แม้สวัสดิการอื่นของหญิงไทยจะเทียบต่างชาติไม่ได้ เเต่การ ฝากท้องฟรี คลอดฟรี มีที่ไหน ที่นี่ไงประเทศไทย ก็มีไม่น้อยหน้าคุณเเม่ชาติอื่นๆ เลยนะคะ
ฝากท้อง ฟรี
ฝากท้อง ฟรี
คุณแม่ตั้งครรภ์มีสิทธิ์ฝากท้องฟรี โรงพยาบาลรัฐทุกที่ (โครงการแม่และเด็ก) จะได้รับบริการตรวจครรภ์ฟรี! 5 ครั้ง ได้แก่สัปดาห์ที่ 12, 18, 26, 32 และ 38
ตามที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบาย “โครงการส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ” ซึ่งเป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) ว่า ด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 เพื่อให้อัตราเกิดใหม่ มีการคลอดที่ปลอดภัย ทารกแรกเกิดมีสุขภาพแข็งแรง และพร้อมเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การฝากครรภ์เป็นสิทธิประโยชน์สำคัญที่หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับการดูแลตั้งแต่แรกเริ่มตั้งครรภ์ โดยหญิงตั้งครรภ์สามารถเข้ารับบริการฝากครรภ์ได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งโดยไม่เสียค่าบริการ
การฝากครรภ์ครั้งแรก ฝากท้องฟรี
ควรฝากครรภ์อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ (3 เดือน) จะได้รับบริการตรวจร่างกายและการตรวจครรภ์ ทั้งการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน ตรวจภายใน วัดความสูงยอดมดลูก
โดยทั่วไปร้อยละ 75 ของหญิงตั้งครรภ์สามารถให้การดูแลตามปกติ พร้อมกันนี้ยังจะได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ อาทิ การตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย โปรตีนและน้ำตาลในปัสสาวะ การตรวจเลือด ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง การคัดกรองโรค เช่น โรคซิฟิลิส เอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี และโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียทั้งหญิงตั้งครรภ์และสามี
นอกจากนี้ยังตรวจคัดกรองทางด้านสุขภาพจิตเพื่อประเมินภาวะซึมเศร้า และคัดกรองการสูบบุหรี่/การดื่มสุรา/การใช้ยาและสารเสพติด รวมถึงการให้วัคซีนคอตีบและบาดทะยักเข็มที่ 1 อีกด้วย หากผลตรวจพบว่าผิดปกติ หญิงตั้งครรภ์จะได้รับการดูแลรักษาหรือป้องกัน และในส่วนที่มีความผิดปกติขณะตั้งครรภ์จะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากบุคลากรทางการแพทย์
ฝากท้อง ฟรี
การฝากครรภ์ครั้งที่ 2
เป็นการตรวจช่วงอายุครรภ์ 13 – 18 สัปดาห์ เพื่อติดตามและดูการดิ้นของทารกในครรภ์ มีการตรวจร่างกายและตรวจครรภ์ การวัดความสูงของมดลูก ตรวจอายุของทารก ตรวจร่างกายทั่วไป จำนวนเด็กที่อยู่ในครรภ์ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ และกำหนดการคลอดได้อย่างถูกต้อง และการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ต่อเนื่องจากการฝากครรภ์ครั้งแรก การฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักเข็มที่ 2 และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่ออายุครรภ์ 16 สัปดาห์ขึ้นไป
การฝากครรภ์ครั้งที่ 3
เป็นการดูแลต่อเนื่องในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 19 – 26 สัปดาห์ โดยจะมีการตรวจร่างกาย การตรวจครรภ์โดยวัดความสูงมดลูก ฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ที่ต่อเนื่อง
การฝากครรภ์ครั้งที่ 4
เป็นการตรวจช่วงอายุครรภ์ 27 – 32 สัปดาห์ ติดตามอาการต่างๆ พร้อมทั้งตรวจร่างกาย วัดความสูงมดลูก ฟังเสียงหัวใจทารกรวมถึงการดิ้นทารกในครรภ์ การตรวจคัดกรองซิฟิลิสและเอดส์อีกครั้ง พร้อมแนะนำอาการเจ็บครรภ์
การฝากครรภ์ครั้งที่ 5
ช่วงอายุครรภ์ 33-38 สัปดาห์ หญิงตั้งครรภ์ได้รับการตรวจร่างกาย วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก นอกจากมีการติดตามตรวจครรภ์ วัดความสูงมดลูก และการดิ้นของลูกแล้ว ฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ ตรวจครรภ์แฝด ตรวจท่าเด็ก เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 36 สัปดาห์ จะได้การตรวจยืนยันท่าเด็กเมื่อคลอดด้วยเครื่องอัลต้าซาวน์ หากพบว่าส่วนนำในการคลอดเด็กผิดปกติ เช่น ท่าขวางหรือเท้า จะได้ดำเนินการส่งต่อต่อเพื่อเตรียมการคลอดที่ปลอดภัยทั้งมารดาและทารก การให้คำแนะนำอาการเจ็บครรภ์หรือมีน้ำเดิน นัดฝากครรภ์หรือนัดคลอดครั้งต่อไป
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า นอกจากนี้สิทธิประโยชน์หญิงตั้งครรภ์จะได้รับการดูแลทุกครั้งในการฝากครรภ์ คือการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์และคลอด การตรวจโปรตีนและน้ำตาลในปัสสาวะ ตลอดการตั้งครรภ์ถึงหลังคลอด
ยังได้รับวิตามินเสริมธาตุเหล็ก ไตรเฟอร์ดีน อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยการเจริญเติบโตของทารก การป้องกันความผิดปกติแต่กำเนิด โดยเฉพาะความพิการของสมองและไขสันหลังในช่วง 1 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาสมองและระบบประสาท รวมถึงยังช่วยให้เด็กน้ำหนักปกติ และไม่คลอดก่อนกำหนด หญิงหลังคลอดยังได้รับวิตามินเสริมธาตุเหล็กไตรเฟอร์ดีน กินต่อเนื่องนานถึง 6 เดือน
คลอดฟรี (ทั้งธรรมชาติ และผ่าคลอด)
ผู้ที่ใช้สิทธิ์บัตรทอง “เท่านั้น” ที่จะคลอดฟรีในโรงพยาบาลของรัฐ
ผู้ที่ใช้สวัสดิการประกันสังคมนั้นจะไม่ได้สิทธิ์นี้ แต่จะเบิกค่าคลอดได้จำนวนหนึ่ง
สิทธิคลอดฟรีนี้สำหรับคุณแม่ที่ไม่ได้ทำประกันสังคมหรือเป็นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ
หากท่านใดไม่มีบัตรทอง สามารถไปยื่นทำสิทธิบัตรทอง ได้ที่สถานีอนามัย โรงพยาบาลของรัฐ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หากมีข้อติดขัดหรือสงสัยในการรับบริการ ติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วน 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา สปสช. และ คุณเเม่ไฮเปอร์
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!