เด็กป่วยหน้าฝน
พ่อแม่ต้องดูแลลูกให้ดี เด็กป่วยหน้าฝน แอดมิทโรงพยาบาลกันเพียบ ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ RSV เฮอร์แปงไจน่า และโรคร้ายหน้าฝนอื่น ๆ อีกเพียบ พ่อแม่ต้องคอยสังเกตอาการลูก บ้านไหนมีทารกหรือเด็กเล็กยิ่งต้องระวังโรคหน้าฝนให้มาก ๆ
โรคในเด็กช่วงหน้าฝน
อากาศเปลี่ยนไปทุกวัน เดี๋ยวแดดออก ร้อนจัด อีกสักพักก็ฝนตก ทำให้คนป่วยกันเยอะ ขนาดผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ยังป่วยได้เลย นับประสาอะไรกับเด็กเล็กหรือทารก
เช่นเดียวกับหนูน้อยฮานะ ที่อยู่ ๆ ก็เกิดเป็นไข้ขึ้นมากะทันหัน คุณแม่ของเธอเล่าว่า ลูกสาวไข้ขึ้นสูงแบบฉับพลันเลย ไม่มีอาการใด ๆ ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก โดยมีอาการเริ่มแรกคือ เบื่ออาหาร ไม่ค่อยกินข้าว จากนั้น 2-3 วันไข้ขึ้น
- วันที่ 1 ไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส
- ในวันที่ 2 อาการตุ่มในปากเริ่มแสดง
- และวันที่ 3 คือเจ็บปากเจ็บแผล กินอะไรไม่ได้
ทางโรงพยาบาลต้องให้น้ำเกลือ เพราะเด็กจะขาดน้ำ อาการจะพีคช่วงวันที่ 3 เด็กจะงอแงมาก เพราะเจ็บในปาก หมอบอกว่าจะเป็น 5-7 วันแล้วแต่คน
แม่ของน้องฮานะยังบอกด้วยว่า ตอนนี้ในโรงพยาบาล มีเด็กป่วยเยอะมาก มีทั้งโรคเฮอร์แปงไจน่าและ RSV ความเสี่ยงที่คนเป็นแม่กังวลคือ ลูกมาโรงพยาบาลด้วยโรคใดโรคหนึ่ง แต่อาจจะติดโรคอื่นกลับบ้านไปด้วย
นอกจากนี้ คุณแม่ยังได้อัพเดตเรื่องราวผ่านเพจพาลูกเที่ยว ฮานะ ด้วยว่า แม่เลือกโรงพยาบาลใกล้บ้าน หลังจากหมอตรวจอาการเบื้องต้นและเห็นสภาพน้องโรยมาก ไปถึงโรงพยาบาลไข้ก็ยังสูง พยาบาลจับเช็ดตัวทันที หมอเตรียมจะให้แอดมิท ให้พยาบาลเช็คห้อง ซึ่งห้องไม่ว่าง เต็มทุกห้อง ตั้งแต่ก่อนลูกเข้าไปเสียอีก
คุณแม่จึงจองห้องพักล่วงหน้าของอีกโรงพยาบาล และแล้วลูกสาวก็ได้แอดมิท
“พยาบาลเล่าว่าช่วงนี้โรงพยาบาลเต็มมา 2 วันแล้ว เมื่อเช้าก็นอนรอเตียงเป็นสิบราย วันนี้วันเดียวแอดมิทไป 23 ราย นี่ขนาดโรงพยาบาลเอกชนยังไม่มีเตียงให้คนไข้เลย ถึงมีเงินก็ใช่จะนอนได้”
สรุปหนูน้อยฮานะ เป็นโรค เฮอแปงไจน่า (Herpangina) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบมากในเด็กเล็กอายุไม่เกิน 5 ปี โดยเชื้อแพร่ผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ อุจจาระ หรือการแพร่เชื้อที่ปนเปื้อนมาในน้ำ อาหาร ภาชนะ มือ ของเล่น โต๊ะเก้าอี้ จึงมักพบในโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก แต่ฮานะยังไม่ได้เข้าโรงเรียนและไม่ได้ไปเนิร์สเซอรี่ คาดว่าจะติดจากเพื่อนๆที่เล่นด้วยกันในคอนโด หรืออาจจะเป็นบ้านบอล ทั้งนี้ คุณแม่ยังได้เตือนให้สังเกตอาการของลูกน้อยด้วย วิธีสังเกตว่าลูกป่วยเป็นโรคเฮอแปงไจน่า เช่น
- โรคนี้จะพบไข้ขึ้นสูงในวันแรก พอวันที่สองจะเริ่มมีตุ่มเม็ดในปาก ทานอาหารไม่ค่อยได้ เบื่ออาหาร
- ซึมอย่างชัดเจน พอไข้ลดจะเล่นปกติ และกลับไปนอนซมอีก
- ถ้าพบไข้ 39-40 องศา ไข้ไม่ลด ถ้าไม่มีน้ำมูกและไอ ส่องดูเม็ดตุ่มจะขึ้นใต้เพดานในปากชัดมากในวันที่2-3
www.facebook.com/newskids2000/videos/2378957678984552/?t=2
ทางทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ขอขอบคุณ คุณแม่น้องฮานะ ที่มาแบ่งปันประสบการณ์ค่ะ
เฮอร์แปงไจน่าเกิดจากอะไร?
โรคเฮอร์แปงไจน่าเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในกลุ่ม เอนเตอโรไวรัส (Enterovirus) หลายชนิด ได้แก่ คอกแซคกีไวรัส และเอคโคไวรัส ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ย่อย ติดต่อได้จากการคลุกคลีกับผู้ป่วย แล้วสัมผัสกับน้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ ของผู้ป่วย
อาการของโรคเฮอร์แปงไจน่าเป็นอย่างไร?
ซึ่งโรคเฮอร์แปงไจน่าคล้ายกับโรคมือเท้าปากคือ
- ผู้ป่วยจะมีแผลในปากที่บริเวณเพดานปาก ลิ้นไก่ ด้านหลังของคอหอย
- แต่จะไม่มีมีผื่นสีแดง หรือตุ่มน้ำ ที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า
- อาจมีไข้สูงกว่าโรคมือเท้าปาก
- อาการไข้จะลดลงภายใน 2-4 วัน
- แผลในปากอาจคงอยู่ได้ประมาณ 1 สัปดาห์
รักษาโรคเฮอร์แปงไจน่าทำได้อย่างไร?
เนื่องจากโรคเฮอร์แปงไจน่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาได้จำเพาะเจาะจง
การดูแลผู้ป่วยจะใช้การรักษาตามอาการ ได้แก่
- การเช็ดตัวลดไข้ ทานยาแก้ปวดลดไข้ เพื่อบรรเทาอาการไข้และการเจ็บแผลในปาก
- หยดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปากก่อนทานอาหาร
- ทานอาหารอ่อน ไม่ควรทานอาหารร้อนจัดเพราะอาจกระตุ้นให้เจ็บแผลในปากได้
- อาจดื่มนมเย็น หรือไอศครีมได้ เพราะเนื่องจากความเย็นทำให้ชา ไม่เจ็บเวลากลืนและควรดื่มน้ำมากๆนะคะ
หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง คือ ไข้สูงลอย กินอาหารไม่ได้ มีอาการขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ตาโหล ปัสสาวะออกน้อยและมีสีเข้มผิดปกติ ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อรับการตรวจรักษาแยกจากโรคอื่นๆ เช่น โรคมือเท้าปาก หรือการติดเชื้อแบคทีเรียในลำคอ
อ่านเพิ่มเติม โรคเฮอร์แปงไจน่า: โรคระบาดน่ากลัว กลุ่มเดียวกับโรค มือ เท้า ปาก
เด็กป่วยหน้าฝน
RSV คืออะไร อาร์เอสวีติดต่ออย่างไร
ช่วงนี้เป็นฤดูฝน ประเทศไทยมักพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV) โดยเชื้อไวรัสนี้ติดต่อได้จาก
- การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
- เชื้อไวรัสอาร์เอสวีสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก
อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี
- ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน
- ผู้ติดเชื้อจะเริ่มตั้งแต่มีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ
- จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจเร็ว หอบเหนื่อยเนื่องจากปอดอักเสบ รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง
การรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ
สำหรับโรคนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่อาการจะรุนแรงในเด็กเล็ก เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังเช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยมักพบเชื้อไวรัสอาร์เอสวีได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับฤดูกาลระบาดของไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสจะมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้หลายชั่วโมงโดยอาศัยอยู่ตามวัตถุต่าง ๆ และแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการไอหรือการจาม
อ่านเพิ่มเติม อาร์เอสวี เชื้อไวรัสร้าย ทารก เด็กเล็ก ติดเชื้อไวรัส RSV ได้ง่ายช่วงหน้าฝน
ไข้หวัดใหญ่ การติดต่อของเชื้อ
รศ.พญ.สิริอร วัชรานานันท์ แพทย์อายุรกรรมโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวถึงโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ว่า เชื้อไวรัสที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย สามารถแพร่ติดต่อไปยังคนอื่น ๆ ได้ง่าย เช่น การไอหรือจาม หากอยู่ใกล้ผู้ป่วย บางรายได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก ในผู้ใหญ่อาจแพร่เชื้อได้นานประมาณ 3-5 วัน นับจากวันที่เริ่มป่วย ในเด็กเล็กสามารถแพร่ได้นานกว่าผู้ใหญ่ อาจพบได้ 7-10 วัน และอาจนานขึ้นไปอีก ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง
ความน่ากลัวของไข้หวัดใหญ่อย่างหนึ่งคือ การเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค ได้แก่ โรคปอดอักเสบ และโรคสมองอักเสบ
วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) วิธีการป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถทำได้เพียงดูแลตัวเองด้วย
- การปิดปากปิดจมูกเมื่อป่วย ไอ จามโดยใช้กระดาษทิชชู่ สามหน้ากากอนามัย หรือไอใส่ต้นแขนตนเอง
- ล้างมือบ่อยๆก่อนรับประทานอาหาร หลังไอจาม สั่งน้ำมูก จับต้องสิ่งของหรือพื้นผิวที่มีคนสัมผัส
- เลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่มีอาการป่วย มีไข้ ไอ จาม เลี่ยงสถานที่ที่คนมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก (โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาด)
- หยุดงาน หยุดเรียน หยุดกิจกรรมกับผู้อื่นเมื่อป่วย เพื่อให้หายป่วยเร็วและไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพื่อสร้างภูมิต้านทานและลดโอกาสเสี่ยง ซึ่งการได้รับวัคซีนเป็นหนึ่งวิธีการเพิ่มภูมิคุ้มกัน เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงทุกปี
อ่านเพิ่มเติม อาการไข้หวัดใหญ่ 2019 Influenza วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ สาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่
ช่วงหน้าฝนแบบนี้ เด็กป่วยกันง่าย พ่อแม่ต้องระวังลูกป่วยหน้าฝน โดยสังเกตอาการของลูกให้ดี หากลูกมีอาการผิดปกติ มีไข้ ไข้ไม่ลด ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
โรคหน้าฝน โรคที่มากับฤดูฝน ฝนตก ลูกเสี่ยงป่วยง่าย โรคไหนที่ต้องระวังในหน้าฝน โรคหน้าฝนในเด็ก
โรคมือเท้าปาก โรคใกล้ตัวเด็กวัยเรียน ทารก-เด็กเล็ก ก็มีโอกาสป่วยง่าย
วิธีป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่มากับฝน ถ้าไม่อยากให้ลูกป่วย ต้องทำแบบนี้!
ลูกชักจากไข้สูง อาการชักจากไข้สูงในเด็กอันตรายแค่ไหน? พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!