โรคซึมเศร้านั้นอาจเกิดขึ้นกับคุณแม่ได้ในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด นอกจากสิ่งที่ต้องเผชิญแล้วยังอาจเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกายที่ลดลงในระหว่างหลังคลอด อารมณ์คุณแม่หลังคลอด ดังกล่าวนี้อาจทำให้คุณแม่มีภาวะเศร้าก่อนให้นมลูกด้วย
เศร้าก่อนให้นมลูก ที่วูบขึ้นได้ก่อนให้ลูกกินนม
ในช่วงเวลาไม่กี่นาทีก่อนให้ลูกกินนมแม่ ร่างกายหลังคลอดที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอยู่แล้ว จะมีฮอร์โมนตัวหนึ่งที่สำคัญซึ่งมีผลต่ออารมณ์ของคุณแม่ชื่อว่า โดปามีน (dopamine) ลดระดับลง ส่งผลให้คุณแม่มีอารมณ์เศร้าก่อนการให้นม หรือ Dysphoric Milk Ejection Reflux (D-MER) ทำให้รู้สึกเศร้า หดหู่ กระวนกระวาย ร้องไห้ หรือโกรธยามที่รู้สึกว่าไม่มีใครช่วยเหลือได้ มีความสิ้นหวังก่อนที่จะเริ่มให้นมลูก แต่อาการนี้จะวูบขึ้นมาได้ 2-3 นาทีแล้วก็หายไป ซึ่งจะแตกต่างจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แม่จะรู้สึกมีอารมณ์หรืออาการซึมเศร้าต่อเนื่องเป็นเวลานานไม่เฉพาะช่วงก่อนการให้นม ซึ่งโรคซึมเศร้าหลังคลอดนี้อาการมักจะหายไปได้เองภายใน 2 สัปดาห์ แต่หากเป็นนานกว่านั้น จำเป็นที่แม่ควรจะได้รับการรักษาและการดูแลเฉพาะจากจิตแพทย์
“อารมณ์แปรปรวนก่อนให้นม” อารมณ์คุณแม่หลังคลอด ที่ต้องรับมือ
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์ ได้ให้คำแนะนำการรับมืออารมณ์แปรปรวนก่อนการให้นมว่า ถ้าคุณแม่เข้าใจถึงภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังคลอด เข้าใจบทบาทของคุณแม่มือใหม่ที่ต้องใช้ความพยายามในการเลี้ยงทารกแรกเกิด และไม่กังวลมากไปเกี่ยวกับการให้นมแม่ ก็จะทำให้คุณแม่ไม่วิตกกังวล ใช้การฝึกหายใจเข้าออกลึก ๆ ช่วยผ่อนคลาย ฟังดนตรีที่ชอบ หรือใช้กลิ่นบำบัด โดยอาจใช้เทียนหอมกลิ่นต่าง ๆ เช่น กลิ่นลาเวนเดอร์ก็จะช่วยทำรู้สึกผ่อนคลายได้ รวมถึงการเอาใจใส่ของครอบครัว การได้รับความช่วยเหลือจากคุณพ่อที่ช่วยแบ่งเบาภาระการเลี้ยงลูกด้วยอีกคนก็จะช่วยลดปัญหาของภาวะนี้ลงได้ อารมณ์เศร้าก่อนการให้นมนี้ โดยทั่วไปจะดีขึ้นและหายเองเมื่อผ่านไปประมาณ 2-3 เดือนค่ะ.
ร้องไห้หลังคลอด อารมณ์คุณแม่หลังคลอด นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย เป็นซึมเศร้าหลังคลอด หรือไม่
ร้องไห้ หลังคลอด
ร้องไห้หลังคลอด ชอบดราม่า นั่งเครียดคนเดียว แม่คิดมากไปเองหรือเป็นซึมเศร้าหลังคลอด ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นนานแค่ไหน หายเองได้ไหม อาการรุนแรงแค่ไหนต้องไปหาหมอ
“ซึมเศร้าหลังคลอด” ภาวะที่พบได้บ่อย คุณแม่ควรระวังไว้
หลังคลอดทารกน้อยได้ไม่กี่วัน คุณแม่อาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายของร่างกายและจิตใจ อีกทั้งต้องอดหลับอดนอนและเหน็ดเหนื่อยกับการเลี้ยงดู การให้นมลูก อันเป็นปัจจัยที่ทำให้คุณแม่เกิดอาการซึมเศร้าหลังการคลอดได้ ทั้งนี้ การร้องไห้หลังคลอดอาจเป็นเพียงภาวะเศร้าชั่วคราวหลังคลอด หรือ โรคซึมเศร้าหลังคลอดก็ได้ ซึ่งความรุนแรงของโรคและแนวทางการรักษาจะต่างกัน มีรายละเอียดที่คุณแม่ควรทราบเพื่อจะได้เฝ้าระวังอาการไว้ว่าเมื่อใดควรต้องไปพบคุณหมอ ดังนี้ค่ะ
1. ภาวะเศร้าชั่วคราวหลังคลอด (Postpartum blues หรือ Baby blues)
เป็นภาวะที่พบได้บ่อยจนแทบจะเป็นภาวะปกติในการปรับตัวหลังคลอด เพราะมีอุบัติเหตุสูงถึง 50-85% ในผู้หญิงหลังคลอด เลยค่ะ
อาการ : รู้สึกเศร้า หงุดหงิด ร้องไห้ง่ายกว่าปกติ วิตกกังวล อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ อาการมักจะไม่รุนแรง เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 2-4 วันแรกและหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์ หลังคลอดลูก
ปัจจัยเสี่ยง : ภาวะนี้เชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลังคลอดในคุณแม่ โดยจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นในกลุ่มคุณแม่ที่เคยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน มีประวัติโรคซึมเศร้าในครอบครัว และมีความเครียดสูงระหว่างการตั้งครรภ์
การรักษา : เน้นที่การดูแลประคับประคองจิตใจของผู้ป่วยโดยไม่ต้องใช้ยา อาการมักจะดีขึ้นเองภายใน 2 สัปดาห์ แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายที่พัฒนา กลายเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดในเวลาต่อมาได้
2. โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression-PPD)
เป็นโรคที่มีความรุนแรงของอาการมากกว่า Postpartum blues พบได้ประมาณ 12-13% ในผู้หญิงหลังคลอด
อาการ : คล้ายกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ได้แก่ รู้สึกเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ ย้ำคิดย้ำทำ มีอาการวิตกกังวลมาก กลัวว่าจะเกิดอันตรายกับลูกตลอดเวลา รู้สึกผิดว่าตนเองเป็นแม่ที่ไม่ดีพอ ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก จนนำมาซึ่งอันตรายจากการทำร้ายตัวเองและลูกได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โดยอาการจะเป็นมากขึ้นช้า ๆ หลังจาก 2 สัปดาห์แรกของการคลอดไปแล้ว หรืออาจเป็นอาการที่พัฒนายืดเยื้อจาก Postpartum blues มาเกิน 2 สัปดาห์แล้วไม่หายก็ได้
ทั้งนี้ อาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอดของคุณแม่อาจอยู่ได้นานเป็นปีหากไม่ได้รับการรักษาจนเกิดผลเสียต่อพัฒนาการด้านต่างๆ และอารมณ์ของลูกได้
ปัจจัยเสี่ยง : คุณแม่ที่เคยมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดในการตั้งครรภ์ก่อนหน้า การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ มีความเครียดสูงเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงของการเกิดภาวะนี้มากกว่าปกติ
การรักษา : เนื่องจากโรคซึมเศร้าหลังคลอดนี้มีความรุนแรงมากพอสมควร และอาจนำมาซึ่งการทำร้ายตัวเองของคุณแม่หรือลูก บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้ยาต้านเศร้า (antidepressant) ในการรักษาคุณแม่ จึงควรไปพบคุณหมอเฉพาะทางด้านจิตเวชเพื่อพิจารณาให้ยา ร่วมกับการทำจิตบำบัด ซึ่งในปัจจุบันมียารักษาโรคนี้ที่ผ่านน้ำนมแม่น้อยและปลอดภัยในการรักษาสำหรับหญิงให้นมบุตรได้นะคะ
จะเห็นได้ว่าอาการซึมเศร้าทั้งภาวะเศร้าชั่วคราวหลังคลอดและโรคซึมเศร้าหลังคลอด พบได้ไม่น้อย คุณแม่ที่ร้องไห้หลังคลอดบ่อย ๆ จึงควรจะสังเกตอาการของตัวเองว่าเข้าได้กับลักษณะเหล่านี้หรือไม่หลังจากการคลอดทารก โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์แรก เพื่อจะได้รีบทำการรักษาอย่างทันท่วงทีค่ะ
ที่มา : https://th.theasianparent.com/%E0%B8%A3%E0%4
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
ท้องอยู่นะอย่าขัดใจ คนท้องอารมณ์อ่อนไหว ท้องแล้วเห็นแก่ตัว อยากกินอะไรต้องได้กิน
5 เคล็ดลับ เลี้ยงทารกให้อารมณ์ดี มีความสุข ต้องทำแบบนี้กับลูกทุกวัน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!