ผู้หญิงอย่าหยุดสวย เป็นคำที่ใช้ได้เสมอ สำหรับผู้หญิงทุกเพศ ทุกวัย รวมถึง คุณแม่ที่พึ่งคลอดน้องด้วย เช่นกัน เพราะช่วงที่ตั้งท้องน้ำหนักคุณแม่จะเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติหลายสิบกิโล เลยทีเดียว แต่พอคลอดน้องออกมาแล้ว อ้าว??? ทำไมน้ำหนักหายไปแค่นิดเดียวเองล่ะ??? แบบนี้ ก็ต้องลดน้ำหนักแล้วซินะ แต่หลายต่อหลายคนต่างก็บอกว่า แม่ให้นมห้ามลดน้ำหนัก แล้วควรจะทำยังไงกันล่ะ ห้ามลดจริงหรือ???
แม่ให้นมห้ามลดน้ำหนัก นั้นเป็นความจริงที่หลายต่อ หลายคน ทราบกันดี เนื่องจากช่วงที่คลอดน้องออกมานั้น ร่างกายคุณแม่เองต้องสูญเสียพลังงาน และสารอาหารในร่างกายมากมาย อีกทั้ง น้ำนมที่จะต้องให้ลูก ก็ควรจะเป็นน้ำนมที่อุดมไปด้วยสารอาหาร และแร่ธาตุ ที่จำเป็นต่อร่างกายทั้งของแม่ และของลูกเอง ดังนั้นช่วงให้นมลูก นอกจากจะเป็นช่วงที่สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกแล้ว ยังเป็นช่วงที่ฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กับตัวคุณแม่ด้วยเช่นกัน
น้ำหนักที่เกินมา
ช่วงขณะที่ตั้งครรภ์นั้น คุณแม่หลาย ๆ คน จะมีน้ำหนักพุ่งขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 10 กิโลกรัมอย่างแน่นอน ซึ่งตัวคุณแม่เองก็มักจะเข้าใจว่า หากคลอดลูกออกมาแล้ว น้ำหนักที่เกินออกมาช่วงตั้งครรภ์นั้น คือน้ำหนักของลูกที่จะคลอดออกมา
ในความเป็นจริงนั้น เมื่อคลอดเด็ก น้ำหนักที่จะหายไปส่วนหนึ่งคือ น้ำหนักของลูก บวกกับน้ำหนักของรก น้ำคล่ำ และอื่น ๆ เช่น น้ำหนักลูก 4 กิโลกรัม น้ำหนักของรก น้ำคล่ำ อื่น ๆ จะเป็นอีกหนึ่งเท่าตัวของน้ำหนักเด็ก นั่นเท่ากับว่า เมื่อคลอด น้ำหนักของคุณแม่จะหายไปประมาณ 8 กิโลกรัม ส่วนน้ำหนักที่เหลือก็คือ น้ำหนักส่วนเกินของคุณแม่นั่นเองค่ะ
ลดน้ำหนักอย่างไรดี?
- จัดสรรอาหารในการทานให้ครบทุกหมวดหมู่ ลดปริมาณอาหารที่เป็นจำพวกแป้ง อาหารมัน และน้ำตาล
- ยิ่งให้นมลูก (ยิ่งปั้มน้ำนมออกมา) ยิ่งทำให้น้ำหนักลดลงได้รวดเร็วกว่าที่คาดไว้ค่ะ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่นอกจากจะทำให้น้ำหนักลดลงแล้ว ยังทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นอีกด้วย แต่ทั้งนี้ ตัวคุณแม่เอง ก็ไม่ควรที่จะออกกำลังกายอย่างหักโหม เพราะเนื่องจาก ช่วงที่คลอดลูกออกมานั้น ร่างกายหลาย ๆ ส่วน ต้องการได้รับการซ่อมแซมมากกว่าเดิม
กฎเกณฑ์การทานอาหาร
เข้า = ออก น้ำหนักคงที่ , เข้า < ออก ผอมลง ๆ , เข้า > ออก ตุ้ยขึ้น ๆ
เป็นกฎของน้ำหนักที่ใช้ได้เสมอ ยกเว้น ช่วงที่กินยาบางชนิด หรือเป็นโรคบางอย่าง ที่อ้วนขึ้น หรือผอมลงด้วยอิทธิพลของปัจจัยอื่น กินมากกว่าออกก็อ้วน กินน้อยกว่าออกก็ผอม สมการแสนง่าย โดยแม่ที่ให้นมมีแต้มต่อ เพราะจะผอมได้ง่ายกว่า ผู้หญิงทั่วไป เพราะเราเสียพลังงานไปให้ลูกเราทางน้ำนม ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแม่ที่ให้นมลูก ด้วยน้ำนมธรรมชาติของแม่เองนั้น มักจะผอมเพรียวลงได้อย่างรวดเร็ว มากกว่ากลุ่มคุณแม่ที่ให้นมผงกับลูกน้อย แต่บางคนกินเกินใช้ไปมาก ก็อาจจะเกิดภาวะเสมือนรกค้างเรื้อรัง 555 คือคลอดแล้วน้ำหนักไม่ลดลง แถมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกต่างหาก เป็นเพราะบำรุงเกินใช้ไปมาก จากขนม นมเนย ทุเรียน บิงซู และข้าวปลาอาหารที่สมบูรณ์ อันนี้ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้นะคะ
ยาลดความอ้วน คือทางเลือกที่ดี???
“ในช่วงนี้แม่หลังคลอดไม่ควรกินยาลดความอ้วน เนื่องจากยาลดความอ้วนบางชนิด กินแล้วไปกดที่สมอง ทำให้เบื่ออาหาร บางชนิดทำให้มีการเผาผลาญอาหารมากขึ้น ซึ่งยาเหล่านี้มีอันตราย บางตัวกินมาก ๆ อาจทำให้ติดยา ประสาทหลอน หรือหัวใจวายได้ และ ยาบางตัวยังส่งผ่านน้ำนมไปทำอันตรายต่อตัวลูกอีกด้วย” แพทย์หญิงพรรณพิมล
อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วแม่หลังคลอดที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถช่วย ลดไขมันในร่างกายได้เพราะร่างกายสร้างน้ำนม จะดึงเอาไขมันในร่างกายไปใช้ ซึ่งการให้นมลูก สามารถช่วยเผาผลาญพลังงานในร่างกายได้ถึง 500 – 800 กิโลแคลอรีต่อวัน หากให้นมลูกอย่างต่อเนื่อง 4 – 6 เดือน ก็จะช่วยลดขนาดส่วนเกินของสะโพก หน้าท้อง ต้นแขน ต้นขาได้เป็นอย่างดี และช่วยให้น้ำหนักกลับมาปกติ ดังนั้น การจะลดน้ำหนัก เอาแบบพอดี ๆ ค่อย ๆ ปรับ ควบคุมแคลลอรี่ของอาหารอย่างไม่สุดโต่ง ยังไงก็ผอมได้ โดยเฉพาะช่วงระยะเวลา 3 เดือนแรก น้ำหนักจะลงได้รวดเร็วจนเหลือเชื่อ เพียงแค่ตัวคุณแม่เอง จะต้องจำกัดของหวาน ๆ เอาไว้หน่อยนะคะ
อาหารเสริม
พวกอาหารเสริม ทางที่ดี ควรที่จะเลี่ยงก่อนค่ะ หากกังวลว่า วิตามินที่ได้จากผัก ผลไม้ ที่ทานเข้าไป จะไม่เพียงพอ ทานเยอะ ก็กังวลถึงน้ำตาลในผลไม้จะเพิ่มสูงขึ้น ก็สามารถมาทานวิตามินเม็ดได้ หรือแคลเซี่ยม ก็เพียงพอค่ะ ไม่ต้องสรรหามาทานเยอะจนเกินความจำเป็น คิดถึงคนที่ทานอาหารเสริม แบบไม่ต้องให้นมลูกนะคะ มีหลายเคสที่มีผลกระทบจากอาหารเสริมที่มีวางขายกันให้เกลื่อนตลาดในบ้านเรา เพราะเจือปนอะไรมาบ้าง เราก็ไม่สามารถรู้ได้เลย แล้วหากเราเผลอทานเข้าไป แถมสิ่งที่เราทานยังส่งผลถึงลูกน้อยโดยตรงผ่านน้ำนมของเราอีก จะส่งผลยังไงบ้าง คงไม่อยากคิดถึงภาพแบบนั้นเลยใช่ไหมคะ? หากจะเอาให้ชัวร์ ควรที่จะปรึกษาแพทย์ก่อน คือ สิ่งที่ดีที่สุดค่ะ
หมายเหตุ การโบท็อกก็ควรเว้นไปก่อนนะคะ เพราะข้อมูลทุกวันนี้ก็ยังไม่ชัดเจนในแม่ให้นม และลูก ว่าจะมีผลกระทบมาก – น้อยแค่ไหน เอาไว้เมื่อลูกโตขึ้นแล้ว คุณแม่ค่อยไปจัดเต็มทีหลังก็ยังไม่สายหรอกค่ะ
ที่มา :
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!