ข้อมูลล่าสุดจากกรมควบคุมโรคซึ่งได้วิเคราะห์สถานการณ์โรคในระบบเฝ้าระวังต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของการเกิดโรคและนำมาพยากรณ์โรคติดต่อเพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อที่สำคัญในปี 2559 คาดว่ามี 5 โรคติดต่อที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ โรคไข้เลือดออก อหิวาตกโรค โรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก และโรคไข้กาฬหลังแอ่น เรามาทำความรู้จักกับทั้ง 5 โรคติดต่อที่ต้องจับตานี้ เพื่อสังเกตอาการและป้องกันโรคอย่างถูกต้องในเด็ก ๆ กันนะคะ
1. โรคไข้เลือดออก
โรคนี้มีกระแสแรงมาก ในปี 2558 เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้ยินชื่อโรคนี้อย่างแน่นอน ไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อว่าเดงกี่ มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เด็กจะมีอาการมีไข้สูง ปวดศีรษะเวลามีไข้และมีเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ เช่นจุดเลือดออก เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ นอกจากนั้นอาจมีอาการร่วมอื่นๆ คือ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนช็อค หมดสติได้
โรคนี้ระบาดมากช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค.ซึ่งเป็นฤดูฝน
เราสามารถป้องกันการติดเชื้อไข้เลือดออกได้ด้วยการป้องกันไม่ให้ยุงกัดและการกำจัดยุงลายค่ะ
2. อหิวาตกโรค
เป็นโรคท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อว่า Vibrio cholera ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง อุจจาระมักจะไหลพุ่ง โดยไม่มีอาการปวดท้อง ลักษณะอุจจาระเหมือนน้ำซาวข้าว ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีอาการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรงจนช็อกได้
การป้องกันอหิวาตกโรคทำได้โดยรักษาสุขอนามัยการขับถ่าย ล้างมือให้สะอาด ทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกร้อน ดื่มแต่น้ำที่สะอาดนะคะ
3. โรคไข้หวัดใหญ่
เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบระบาดเยอะในปีที่ผ่านมา เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจากทางเดินหายใจ ทางน้ำมูก น้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย หรือไปจับสิ่งของที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย อาการของไข้หวัดใหญ่มักเริ่มจากมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดตามตัว อ่อนเพลีย คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ และอาจมีอาการของระบบร่างกายอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วยได้
การป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ทำได้โดยการฉีดวัคซีนที่ สอนให้ลูกล้างมือให้สะอาด ไม่เอามือไปแคะจมูกหรือเอามือเข้าปาก ไม่คลุกคลีกับเพื่อนที่ป่วยค่ะ
4. โรคมือเท้าปาก
โรคนี้พบระบาดตามโรงเรียนอยู่เป็นระยะ ๆ ค่ะ เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม เอนเทอโรไวรัส อาการของเด็กมักมีไข้ต่ำๆ มีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซึ่งเห็นได้ชัด อาจมีผื่นที่รอบก้น อวัยวะเพศ ลำตัว และแขน ขา ได้ เจ็บปาก น้ำลายไหล มีแผลที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก หากเป็นการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 อาจมีอาการรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
การป้องกันโรคมือเท้าปากทำได้โดยการสอนเด็กให้รู้จักล้างมือ ทำความสะอาด ดูแลสุขอนามัยทั่วไป ไม่พาเด็กไปที่ ๆ มีคนเยอะ อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ในช่วงที่มีการระบาดนะคะ
5. โรคไข้กาฬหลังแอ่น
โรคไข้กาฬหลังแอ่นนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ Neisseria meningitides ทำให้เกิดอาการไข้ มีผื่นขึ้น รูปร่างคล้ายดาวกระจาย ลักษณะเป็นจ้ำเลือดเหมือนฟกช้ำบริเวณลำตัวส่วนล่าง ขา เท้า และบริเวณที่มีแรงกดบ่อยๆ เช่น ขอบกางเกง ขอบถุงเท้า ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง อาจสับสน หรือไม่ค่อยรู้สึกตัวได้ ถ้ามีอาการรุนแรงจะช็อก เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว สามารถติดต่อได้ง่ายทางการหายใจ ไอจามรดกัน หรือสัมผัสน้ำลายผู้ป่วย
การป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น ก็คือการไม่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย และหากได้ไปใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยไม่รู้ตัว ต้องรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับยาปฏิชีวนะที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อทันทีค่ะ
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
เมื่อลูกไม่สบายจะพาไปฉีดวัคซีนดีไหม?
หลอดลมฝอยอักเสบจากไวรัส RSV สาเหตุสำคัญของอาการหอบในเด็กเล็ก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!