3 วิธีชนะการแท้งลูก การแท้งบุตร อาการแท้ง คุกคาม แท้งค้างคืออะไร

“แท้ง” คำนี้คงไม่มีแม่ตั้งครรภ์คนไหนพึงปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นภาวะแท้งคุกคาม แท้งซ้ำซาก หรืออะไรก็ตามที่ต้องสูญเสียลูกในท้องไป แต่หากมันเคยเกิดขึ้นแล้ว เมื่อตั้งครรภ์ครั้งนี้ต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก มาดูวิธีการว่าจะทำอย่างไรป้องกันไม่ให้เกิดการแท้งอีก ติดตามอ่านค่ะ

เรื่องสุดเศร้า แม่ท้องปวดท้องเหมือนปวดประจำเดือน แต่กลับเกิดเหตุไม่คาดฝัน การแท้งบุตร พร้อมคำแนะนำ 3 วิธีชนะการแท้งลูก

 

ภาวะแท้งคุกคาม การแท้งบุตร

คุณแม่ได้เล่าเรื่องราวสุดเศร้าไว้ว่า #แท้งคุกคาม อยากแชร์ประสบการณ์ที่แม่ ๆ หลายคนมักถามเรื่องปวดท้องน้อยค่ะ คือเราเพิ่งรู้ตัวว่า ตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน ก็หยุดทำงานหนักก่อนหน้านั้นก็ทำงานปกติ พอรู้ว่าท้องก็ดูแลตัวเองอย่างดี

หลังจากที่เราหยุดทำงานได้ประมาณเกือบ 2 อาทิตย์ ก็มีอาการเจ็บท้องปวดท้องเหมือนจะเป็นประจำเดือน เดินนิด ๆ หน่อย ๆ ก็เจ็บ เราก็คิดว่าเราคิดไปเองเลยไม่ได้ไปหาหมอ (ท้อง2) แต่มันไม่หยุดแค่นั้นเราปวดท้องหนักมากจนทำงานไม่ไหว ไปหาหมอคลีนิกที่เราไปฝากท้องเค้าก็บอกปวดท้องปกติ แล้วให้ยาแก้ปวดมากิน กลับมาบ้าน เราก็กินยาแต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเบาลงเลย คืนนั้นปวดท้องจนไข้ขึ้นสูงมาก ช่วงเช้าเลยไปที่รพ.

เราไปถึงก็แจ้งพยาบาลว่ามีอาการปวดท้อง พยาบาลก็ให้เราเก็บปัสสาวะตอนที่เช็ดทำความสะอาดมีเลือดออกนิดหน่อย พยาบาลให้รอหมอใหญ่ประมาณ 10:00 น. เราก็นอนรอ ประมาณ 09:00น. เริ่มรู้สึกเหมือนเป็นประจำเดือนเลยขอเข้าห้องน้ำ

แค่เราถอดกางเกงออกก็มีก้อนเลือดเยอะมากไหลออกมา พยาบาลก็ให้ใส่ผ้าอนามัย

พอหมอใหญ่มาเค้าก็อัลตราซาวด์ดูน้องก็ปกติหัวใจก็เต้น ตัวก็ยังขยับ เค้าก็ตรวจภายในให้เราแล้วบอกว่ามดลูกอับเสบติดเชื้อมีภาวะแท้งคุกคาม หมอฉีดยากันแท้งให้ยาฆ่าเชื้อ 8 กระปุก แอดมิท 2 คืน ห้ามลุกจากเตียงแม้แต่เข้าห้องน้ำ ให้ฉี่ อึบนเตียงลำบากมาก แต่ก็ยังมีเลือดไหลตลอด แต่เราก็ยังมีความหวังว่ายังไงลูกก็อยู่กับเรา

พอถึงวันที่จะออกจาก รพ. หมอพาไปอัลตราซาวด์อีกครั้ง คำตอบที่ได้คือ

อ้าว!!คุณแม่ น้องไม่อยู่แล้วค่ะ น้องหลุดไปแล้ว

ช็อคมาก!! สั่นไปหมดเลือดที่ออกมา ที่เรากดลงชักโครกมันคือลูกของเรา เรากดลูกทิ้งลงไปกับมือ ได้แต่โทษตัวเองตลอดเวลาว่าเป็นเพราะเราดูแลเค้าไม่ดี สงสารลูกมากค่ะ ได้แต่รอให้เค้ากลับมาใหม่ สัญญาจะดูแลให้ดีที่สุด

ฝากแม่ ๆ ที่ถามเรื่องปวดท้อง ถ้ามีอาการปวดเมื่อไรแนะนำรีบไปพบคุณหมอเลยค่ะ ถ้าไม่อยากเป็นแบบเรา นี่คือรูปแรกและรูปสุดท้ายที่ได้เห็นลูก ขอบคุณที่อ่านจนจบนะคะ (หมอบอกถ้าไปช้ากว่านี้อาจจะตกเลือดและเสียชีวิตทั้งแม่ทั้งลูก)

 

3 วิธีชนะการแท้งลูก อาการแท้ง

 

ทางทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ ขอแสดงความเสียใจด้วยนะคะ และขอขอบคุณคุณแม่ที่มาแชร์ประสบการณ์ เป็นการเตือนใจคุณแม่ท่านอื่น ๆ ให้ระมัดระวัง นอกจากนี้ เรายังมีข้อมูลดี ๆ เพื่อให้คุณแม่ป้องกันไว้ก่อน โดยเฉพาะช่วงท้องอ่อน ๆ หรือคนท้องไตรมาสแรก ดังนี้

 

3 วิธีชนะการแท้งลูก

3 วิธีชนะการแท้งลูก อาการแท้ง

 

วิธีที่ 1  ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์

การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญ เรียกว่าเป็นปราการด่านแรก  เพราะเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาในตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่จะตามมา  แม่ท้องที่มีการวางแผน กับไม่มีการวางแผนในการตั้งครรภ์   จะให้ผลออกมาต่างกันอย่างมาก การตรวจสุขภาพก่อนการท้องก็เพื่อที่จะให้เกิดความปลอดภัย และไม่มีผลเสียต่อสุขภาพของคุณแม่   อย่าลืมว่า ผู้หญิงที่มีโรคประจำตัวกับผู้หญิงที่แข็งแรงเมื่อตั้งครรภ์จะให้ผลต่างกัน เนื่องจาก

1. การท้องอาจจะทำให้โรคที่เป็นอยู่แย่ลง

2. โรคหรือยาที่เป็นอยู่อาจจะส่งผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น ผู้ที่รับประทานยาแก้ปวดบางชนิดเป็นต้น จะมีผลต่อลูกในท้องหรือเสี่ยงต่อการแท้งได้

3. แม่ท้องที่มีโรคประจำตัว หากรับประทานยาเป็นประจำควรจะแจ้งคุณหมอก่อนการตั้งครรภ์ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์

4. สำหรับแม่ท้องที่เคยแท้งบุตร หรือคลอดก่อนกำหนด คุณหมอจะได้หาสาเหตุเพื่อให้การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปสมบูรณ์

 

สรุปเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์   มีดังนี้

1. เตรียมความพร้อมด้วยการตรวจสุขภาพทั้งคุณแม่และคุณพ่อ หากมีปัญหาสุขภาพให้ทำการรักษาหรือควบคุมโรคก่อนที่จะวางแผนตั้งครรภ์  เช่น ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะต้องควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อน  หากมีน้ำหนักตัวมาก ควรพยายามลดความอ้วนด้วยการออกกำลังกายและควบคุมอาหารตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์

2. หากวางแผนที่จะตั้งครรภ์ ควรรับประทานกรดโฟลิกล่วงหน้า 2-3 เดือน เพื่อป้องกันความผิดปกติหรือพิการในทารก เช่น โรคปากแหว่งเพดานโหว่ และกระดูกสันหลังแหว่งหรือเปิดในทารก

บทความแนะนำ  แม่ท้องขาดกรดโฟลิกทำให้ลูกเสี่ยงพิการและพัฒนาการล่าช้า

3. ฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ควรแจ้งประวัติส่วนตัว ประวัติโรคที่เป็นให้แพทย์ทราบอย่างละเอียดเพื่อวางแผนการดูแลรักษา และมาพบแพทย์เป็นระยะตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

บทความแนะนำ  ท้องแล้ว ควรฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี?

4. หลีกเลี่ยงการเดินทางหรือกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดผลต่อครรภ์ได้

5. คุณแม่ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ควรควบคุมอาหารและออกกำลังกาย โดยปรึกษาคุณหมอถึงการออกกำลังกายที่ไม่มีผลต่อการตั้งครรภ์ และหมั่นตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง

 

วิธีที่ 2 สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ในช่วงไตรมาสแรก (1 – 3 เดือน)

1. หลีกเลี่ยงการเดินทางไกลหรือสัมผัสคนที่เป็นโรค เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนหรืออุบัติเหตุที่รุนแรง รวมทั้งการได้รับเชื้อโรคจากแหล่งแพร่โรคต่างๆ

2. ห้ามซื้อยามาทานเองในระหว่างตั้งครรภ์ โดยขาดความรู้หรือไม่ได้ปรึกษาคุณหมอ

3. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมทั้งการสูบบุหรี่ด้วย

บทความแนะนำ  บุหรี่มหันตภัยร้ายต่อลูกในครรภ์

4. พยายามพักผ่อนและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้เพียงพอ งดดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลมทุกชนิด รวมถึงอาหารต้องห้ามยามตั้งครรภ์ต่าง ๆ เช่น ของหมักดอง อาหารที่มีรสเค็ม เป็นต้น

บทความแนะนำ  อาหารสำหรับคนท้อง: อะไรควรกินอะไรควรเลี่ยง?

5. ไม่ควรอุ้มเด็ก หรือยกของหนักขณะตั้งครรภ์ เพราะนอกจากเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์แล้ว ยังมีผลต่อกระดูกสันหลังของคุณแม่ด้วย

6. พยายามอย่าเครียด หรือหาวิธีคลายเครียดอย่างเหมาะสม อาจจะใช้การฟังเพลง, การนวดเพื่อผ่อนคลาย รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่าจมอยู่กับปัญหา อาจมีการระบายความเครียดด้วยการพูดคุยกับเพื่อนหรือสามีก็จะช่วยให้ระบายและลดความเครียด รวมถึงอาจจะช่วยกันแก้ไขปัญหาได้อีกด้วย

 

 

วิธีที่ 3  ยากันแท้ง

ยากันแท้ง  คือ   ยาฮอร์โมนพวกโปรเจสเตอโรนสังเคราะห์ หรือยาอื่นในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งมีทั้งชนิดฉีดและเป็นเม็ดใช้กิน ยานี้จะมีประโยชน์เฉพาะสำหรับผู้ที่ขาดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเท่านั้น  ยากันแท้งจะช่วยให้ผนังมดลูกคุณแม่หนาขึ้น ช่วยไม่ให้ผนังมดลูกหลุดง่ายเกินไป ที่สำคัญยากันแท้งจะต้องให้เพื่อป้องกันก่อนจะแท้ง คือ ก่อนที่จะมีเลือดออก โดยเฉพาะในรายที่มีประวัติการแท้งมาก่อน ถ้าเริ่มให้เมื่อเลือดออกแล้วก็อาจจะได้ผลไม่เต็มที่นัก

ยากันแท้ง ใช้สำหรับใครบ้าง

1. คุณแม่ที่เคยแท้งมาก่อน คุณแม่กลุ่มนี้อาจยังไม่มีเลือดออกขณะตั้งครรภ์แต่เคยมีประวัติแท้งมาก่อนคุณหมออาจพิจารณาให้ใช้ยากันแท้งค่ะ

บทความแนะนำ  5 ความกังวลของคนเคยแท้ง

2. คุณแม่ที่มีภาวะแท้งคุกคาม คือ ตั้งครรภ์ไปได้ระยะหนึ่ง  แล้วมีเลือดออกทางช่องคลอด เมื่อคุณหมอพิจารณาแล้วว่าคุณแม่อาจจะมีภาวะแท้งคุกคาม ก็จะฉีดยากันแท้งให้ ซึ่งคุณแม่บางคนใช้แล้วก็ป้องกันได้ ในขณะที่คุณแม่บางคนใช้แล้วไม่มีผลอะไรเลยค่ะ เพียงแต่เป็นวิธีการป้องกัน 

บทความแนะนำ  ภาวะแท้งคุกคามมีสาเหตุจากอะไร

ข้อควรระวังเมื่อได้รับยากันแท้ง

1. เมื่อคุณแม่ได้รับยานี้แล้ว คุณแม่ต้องนอนพักเฉย ๆ ห้ามทำงานเด็ดขาด ลุกเข้าห้องน้ำ หรือ ลุกทานข้าวได้ตามปกติ

2. ยากันแท้งนั้นคุณแม่ไม่ควรหาซื้อมาใช้เอง ควรจะปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ก่อนว่าร่างกายของเรามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องใช้ยากันแท้ง ซึ่งตามปกติแล้วการจะใช้ยากันแท้งนั้นจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอที่ฝากครรภ์เท่านั้นนะคะ

แชร์ประสบการณ์ :

คุณแม่ท่านหนึ่งได้แชร์ประสบการณ์ไว้ว่า ขออนุญาตบอกเล่าเรื่องราว  เพราะตนเองก็เคยฉีดยากันแท้งมาแล้วค่ะ ตอนท้องลูกคนแรก  มีเลือดออกในช่วงไตรมาสแรก คุณหมอเกรงว่าจะแท้ง  จึงฉีดยากันแท้งไว้ หลังจากฉีดยาแล้ว ห้ามทำอะไรเลย ต้องนอนนิ่ง ๆ เป็นอาทิตย์เลยค่ะ ห้ามขึ้น-ลงบันได ห้ามเดินทางไปไหนมาไหน ลุกเข้าห้องน้ำได้เท่านั้น แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นด้วยดีนะคะ ตอนนี้ลูกสาว 2 คนแล้วค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคนนะคะ

 

สารพัดแท้งที่ควรรู้

การแท้งบุตร หมายถึง การสิ้นสุดของการตั้งครรภ์ก่อนที่ทารกที่คลอดออกมาจะมีชีวิตรอด  การแท้งแบ่งออกเป็น

1. แท้งคุกคาม (Threatened abortion) แม่ท้องจะมีอาการปวดท้องน้อย  มีเลือดออกทางช่องคลอดกระปริดกระปรอย เลือดออกไม่มาก แท้งกรณีนี้คุณแม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีกมีโอกาส 50% แต่ก็มีโอกาสแท้งประมาณ 50% เช่นกัน

2. แท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (Inevitable abortion) จะมีอาากรปวดท้องน้อยมากขึ้น มีเลือดออกทางช่องคลอดมากขึ้น บางครั้งมีการแตกของถุงน้ำคร่ำร่วมด้วยปากมดลูกเปิดแล้ว ไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ ต้องสิ้นสุดด้วยการแท้ง

3. แท้งไม่ครบ (Incomplete abortion) เป็นการแท้งเพียงบางส่วนของทารกหรือของรกอีกส่วนหนึ่งยังเหลือค้างในโพรงมดลูก ทำให้แม่ตั้งครรภ์อาการปวดท้องน้อยมากและมีเลือดออกทางช่องคลอดมาก

4. แท้งครบ (Complete abortion) เป็นการแท้งทารกและรกออกมาทั้งหมด แม่ท้องจะมีอาการปวดท้องน้อย มีเลือดออก มีชิ้นเนื้อหลุดออกมาแล้วเลือดออกลดลงอาการปวดท้องหายไป

5. แท้งค้าง (Missed abortion) หมายถึง ทารกในครรภ์เสียชีวิตมานานกว่า 8 สัปดาห์ในครรภ์แม่ตั้งครรภ์จะรู้สึกถึงอาการแบบคนท้องปกติ  คือ มดลูกมีขนาดโตขึ้น แล้วต่อมาอาการต่าง ๆ เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียนหายไป และมดลูกมีขนาดเล็กลง เพราะทารกไม่มีการเจริญเติบโตนั่นเอง

6. แท้งเป็นอาจิณ (Habitual abortion) หมายถึงการแท้งติดต่อกันตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป สาเหตุเกิดจากปากมดลูกปิดไม่สนิท (Cervical incompetence) หรือ การขาดฮอร์โมนเพศหรือมีความผิดปกติของโครโมโซม

7. แท้งติดเชื้อ(Septic abortion) หมายถึง มีการแท้งร่วมกับมีการอักเสบติดเชื้อทำให้มีไข้ ปวดท้อง เลือดออกทางช่องคลอด

บทความแนะนำ  อาการเลือดออกจากช่องคลอดขณะตั้งครรภ์บอกอะไร?

เรื่องการแท้ง  คงไม่มีใครชอบหรืออยากได้ยินเพราะมันกระทบกระเทือนจิตใจคุณแม่  ดังนั้น  การดูแลตนเองตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จึงเป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติ รวมถึงการไปพบคุณหมอตามนัดทุกครั้ง  เพื่อตรวจร่างกายของคุณแม่รวมถึงตรวจดูทารก  ทั้งจากการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ  การตรวจอัลตราซาวนด์  เพื่อป้องกันการแท้งและความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

ร่วมแชร์ประสบการณ์บอกเล่าเรื่องราวการตั้งครรภ์และการดูแลครรภ์จนถึงคลอด เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเป็นประโยชน์แก่ครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ

 

ที่มา

haamor

2

3

bumrungrad

Jasminepregnancypillow

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ตกเลือดคือการทำแท้งหรือไม่

อาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์ แบบไหนที่ต้องเจอ 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 9

5 ความกังวลของคนเคยแท้ง

บทความโดย

Tulya