ถึงเวลาเปิดเทอมแล้ว นอกจากข้าวของเครื่องใช้ที่ต้องเตรียมไว้ให้ลูกน้อย เรื่องสุขภาพก็สำคัญนะครับ โดยเฉพาะเด็กในวัยอนุบาล ช่วง 2 – 5 ขวบนี่ล่ะครับ เป็นช่วงที่เด็กยังมีภูมิต้านทานไม่แข็งแรงพอ ยิ่งเวลาที่เด็กรวมกันเยอะๆในโรงเรียนแล้ว การแพร่กระจายของเชื้อต่างๆจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เรามาดูกันว่า 7 โรคติดเชื้อต้อนรับเปิดเทอม ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวังมีอะไรบ้าง
7 โรคติดเชื้อต้อนรับเปิดเทอม
#1 ไข้หวัดใหญ่
ในช่วงนี้ที่เด็ก ๆ เริ่มกลับมาเปิดเทอมกัน บวกกับช่วงนี้ที่เป็นช่วงฤดูฝน ก็ต้องหนีไม่พ้นกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งโรคนี้สามารถติดเชื้อได้จากการหายใจเอาเชื้อโรคที่อยู่ในอากาศเข้าไปในร่างกาย หรือจากการที่เด็กอาจไปสัมผัสกับสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรืออาจติดต่อจากการใช้สิ่งของร่วมกับเด็กคนอื่นที่เป็นไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัดใหญ่นี้สามารกเป็นได้ตลอดทั้งปี และผู้ป่วยที่พบว่าเป็นไข้หวัดใหญ่เยอะที่สุดคือเด็กอายุไม่เกิน 4 ขวบ ยิ่งเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัดหรือสถานที่คนเยอะ โอกาสติดเชื้อก็จะยิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะกับเด็กที่มีร่างกายไม่แข็งแรง ซึ่งในต้นปี 2567 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ป่วยจำนวน 144,574 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มวัยเรียน ตั้งแต่แรกเกิด – เด็กอายุ 4 ขวบ (15%) และอายุ 10-14 ขวบ (14%)
อาการ
เด็กที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่จะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว และอ่อนเพลีย หากอาการไม่รุนแรงมากก็จะสามารถหายได้ภายใน 5 – 7 วัน แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรไว้วางใจนะครับเพราะไข้หวัดใหญ่สามารถเกิดอาการแทรกซ้อนอื่นที่รุนแรงได้ เช่นปอดบวม สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ หายใจเร็วและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ครับ
#2 โควิด-19
เมื่อเด็ก ๆ ใกล้เปิดเทอม สิ่งที่พ่อแม่เลี่ยงที่จะกังวลไม่ได้ก็คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 การกลับมาเรียนในสถานที่ปิด หมายถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสำหรับการติดเชื้อและการแพร่กระจายของไวรัส รายงานสถานการณ์โควิด-19 รายสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 5 – 11 พฤษภาคม พบผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,880 ราย เฉลี่ย 269 รายต่อวัน เสียชีวิต 11 ราย เฉลี่ย 1 รายต่อวัน ดังนั้นผู้ปกครองควรสอนให้ลูก ๆ รู้จักสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อย ๆ และถ้าหากในกรณีที่ทางโรงเรียนพบเด็กป่วยในชั้นเรียนพร้อมกัน 3 คนขึ้นไป ควรปิดชั้นเรียนนั้นเพื่อทำความสะอาด เช่น ปิดชั้น ป.5 แต่หากพบผู้ป่วยจำนวนมากในหลายชั้นเรียน อาจจำเป็นต้องปิดโรงเรียนเพื่อลดการระบาด ปฏิบัติตามขั้นตอน
อาการ
ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อาการของโรคนี้ สังเกตได้ค่อนข้างยาก เพราะโควิดเป็นเชื้อโรคชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ซึ่งสามารถทำให้เป็นหวัดก็ได้หรือปอดบวมก็ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีแค่อาการปวดเมื่อยตามตัวได้ด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าหากในช่วงนี้ลูกน้อยมีอาการหวัด ก็สามารถทำการตรวจ ATK ได้เลยครับ
#3 ไข้เลือดออก
เป็นอีกหนึ่งโรคระบาด ที่เกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วย จำนวน 27,334 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ล้วนเป็นเด็กนักเรียน ตั้งแต่ 5-14 ปี จำนวน 8,033 ราย ซึ่งจากผลการสำรวจ พบว่าแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่สูงสุด คือในกลุ่มโรงเรียนและโรงธรรม ทางกรมควบคุมโรคจึงแนะนำ ขอให้ทุกสถานศึกษาเร่งสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำทุก ๆ สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรค ไข้เลือดออก
อาการ
ผู้ป่วยจะมีไข้สูง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว เบื่ออาหาร และอาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดง ๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่น ๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรืออุจจาระมีเลือดปน บางรายอาจมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ซึ่งถ้าหากไข้ไม่ลดใน 1-2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์
#4 โรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปากนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสผ่านทางการไอ จาม หรือละอองน้ำมูกจากเด็กที่ป่วย
อาการ
อาการของโรคมือเท้าปากนั้นจะคล้ายกับอาการของโรคอีสุกอีใสคือ มีไข้ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร แต่ที่สังเกตเห็นได้ชัดเลยก็คือจะมีผื่นหรือจุดแดงขึ้นเฉพาะบริเวณมือ เท้า ปาก และจุดแดงๆที่ขึ้นอาจจะกลายเป็นตุ่มน้ำได้แต่จะไม่มีอาการคัน (หากเป็นอาการของโรคอีสุกอีใสจะมีผื่นแดงขึ้นทั้งตัวพร้อมกับมีไข้ในช่วง 1 – 2 วันแรกที่เป็น) โดยผื่นแดงหรือตุ่มน้ำที่ขึ้นนั้นจะหายไปเองภายใน 10 วัน และไข้ก็จะหายภายใน 3 – 4 วัน แต่บางรายก็อาจจะมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงเช่น ปวดหัวมาก แขนขาอ่อนแรง หายใจหอบ หรืออาจชักได้ ต้องรีบไปพบคุณหมอโดยด่วนนะครับ
#5 ท้องร่วง ท้องเสีย
ท้องร่วง ท้องเสีย เป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุดของเด็กเล็ก สาเหตุของโรคนั้นมาจากการที่เด็กกินอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน แม้แต่การหยิบของเล่นสกปรกๆเข้าปาก ก็เป็นสาเหตุทำให้เจ้าตัวเล็กเกิดอาการท้องร่วง ท้องเสีย ได้เหมือนกันนะครับ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ รวมไปถึงคุณครูควรสอนให้เด็กล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ และทุกครั้งก่อนหยิบจับอาหาร
อาการ
เด็กจะถ่ายเหลวเป็นน้ำ แต่อาจจะมีอาการคล้ายๆไข้หวัดก่อนการถ่ายเหลว โดยปกติแล้วอาการเริ่มต้นจะไม่รุนแรงมากนัก ควรให้ลูกดื่มน้ำมากๆ หรือให้ดื่มน้ำผสมเกลือแร่เพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลียเพราะขาดเกลือแร่ แต่ถ้าอาการรุนแรงต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะเด็กจะขาดน้ำ ทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
#6 อีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใสเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อกันได้จากการหายใจรดกัน ไอ จาม หรือแม้แต่การสัมผัสหรือการใช้ของร่วมกับเด็กคนอื่นๆก็ทำให้ติดเชื้อโรคนี้ได้แล้วครับ
อาการ
หลังจากที่เด็กได้รับเชื้อ จะมีระยะที่เชื้อฟักตัวประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ จากนั้นจะเริ่มแสดงอาการต่างๆเช่น เริ่มมีผื่นขึ้นที่ใบหน้าและลำตัว มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หลังจากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสๆนูนขึ้นมาและมีอาการคันร่วมด้วย หลังจากนั้นประมาณ 2 – 4 วัน ตุ่มก็จะตกสะเก็ด หากลูกของคุณมีอาการของโรคอีสุกอีใส ควรให้ลูกหยุดเรียนเพื่อที่จะได้ไม่ไปแพร่เชื้อให้กับเด็กคนอื่น และไม่ควรแคะ แกะ เกา เพราะอาจทำให้ตุ่มเหล่านี้กลายเป็นแผลเป็นได้ คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลรักษาความสะอาดของลูก ใช้สบู่ฟอกทำความสะอาดแผล และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
#7 โรคตาแดง
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจมองข้ามโรคนี้ไปเพราะคิดว่าโรคนี้ไม่ค่อยรุนแรง แต่ความจริงแล้ว หากปล่อยไว้โดยไม่รีบรักษาก็อาจทำให้ตาของลูกถึงกับบอดได้เลยนะครับ โดยเชื้อโรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายมาก แค่ใกล้ชิด สัมผัสกับผู้ป่วย หรือแค่ปล่อยให้แมลงหวี่ แมลงวันตอมที่ตาก็มีโอกาสเป็นโรคตาแดงได้แล้ว เชื้อโรคตาแดงนี้มักจะระบาดหนักในโรงเรียน สระว่ายน้ำ หรือที่มีผู้คนแออัด
อาการ
เด็กที่ติดเชื้อโรคตาแดงจะมีขี้ตามากในช่วงเช้า น้ำตาไหล เจ็บ แสบ หรือเคืองตา และเชื้อไวรัสนี้จะทำให้เยื่อบุตาภายในหนังตาเกิดการอักเสบ บวม ทำให้ตาแดง
การเปิดเทอมเป็นช่วงที่เด็ก ๆ กลับมาพบปะสังสรรค์กันอีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเอาใจใส่บุตรหลานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องสุขอนามัย ด้วยความเอาใจใส่และดูแลอย่างใกล้ชิด เด็ก ๆ จะมีสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัยจากโรคติดต่อ และพร้อมสำหรับการเรียนรู้ต่อไป นอกจากนี้ โรงเรียนควรมีมาตรการป้องกันโรคติดต่อที่เข้มงวด เช่น ทำความสะอาดสถานที่อย่างสม่ำเสมอ จัดให้มีอ่างล้างมือให้เพียงพอ และดูแลเด็ก ๆ อย่างใกล้ชิด ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เด็ก ๆ จะมีสุขภาพที่ดี ปลอดภัย และมีความสุขในช่วงเปิดเทอม
ที่มา phyathai, Springnews, BDMS wellness
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
สอนลูกแบบนี้ โตขึ้นเป็นเศรษฐีแน่นอน
เช็คด่วน! รูเล็กๆข้างหูของลูก สัญญาณร้ายที่ไม่ควรมองข้าม
เปิดเทอมนี้ ระวังโควิด! หมอยงแนะมาตรการ ป้องกันโควิด-19 ในโรงเรียน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!