เด็กบางคนป่วยบ่อยและต้องไปหาหมอบ่อย ๆ แถมเด็กบางคนก็ยังไอบ่อยจนผิดสังเกต ลูก ๆ ของคุณแม่ไอถี่ในช่วงกลางคืนอยู่หรือเปล่าคะ ช่วงกลางวันก็ปกติดี แต่พอตอนกลางคืนกลับไอหนักมาก ๆ วันนี้ เราจะมาเล่าให้ฟังถึงอาการไอในช่วงกลางคืน ที่อาจนำไปสู่โรคร้ายทั้ง 3 โรคให้ได้ฟังกันค่ะ ลูกไอตอนกลางคืน จะอันตรายมากแค่ไหนกันนะ ไอหนักแบบไหนต้องไปหาหมอ มาดูกันเลยค่ะ
อาการไอ คืออะไร เป็นแบบไหน
อาการไอ เป็นกลไกป้องกันของร่างกาย ที่เกิดจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม ที่เล็ดลอดเข้าสู่ทางเดินหายใจ มีส่วนช่วยกำจัดเชื้อโรคในร่างกายของคนเรา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการไอจะเป็นกลไกที่ดูเหมือนจะมีประโยชน์ แต่บางครั้ง ก็เป็นสัญญาณของโรคร้ายได้เช่นเดียวกัน แถมยังเป็นตัวพาหะ ที่นำพาเชื้อโรคจากอีกคนไปสู่อีกคนได้ด้วย
อาการไอ เกิดจากอะไรได้บ้าง
อาการไอ อาจเกิดจากการที่เด็กเป็นหวัด ระคายเคืองที่ลำคอ ติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ กล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือเป็นโรคหอบหืด ซึ่งการไอของเด็ก จะแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอค่ะ
ลักษณะอาการไอของเด็ก มีแบบไหนบ้าง
เด็ก ๆ ที่มีอาการไอในช่วงตอนกลางคืน อาจมีลักษณะการไอ ดังนี้
- ไอแห้ง แต่ไม่มีไข้ ซึ่งอาจเกิดจากการแพ้หรืออาการหวัด
- ไอแบบมีเสมหะ ซึ่งอาจเกิดจากการที่ร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อโรคอยู่
- ไอเหมือนหมาเห่า อาการไอลักษณะนี้ อาจเกิดจากการที่หลอดลมของเด็กอักเสบ จนเกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจ และไอออกมาคล้ายเสียงหมาเห่า
- ไอกรน อาการไอแบบนี้ เด็กจะไอเป็นครั้ง ๆ มากกว่า 20 ครั้งติดต่อกันในครั้งเดียว เด็กจะหายใจได้ลำบากหลังจากที่ไอ รวมทั้งอาจมีอาการน้ำมูกไหลร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น ทารกควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนในระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์ และเมื่อลูกน้อยมีอายุได้ครบ 2 เดือนค่ะ
- ไอเสียงวี้ด อาการไอหายใจดังเสียงวี้ด ๆ นี้ เกิดจากที่ลูกหายใจขณะที่ไอ ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคหืด หรือหลอดลมอักเสบ
- ไอเรื้อรัง หากลูกมีอาการไอติดต่อกันหลายวัน อาจมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส ไซนัส โรคภูมิแพ้ หรือโรคหอบหืด
- ไอเพราะสิ่งแปลกปลอม หากมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ที่หลอดลมเด็ก เด็กจะไอเบา ๆ ไม่หยุด พร้อมกับอ้าปากค้าง
บทความที่เกี่ยวข้อง : แก้อาการไอเรื้อรัง 6 วิธีบรรเทาอาการไอ ที่แม่ต้องรู้!! ถ้าไม่อยากให้หนูป่วยนาน
ลูกไอตอนกลางคืน ไอถี่ ไอมาก ระวังสัญญาณ 3 โรคร้าย
เด็กหลาย ๆ คน มีอาการไอหนักมากในช่วงตอนกลางคืนโดยไม่ทราบสาเหตุ ตอนกลางวันเด็กมักจะไม่มีอาการไอใด ๆ เลย แต่พอช่วงเข้านอน กลับไอซะงั้น ซึ่งอาการไอที่ว่านี้ อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพเหล่านี้ได้ค่ะ
1. โรคไซนัสอักเสบ
เด็กที่เป็นไซนัส อาจไออย่างหนักและถี่ในตอนกลางคืน เพราะมีน้ำมูกไหลลงคอ จนกลายเป็นเสมหะในคอ ทำให้ต้องไอเพื่อขับเสมหะออกมา ซึ่งเด็กอาจมีน้ำมูกใส ๆ บ้าง เหลืองเขียวบ้าง และมีอาการคัดจมูกเรื้อรังร่วมด้วย ทั้งนี้ ในบางครั้งเด็กอาจไข้ขึ้น จนปวดหัว และอาจนอนกรน หายใจเสียงดัง หรือมีเลือดกำเดาไหลด้วยค่ะ
2. โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ หรือหอบหืด
โรคภูมิแพ้ อาจเกิดจากการแพ้สารต่าง ๆ จากอาหาร หรือจากสิ่งของต่าง ๆ ส่วนใหญ่ โรคนี้ส่งต่อผ่านพันธุกรรม ซึ่งสาเหตุที่เด็กมีอาการไอตอนกลางคืน ก็เพราะตอนกลางวันลูกอาจจะยังไม่ได้เจอกับสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และในตอนกลางคืนหรือช่วงเข้านอน บนเตียงอาจมีฝุ่นหรือไรฝุ่นที่ไปกระตุ้นให้เด็กเกิดอาการภูมิแพ้หรือหอบหืด จนไอหนัก ๆ ได้
3. ภาวะการไหลย้อนกลับของน้ำย่อย
ภาวะนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกไอตอนกลางคืน เนื่องจากกรดที่ไหลย้อนกลับเข้ามาในหลอดอาหาร จะไปกระตุ้นระบบทางเดินหายใจอัตโนมัติ จนทำให้หลอดลมหดเกร็ง และเกิดอาการไอในที่สุด ส่วนสาเหตุที่เด็กจะไอแค่ตอนกลางคืนนั้น อาจเป็นเพราะเด็ก ๆ ทานอาหารมื้อเย็นเยอะกว่าอาหารมื้ออื่น เมื่อถึงเวลานอน อาหารจึงยังย่อยไม่หมด พอนอนราบจึงมีโอกาสที่กรดจะไหลย้อนขึ้นมาได้ง่ายกว่าเวลาอื่น ๆ นั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกเป็นหอบหืด จะรู้ได้ไงว่าลูกหอบ ลักษณะอาการหอบหืด พ่อแม่จะสังเกตได้อย่างไรว่าลูกป่วย
วิธีบรรเทาอาการไอในเด็ก
หากลูกไอตอนกลางคืน ทำไงก็ไม่หาย ให้ลองให้ลูกจิบน้ำอุ่น ๆ เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้คอมากขึ้น แต่แนะนำว่าไม่ควรให้ลูกกินน้ำส้ม เพราะยิ่งจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่คอมากขึ้น ทั้งนี้ คุณแม่ควรให้ลูกนอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ เพราะการพักผ่อนช่วยบรรเทาอาการไอได้ค่อนข้างดี นอกจากนี้ หากเด็กเป็นโรคหอบหืด คุณพ่อคุณแม่ก็ควรพาลูกไปหาหมออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกได้รับการรักษาที่เหมาะสม และควรให้ลูกรับประทานยาอย่างระมัดระวัง ควรกินยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น หากน้อง ๆ มีน้ำมูกเยอะ ก็สามารถช่วยน้อง ๆ ล้างจมูกได้
ลูกไอตอนกลางคืนแบบไหนอันตราย ควรพาไปหาหมอ
เบื้องต้น คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกบรรเทาอาการไอได้ตามวิธีที่แนะนำไป แต่หากลูกเริ่มมีอาการไอนานมากกว่า 2-3 ชั่วโมง เริ่มไอเป็นเลือด หรือภาวะเหมือนขาดน้ำ รวมทั้งหายใจลำบากและมีไข้สูง ควรพาลูกไปพบแพทย์ให้ไวที่สุดค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ตัวช่วยคุณแม่ยุคใหม่ รับมือ อาการไอ ช่วงปลายฝนต้นหนาว
อาการไอของลูก บอกโรคอะไรได้บ้าง
กลิ่นบุหรี่บนเสื้อพ่อ ทำลูกไอเสียงแปลกๆ คล้ายเสียงหมาเห่า สัญญาณโรคครูป
ที่มา : breastfeedingthai
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!