ถึงเวลา แม่ต้องกลับไปทำงาน จะให้ลูกกินนมแม่ต่อไปยังไงดี ถ้านมในสต็อกก็เหลือน้อย ถ้าที่ทำงานไม่เอื้อให้ปั๊มนมละ ถ้าไม่รู้จะปั๊มนมเวลาไหน จะทำยังไงดีนะ ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ได้ เราจะบอกเองว่าคุณแม่ควรทำอย่างไร
6 วิธีจัดการ แม่ต้องกลับไปทำงาน แต่ยังต้องให้นม
การแก้ปัญหาทารกกับนมแม่ เมื่อแม่ต้องทำงาน มีวิธีในการเตรียมตัว เตรียมพร้อมอยู่หลายวิธี โดยมากจะเกี่ยวกับการปั๊มนมเตรียมไว้อย่างมีระบบ และวิธีอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
1. คุณแม่ต้องเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ
แม้จะลาคลอดได้หลายเดือน แต่ก็ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่จะสามารถปั๊มนมที่ทำงานได้อย่างสบายใจ ทั้งเรื่องเวลา เรื่องสถานที่ เรื่องการเก็บนมแม่ ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยนะคะ แต่เพื่อลูกได้กินของที่ดีที่สุด แม่อย่างเรานี่ก็ต้องพยายามหน่อยละค่ะ
แม่ทำงานนอกบ้านประสบความสำเร็จในการให้นมแม่ได้ ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ นมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และ นมแม่ร่วมกับอาหารเสริม นานจนถึง 2 ปี หรือมากกว่า หากทราบวิธีการทำอย่างไรจึงปั๊มนมและเก็บนมได้เพียงพอ ระยะเวลาลางานหลังคลอดไม่ได้เป็นปัญหา หากคุณแม่มีความรู้เรื่องปั๊มนมและเก็บนมอย่างถูกต้อง
2. เริ่มปั๊มได้เลยตั้งแต่หลังคลอด
ว่างเมื่อไร แทนที่จะนั่งดูทีวี หรือ อ่านหนังสือพิมพ์ หรือ คุยโทรศัพท์ หรือ เล่นเน็ต มืออยู่ว่าง ๆ ให้เอาที่ปั๊มนมมาถือเอาไว้ จะได้เริ่มมีน้ำนมสะสมเตรียมไว้ ที่แนะนำให้ทำกิจกรรมอื่นด้วยขณะปั๊มนม เพื่อให้ไม่เครียด เดี๋ยวน้ำนมจะพาลไม่ไหล อย่าไปจ้องที่ปั๊มนม เดี๋ยวน้ำนมอายแล้วไม่ออกมา
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีปั๊มนม ปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้า เอาใจคุณแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลาว่าง
วิดีโอจาก : Nurse Kids
3. ควรใช้เครื่องปั๊มนมแบบ 2 ข้างพร้อมกัน
เพราะเวลาที่นมข้างหนึ่งถูกกระตุ้น อีกข้างหนึ่งจะไหลด้วย ช่วยประหยัดเวลา เช่น ถ้าปั๊มทีละข้างนาน 30 นาที จะได้นมเท่ากับปั๊ม 2 ข้างพร้อมกันนาน 10 นาที และเมื่อต้องเสียเวลาปั๊มนมนาน จะทำให้ไม่อยากปั๊มบ่อย เพราะกลัวเสียเวลางาน ถูกคนอื่นมองว่าอู้งานไปปั๊มนมการใช้เครื่องปั๊มนมแบบ 2 ข้าง ถึงแม้จะรู้สึกว่าราคาแพง (หากซื้อเครื่องมือสองจะได้ราคาถูกกว่า) แต่ในระยะยาวจะประหยัดเงินได้มากกว่า เพราะจะปั๊มนมได้มากกว่า
ช่วยประหยัดค่านมผง เดือนละ 3-4 พันบาท ไหนจะค่ารักษาเวลาลูกเจ็บป่วยไม่สบาย เพราะเด็กที่กินนมแม่จะป่วยน้อยกว่าเด็กที่กินนมผง 5-10 เท่า แต่บางท่าน การซื้อเครื่องปั๊มนม อาจเป็นเรื่องทำได้ยาก (ยกเว้นว่ามีการผ่อนจ่ายเป็นรายเดือน เหมือนค่าโทรศัพท์มือถือ หรือ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์) ดังนั้นการฝึกวิธีการบีบมือหรือการใช้เครื่องปั๊มนมแบบมือบีบอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
4. ตอนลาคลอด กลางวันให้ปั๊มนมทุก ๆ ชั่วโมง
เช่น ลูกดูดเสร็จตอน 10 โมง ให้คุณแม่นอนหรือพักผ่อนประมาณ 1 ชม. แล้วจึงค่อยปั๊มนม 2 ข้างพร้อมกันนาน 10 นาที (ไม่ปั๊มทันทีที่ลูกดูดเสร็จ เพราะจะได้น้ำนมน้อย เนื่องจากลูกเพิ่งดูดไป) ได้นมที่ปั๊มออกมาแล้วให้เก็บใส่ตู้เย็น โดยเทออกจากขวดที่ปั๊มเก็บใส่ในถุงหรือขวดอีกใบ ส่วนขวดที่ปั๊มให้ใช้ถุงพลาสติกครอบส่วนที่เป็นกรวยปั๊ม เพื่อไม่ให้สกปรก แล้วเก็บไว้ในตู้เย็นเช่นกัน อีก 1 ชม.ให้เอาออกจากตู้เย็นมาปั๊มอีก 10 นาที เอานมที่ได้ไปเทรวมกันได้ภายใน 1 วัน
ส่วนที่ปั๊มนมให้ล้างและนึ่งวันละครั้ง ปั๊มนมได้เรื่อย ๆ ในช่วงกลางวัน การปั๊มเพียง 10 นาทีในแต่ละครั้ง ถึงแม้ว่าลูกจะตื่นมาขอดูด ทันทีที่เพิ่งปั๊มเสร็จน้ำนมที่เหลืออยู่ในเต้ายังพอเพียงสำหรับลูกแน่นอนค่ะ (สังเกตว่าลูกยังอุจจาระเกิน 2 ครั้งต่อวัน)
ถึงแม้ว่าลูกจะทำท่าหงุดหงิดเวลาที่ดูดนมแม่หลังจากเพิ่งปั๊มเสร็จ ไม่ได้หมายถึงนมแม่ไม่พอเพียงแต่ไหลช้าลง แต่ไม่นานลูกจะปรับตัวเข้ากับความช้าของน้ำนมได้เอง แต่ถ้าคุณแม่ไม่มั่นใจว่าการขโมยนมออกนาน 10 นาที จะเป็นการเอานมออกมากเกินไป อาจเริ่มจากปั๊มนานเพียง 5-7 นาทีก่อนก็ได้ ส่วนเวลากลางคืน หลังจากลูกดูดเสร็จแล้ว หากคุณแม่ยังไม่ง่วงนอน จะปั๊มนมต่ออีก10 นาทีก็ได้ค่ะ ถึงแม้ได้นมไม่มาก แต่ช่วยให้เกลี้ยงเต้าจริง ๆ แต่ถ้าแม่ง่วงนอนจะนอนเลยก็ได้ ขโมยปั๊มแค่ช่วงกลางวันก็ได้ค่ะ
ในกรณีที่ลูกเป็นเด็กที่ขอดูดนมตลอดเวลาแทบทุกชั่วโมง ทำให้แม่ไม่มีเวลาเหลือพอที่จะขโมยปั๊มนม ให้ใช้วิธีปั๊มนมพร้อมกับขณะที่ลูกดูดนมอีกข้าง โดยถือที่ปั๊มนมนาน 10 นาที ก็พอ ครั้งต่อไปที่ลูกดูดให้สลับข้างดูดและปั๊ม
5. ลูกครบ 1 เดือน ให้เริ่มฝึกดูดนมแม่จากขวด
วันละ 1 – 2 ครั้งทุก ๆ วัน ให้ใช้จุกขนาดเล็กเท่านั้น และไม่ต้องเปลี่ยนขนาดจุกเมื่อลูกโตขึ้น เพราะถ้านมไหลเร็วลูกจะติดความเร็ว แล้วปฏิเสธการดูดเต้า หรือ แสดงท่าทีหงุดหงิด
เวลาถือขวดนมควรทำให้ขวดขนานกับพื้นราบ เพื่อให้นมไหลช้าที่สุด ลมเข้าท้องให้คอยจับเรอ ใช้เวลาในการป้อนขวดนาน 20 นาที ไม่ใช่ 2 – 3 นาที เพราะถ้าดูดเสร็จเร็ว ลูกยังมีความอยากดูดอยู่ จะขยับปากและร้องไห้จะดูดต่อ ทำให้ผู้เลี้ยงเข้าใจว่ายังกินไม่อิ่ม จึงเติมนมเข้าไปอีกจนล้นออกมาหรือใช้นมจนหมดสต๊อก
ปริมาณนมที่ลูกควรกิน คือ ชั่วโมงละ 1 ออนซ์ เช่น ลูกอายุ 1 เดือน กินนมครั้งละ 3 – 4 ออนซ์ ควรอิ่มนาน 3 – 4 ชม. ถ้าลูกอายุ 2 เดือน กินนมครั้งละ 4 – 5 ออนซ์ ควรอิ่มนาน 4 – 5 ชม.
6. เมื่อแม่กลับไปทำงาน ควรปั๊มนมทุก 2 – 3 ชม.
จะช่วยรักษาระดับการสร้างน้ำนมให้คงที่ไม่ลดลง แต่ถ้าปั๊มห่างกว่า 3 ชม. ปริมาณน้ำนมจะลดลง ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรปั๊มนมที่โต๊ะทำงานและใช้ผ้าคลุมสวมทับ โดยใช้แขนเพียงข้างเดียวดันที่ปั๊มนมทั้ง 2 ข้าง ส่วนอีกข้างยังทำงานได้ หรือถ้าที่โต๊ะทำงานไม่สะดวกจริง ๆ ในห้องน้ำก็ไม่ควรใช้เป็นที่ปั๊มนม คุณแม่บางคนที่มีรถ จะเข้าไปปั๊มนมในรถยนต์ของตัวเองก็สะดวกค่ะ ปั๊มเสร็จค่อยเอาไปแช่ในตู้เย็น ตอนเย็นเอากลับบ้าน หรือหากระเป๋าเก็บความเย็น ใส่เจลเย็นไว้เพิ่มความเย็นด้วย ส่วนเครื่องปั๊มยังไม่ต้องล้าง ให้เก็บใส่ถุงซิปล็อกแช่เย็นไว้ด้วย ค่อยกลับบ้านไปล้างทีเดียวค่ะ
เพียงเท่านี้คุณแม่ลูกอ่อนวัยทำงานก็น่าจะหายกังวลได้บ้าง ว่าหากลูกน้อยยังต้องการนม คุณแม่จะสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ เพื่อให้ทารกน้อยยังคงเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพสมวัย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คุณแม่น้ำนมเยอะ – เวลาน้อย ปั๊มนมบ่อย ต้องห้ามพลาด! 3 ยี่ห้อเครื่องปั๊มนมไฟฟ้าตัวท็อป
น้ำนมแม่ไม่ไหล ท่อนมอุดตัน เต้าคัด ปั๊มไม่ออก เกิดจากสาเหตุอะไร ต้องแก้ยังไง
5 เรื่องที่ แม่นักปั๊ม อาจพลาดไป ทำแบบนี้ส่งผลให้น้ำนมน้อยนะจะบอกให้
ที่มา : Medela, Nhs.uk
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!