หลายท่านที่กำลังเผชิญกับโรคอีสุกอีใส คงมีคำถามคาใจไม่น้อยว่า ” เป็นอีสุกอีใสอาบน้ำได้ไหม ?” ร่วมไขข้อสงสัยเรื่องอีสุกอีใส คลายกังวลใจสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว ได้แล้วที่นี่
โรคอีสุกอีใส เกิดจากอะไร
อีสุกอีใส (Chickenpox) เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่เกิดจาก ไวรัส Varicella-zoster มักพบในเด็กเล็ก แต่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยเป็นโรคหรือไม่ได้รับวัคซีน โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่กระจายได้หลายทาง ดังนี้
- การไอหรือจาม: เมื่อผู้ป่วยไอหรือจามละอองน้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อจะฟุ้งกระจายในอากาศ
- การสัมผัส: การสัมผัสโดยตรงกับผื่นพุพองของผู้ป่วย
- การใช้ของใช้ร่วมกัน: การใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าห่ม แก้วน้ำ
ระยะฟักตัวของโรค: ประมาณ 10-21 วัน โดยเฉลี่ย 14-16 วัน หลังจากสัมผัสผู้ป่วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : เมื่อลูกเป็นโรคอีสุกอีใส ทำไงดี? ต้องรักษาอย่างไร? วิธีไหนถูกต้อง
อาการของโรคอีสุกอีใส
อีสุกอีใสกี่วันหาย ? โดยปกติแล้วโรคอีสุกอีใสจะแสดงอาการ 14-16 วันหลังได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว เป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร และมีตุ่มขึ้น ตุ่มจะขึ้นที่หนังศีรษะก่อนแล้วกระจายไปบริเวณหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง จากนั้นจะขึ้นบริเวณแขนและขา
- ในเด็กจะมีไข้ต่ำ ๆ รู้สึกอ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร
- ในผู้ใหญ่มักจะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีผื่นขึ้น พร้อมกับวันที่มีไข้ ต่อมาผื่นกระจายไปทั่วตัว บางรายอาจมีตุ่มในปาก ทำให้ปากลิ้นเปื่อย
โรคอีสุกอีใสติดต่อได้อย่างไร
โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายผ่านการไอ จาม หายใจรดกัน หรือการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง โดยเฉพาะบริเวณตุ่มใส ๆ การใช้ของร่วมกัน เพราะโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อโรคอยู่ในน้ำมูก น้ำลายผู้ป่วย จึงต้องระมัดระวังเด็กที่เรียนในโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็กเป็นพิเศษ
นอกจากนี้สตรีมีครรภ์ที่เป็นโรคอีสุกอีใสก็มีโอกาสติดต่อไปยังเด็กที่เกิดมาได้เช่นกัน โดยระยะที่ติดต่อได้ง่ายมักเป็นช่วงเวลา 2 วันก่อนมีตุ่มขึ้นไปจนถึงหลังมีตุ่มขึ้นแล้ว 4-5 วัน
ความเสี่ยงในระหว่างเป็นโรคอีสุกอีใส
อาการของโรคอีสุกอีใสโดยทั่วไปไม่รุนแรง ซึ่งเชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่กระจายผ่านทางละอองฝอย จากการไอหรือจามของผู้ป่วย หรือการสัมผัสโดยตรงกับผื่น ของผู้ป่วย สามารถหายเองได้ แต่อาการแทรกซ้อนที่พบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น
- การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังจนกลายเป็นหนองและมีแผลเป็นตามมา โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า
- ปอดบวม สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ถ้าเป็นรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 90 แม่ท้องเป็นอีสุกอีใสอันตรายหรือไม่
หากลูกเป็นอีสุกอีใสจะสามารถไปโรงเรียนได้เมื่อไร อีสุกอีใส กี่วันหาย ?
โดยทั่วไประยะ ที่สามารถติดต่อได้ของสุกใส คือตั้งแต่ 48 ชั่วโมงก่อนจะ มีผื่นขึ้น (ซึ่งทำให้เด็ก ๆ อาจไปสัมผัสใกล้ชิดกับเพื่อนที่ป่วยเป็นอีสุกอีใสก่อนจะมีอาการ โดยไม่รู้ตัวได้) จนถึง ระยะที่ผื่นแห้ง เป็นสะเก็ดหมด ทุกตุ่มทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่จะใช้ เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากเริ่มมีอาการป่วย ถ้าไม่มี ภาวะแทรกซ้อน นะคะ
วิธีรักษาโรคอีสุกอีใส อีสุกอีใส กี่วันหาย
การดูแลรักษาโดยทั่วไปจะเป็นการรักษาตามอาการไข้และอาการทางผิวหนัง เพราะไม่มียารักษาโดยเฉพาะ คุณหมอจะสั่งยาลดไข้อย่างพาราเซตามอล (ห้ามใช้แอสไพรินโดยเด็ดขาด) ทำความสะอาดผิวหนังและให้ยาแก้คัน นอกจากนี้อาจมีการให้ยาเพื่อยับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัสร่วมด้วย ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อย ๆ หายเองใน 1-3 สัปดาห์ โดยไม่มีแผลเป็น ดังนั้น ตั้งแต่เริ่มมีอาการจนหาย มักจะกินเวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์ (เมื่อสังเกตว่าลูกมีอาการ ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที)
ไม่อยากให้ลูกมีแผลเป็น ทำไงดี
แผลเป็นจากอีสุกอีใส สามารถป้องกันได้โดย ไม่ไปแกะเกาตุ่มสุกใส ถ้าลูกมีอาการคัน ก็ควรทานยาแก้คัน นอกจากนี้ควรตัดเล็บ ให้สั้นเพราะเชื้อแบคทีเรียจากมือ และ เล็บ สามารถเข้าสู่กระแสเลือด ได้จากการแกะเกาตุ่ม จนเกิดการติดเชื้อ แทรกซ้อนอย่างรุนแรง ที่อวัยวะภายในต่าง ๆ ตามมาได้
ให้ลูกกินยาเขียวได้หรือไม่
ยาเขียว เป็นยาตำรับไทย ที่ใช้มานานในเด็ก ที่เป็นไข้ออกผื่น มีส่วนผสมทำจากใบไม้สีเขียว และ สมุนไพรต่าง ๆ มีความเชื่อว่า ช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น โดยยังไม่มี งานวิจัย ที่สนับสนุนว่า ยาเขียว มีฤทธิ์ต้านไวรัสโรคอีสุกอีใส ดังนั้น การทานยาเขียว อาจไม่ได้มีประโยชน์ อย่างชัดเจนในการรักษา โรคอีสุกอีใส แต่ก็ไม่ได้มีอันตราย ต่อร่างกาย อย่างชัดเจนเช่นกัน มีข้อควรระวังคือ ยาเขียวบางตำรับ มีส่วนผสมของดอกไม้ จึงควรหลีกเลี่ยงหาก ลูกแพ้เกสรดอกไม้นะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฉีดวัคซีนเด็ก ต้องฉีดอะไรบ้างที่สำคัญต่อทารกแรกเกิด เพื่อภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด
วิธีป้องกันอีสุกอีใส
เราสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการเป็นโรคอีสุกอีใสได้โดย
- แยกเด็กที่ป่วยไว้ต่างหาก
- ไม่ใช้ข้าวของปนกัน
- พักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำมาก ๆ
- ฉีดวัคซีนป้องกัน
เป็นอีสุกอีใสอาบน้ำได้ไหม
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดเรียน หยุดงาน พักผ่อนที่บ้าน ควรอาบน้ำและใช้สบู่ฆ่าเชื้อฟอกผิวหนังให้สะอาด ตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาตุ่ม ถ้ามีไข้สูงให้กิน กรณีเด็กมีไข้สูงไม่ควรให้เด็กอาบน้ำ แต่ใช้การเช็ดตัวแทน และเช็ดบ่อย ๆ หากเกิดอาการปาก และลิ้นเปื่อยให้ใช้น้ำเกลือบ้วนปาก กรณีที่ไข้ไม่สูงสามารถอาบน้ำได้ แต่ต้องใช้สารอาบน้ำตามที่กล่าวไปข้างต้น เพื่อหลีกเลี่ยงอาการ หรือผลข้างเคียงที่อาจตามมาภายหลัง เช่น ตุ่มหรือหนอง เป็นต้น
วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสมีประโยชน์อย่างไร
นอกจากวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสจะสามารถป้องกันโรคนี้ได้แล้วยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดรอยแผลเป็นจากโรคอีสุกอีใส ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสแนะนำให้ฉีดในเด็กตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งสถิติในประเทศญี่ปุ่นพบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสเพียง 1 เข็ม ให้ภูมิคุ้มกันนานถึง 20 ปี นอกจากนี้พบว่าเด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสสามารถลดการเกิดและความรุนแรงของโรคงูสวัดเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรครูมาตอยด์ ไขข้ออักเสบ สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา
โรคผิวหนังอักเสบ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคผิวหนังและภูมิแพ้ผิวหนัง
โรคดาวน์ซินโดรม โรคทางพันธุกรรมที่มักพบได้ในเด็ก ป้องกันและรักษาอย่างไร
ที่มา : caringforkids, bangkokhatyai, mamastory
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!