรับฟังท่านและหาข้อมูลเรื่องการเลี้ยงดูมาคุยกันแบบสบาย ๆ เพื่อให้ท่านค่อย ๆ เปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ แต่คุณแม่เองก็ต้องเปิดใจด้วยนะคะ พูดคุยแลกเปลี่ยนกันค่อย ๆ ปรับทัศนคติระหว่างกัน หาเวลาที่สมาชิกในบ้านสบายใจมานั่งคุยกันเรื่องของเด็ก ๆ โดยอาจใช้วิธีถามว่า ตอนนี้การเลี้ยงดูหลานของคุณยายมีปัญหาลำบากใจอะไรไหม อยากให้ช่วยอะไรบ้าง เช่น ตอนนี้เด็ก ๆ เริ่มเอาแต่ใจตัวเอง ไม่ได้ดั่งใจก็งอแง แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ค่อยคุยว่าสาเหตุน่าจะมาจากอะไร เราจะร่วมมือกันแก้ไขอย่างไร อย่าทำให้ท่านรู้สึกว่าเพราะท่านตามใจหลานจึงเอาแต่ใจตัวเอง ค่อย ๆพูดเพื่อปรับแนวทางการเลี้ยงดูให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน การเลี้ยงดูของปู่ ย่า ตา ยาย มีสิ่งดี ๆ ให้คุณแม่มองเห็นมากมาย ลองเลี่ยนมุมมองและยืดหยุ่นกับเรื่องต่าง ๆจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างนุ่มนวลมากกว่าที่จะเฝ้าจับจ้องแต่ปัญหา อย่าลืมว่าลูกไม่ใช่ของพ่อแม่เท่านั้นนะคะ ยังเป็นหลานของปู่ ย่า ตา ยายด้วย ทุกคนก็รักและปรารถนาดีกับเจ้าตัวน้อยด้วยกันทั้งสิ้น เปิดใจให้เกิดสมานฉันท์ในครอบครัวดีที่สุดค่ะ
คุณแม่คนไหนให้ปู่ ย่า ตา ยาย เลี้ยงลูกบ้างคะ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันคะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
myfirstbrain.com
women.mthai.com
บทความอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง
หยุดปู่ย่าตายายไม่ให้ตามใจหลานเกินไป
5 เคล็ดลับสำหรับพ่อแม่ เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เครียด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!