น้องอ้วน อายุ 7 ปี คุณแม่มาปรึกษาหมอด้วยเรื่องน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานมาก จากการสอบถามประวัติการรับประทานอาหาร ก็ทราบว่าน้องอ้วนชอบทานอาหารที่ ไขมันในเลือดสูง และขนมหวาน หมอจึงได้นัดเจาะเลือดตรวจเพิ่มเติม พบว่ามีค่า ไขมันในเลือดสูง กว่าปกติ ซึ่งบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่ทราบว่าเป็นปัญหาที่พบได้ในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กอ้วน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อโรคอื่น ๆ ตามมามากมาย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนั้นยังพบภาวะไขมันในเลือดสูงเพิ่มขึ้นกว่าปกติ 3–7 เท่าอีกด้วยค่ะ
ไขมันในเลือดสูง ในเด็กคืออะไร ?
ไขมันในเลือดสูงในเด็กคือ ภาวะที่มีไขมันในเลือด ได้แก่ ไขมันคอเลสเตอรอล (Cholesterol) และ/หรือ ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ที่สูงกว่าค่าปกติ ซึ่งได้มาโดยการเก็บข้อมูลทางสถิติของระดับไขมันในเลือดของเด็กปกติ โดยพบว่าเมื่อมีค่าเกินระดับหนึ่งแล้วจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจขาดเลือด หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตาย
ไขมันในเลือดสูงในเด็กเกิดจากอะไร ?
สาเหตุของไขมันในเลือดสูงในเด็กเกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ ค่ะ ได้แก่ สาเหตุทางกรรมพันธุ์ คือ มีคนในครอบครัวมีไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะมีความผิดปกติของยีน หรือ เอนไซม์ ที่สำคัญในกระบวนการสร้างหรือสลายไขมัน อีกสาเหตุหนึ่งคือ ยาบางชนิด เช่น ยาสเตอรอยด์ ยากันชักบางชนิด หรือ จากโรค เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต
คุณหมอจะวินิจฉัยโรคไขมันในเลือดสูงในเด็กได้อย่างไร ?
คุณหมอจะพิจารณาตรวจคัดกรองไขมันในเลือดในเด็กที่มีความเสี่ยงหรือมีโรคประจำตัวที่ทำให้มีโอกาสมีไขมันในเลือดสูง ได้แก่ เด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น และเด็กที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไขมันในเลือดสูงหรือโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อนอายุ 55 ปีในผู้ชาย และก่อนอายุ 65 ปีในผู้หญิง โดยเจาะเลือดตรวจหาระดับไขมันในเลือดคือ คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ไขมัน LDL และไขมัน HDL เมื่องดอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็กอ้วน ไม่ใช่เด็กน่ารัก แต่เป็นจุดเริ่มต้นของสารพัดโรค
วิดีโอจาก : Mahidol Channel มหิดล แชนแนล
การดูแลรักษาเด็กที่มี ไขมันในเลือดสูง สามารถทำได้อย่างไร ?
ในการดูแลเด็กที่มี ไขมันในเลือดสูง ในนั้น จะเน้นที่การสร้างเสริมสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นหลัก ซึ่งสามารถทำได้โดยการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัว โดยลดการทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น น้ำมันหมู, ขนมที่มีครีมนมเนยเยอะ ๆ ซึ่งมี คอเลสเตอรอลสูง และใช้ไขมันจากพืชที่ไม่มีคอเลสเตอรอลแทน พยายามทานอาหาร โปรตีนที่ไม่ค่อยมีมัน เช่น ปลาแทนหมูสามชั้น หรือ ขาหมู และ ใช้การการต้ม นึ่ง แทนการทอด ผัด ที่ต้องใช้น้ำมันมาก ดื่มนมรสจืดไขมันต่ำ ทานผักและผลไม้เป็นประจำ และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้ ร่างกายสร้าง HDL ที่เป็นไขมันดีมากขึ้น ก็จะช่วยลดไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งการควบคุมอาหารและออกกำลังกายที่จะได้ผลสำเร็จนั้นควรต้องอาศัยการร่วมมือจากสมาชิกทุกคนในครอบครัวโดยการเปลี่ยนแปลงอาหารที่ทานและชวนกันการออกกำลังกายทั้งบ้านอย่างสม่ำเสมอนะคะ สำหรับยาลดไขมัน โดยทั่วไปจะพิจารณาใช้ในเด็กเมื่อมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเต็มที่แล้วอย่างน้อย 6 เดือนยังมีไขมันในเลือดสูง ซึ่งโดยทั่วไปจะยังไม่ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีค่ะ
ผู้ใหญ่ก็เป็นไขมันในเลือดสูงได้
ไขมันในร่างกายที่เรากล่าวถึงส่วนใหญ่ หมายถึง คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบตัน ซึ่งอาจเป็นอันตราย ทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ ไขมันในเลือดสูงหมายถึงระดับไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งระดับคอเลสเตอรอลปกติไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร และระดับไตรกลีเซอไรด์ ปกติไม่เกิน 150 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร
สาเหตุของการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอด เนื้อติดมัน
- การรับประทานอาหารที่ให้พลังงานเกินความต้องการของร่างกาย เพราะร่างกายมีกลไกในการสะสมพลังงานที่ได้จากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปในรูปของไขมัน
- การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นประจำทำ ให้มีการสะสมไขมันตามเนื้อเยื่อมากขึ้นลดการกำจัดไขมันในเลือด เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูง
- โรคบางชนิด เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ โรคตับ โรคเบาหวาน
- ขาดการออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายใช้พลังงานน้อย
- กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติพ่อแม่หรือญาติมีไขมันในเลือดสูง อาหารที่มีไขมันสูง
อันตรายที่มีผลมาจากไขมันในเลือดสูง
เมื่อไขมันในเลือดสูง เลือดจะมีความหนืดสูงกว่าปกติ ทำให้เกิดการสะสมของไขมันตามผนังหลอดเลือดได้ง่าย ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่สะดวก เมื่อนานวันขึ้นอาจเกิดการอุดตันของเลือด โดยเฉพาะอวัยวะที่สำคัญ เช่น หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจอุดตัน ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวายและเสียชีวิต เฉียบพลัน หรือ ถ้าเกิดกับหลอดเลือดที่สมองทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หากไม่หาทางป้องกันแก้ไขภาวะไขมันในเลือดสูง จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ มากมายและมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง
จะทราบได้อย่างไรว่าไขมันในเลือดสูง
แพทย์สามารถประเมินว่าไขมันในเลือดมีปริมาณที่ผิดปกติได้ โดยการเจาะเลือดตรวจ โดยก่อนเจาะเลือดถ้าหากตรวจหาค่า Triglyceride ด้วย ต้องงดอาหารก่อนเจาะเลือด 12 ชั่วโมง แต่ดื่มน้ำเปล่าได้ แพทย์จะตรวจระดับของคอเลสเตอรอล (Total cholesterol , TC) ในเลือดร่วมกับตรวจหาระดับของไขมันอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ HDL-C , LDL – C , TG เพื่อประเมินการรักษาที่เหมาะสม
- LDL (Low Density Lipoprotein) มีส่วนประกอบของคอเลสเตอรอลในปริมาณสูง เรียกว่าไขมันไม่ดี ยิ่งมีมากยิ่งมีโรค
- HDL (High Density Lipoprotein) ทำหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลจากเซลล์ต่าง ๆ ไปทำลายที่ตับ เรียกว่าไขมันดี ยิ่งมีมากยิ่งดี การออกกำลังกายยิ่งทำให้ HDL สูงขึ้น ทำให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น
- TG (Triglyceride) ถ้ามีมากยิ่งทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว ถ้าหาก TG สูงร่วมกับ HDL – C ในเลือดต่ำจะเพิ่มอัตราเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคอื่น ๆ มากขึ้น การตรวจระดับของคอเลสเตอรอล
ค่าปกติของไขมันในเลือดแต่ละชนิดควรเป็นเท่าไร คำตอบ คือ ค่า TC ควรน้อยกว่า 200 mg/dl , LDL – C ควรน้อยกว่า 130 mg/dl , HDL – C ควรมากกว่าหรือเท่ากับ 40 mg/dl , TG ควรน้อยกว่า 150 mg/dl
ใครบ้างที่ควรตรวจไขมันในเลือด
- บุคคลที่ควรตรวจหาระดับไขมันในเลือด ได้แก่ บุคคลที่เป็นโรคหรือมีประวัติบุคคลในครอบครัว เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต โรคอ้วน
- หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น แต่อายุเกิน 40 ปี ก็ควรจะตรวจระดับไขมันในเลือดหากพบว่าค่าปกติควรตรวจซ้ำทุก ๆ 5 ปี
- สำหรับผู้ที่ไขมันในเลือดผิดปกติ แพทย์จะนัดตรวจติดตามเป็นระยะ
ไขมันในเลือดสูง รักษาอย่างไร
ในลำดับแรกแพทย์จะหาสาเหตุของภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ ด้วยการสอบถามประวัติครอบครัว และสอบถามประวัติ เจ็บป่วยโรคประจำตัวและยาที่รับประทานประจำของผู้เข้ารับการตรวจ รวมทั้งซักถามพฤติกรรมการดำเนินชีวิต อาหารที่ชอบรับประทาน กิจวัตรประจำวัน เป็นต้น หากไขมันในเลือดผิดปกติเล็กน้อย แพทย์จะแนะนำการปรับพฤติกรรม เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย เป็นต้น
การให้ยาลดระดับไขมันในเลือด แพทย์จะพิจารณาให้ยาก็ต่อเมื่อการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อลดไขมันในเลือดไม่ได้ผล ซึ่งยามีหลายกลุ่มหลายชนิด แพทย์จะเลือกให้เหมาะสมกับความผิดปกติของไขมันในเลือดสำหรับผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป
การดูแลตนเองเมื่อเป็นไขมันในเลือดสูง
- การควบคุมอาหาร ไขมันสูง เช่น ไขมันสัตว์ เนื้อติดมัน ไข่แดง อาหารทะเล หลีกเลี่ยงอาหารทอด เครื่องในสัตว์
- การจำกัดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล ไม่ให้เกินความต้องการของร่างกาย
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ จะมีฤทธิ์เร่งสะสมไขมันตามเนื้อเยื่อ
- เน้นการรับประทานผักและผลไม้ ที่กากใยสูง
- การออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ๆ ละ ประมาณ 30 นาที แต่หากท่านมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ว่าออกกำลังกายแบบใดจึงเหมาะสม
- การรับประทานยาต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์
- ควรรักษาโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ เช่น โรคไทรอยด์ โรคตับ โรคเบาหวาน เป็นต้น
เช่นเดียวกับการดูแลตนเองเมื่อมีไขมันในเลือดสูง คือการควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย และการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อดูระดับไขมันในเลือด เป็นการป้องกันการเกิดโรคร้ายแรง ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แก้ปัญหาโรคอ้วนในเด็ก วิธีป้องกันโรคอ้วน ต้องทำอย่างไร
โรคทางพันธุกรรม ที่ลูกอาจติดจากพ่อแม่ มีอะไรบ้าง จะรับมืออย่างไร
โรคที่เกิดขึ้นในวัยทารก โรคยอดฮิตในหมู่เด็กมีอะไรบ้าง พ่อแม่จะรู้ได้ไงว่าลูกป่วย
ที่มา : Siphhospital, Paolohospital
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!