อาการไข้หวัดใหญ่ อย่าคิดว่าแค่เป็นหวัดทั่วไป แท้จริงแล้วโรคไข้หวัดใหญ่นั้น เป็น โรคภัยที่ไม่ควรมองห้าม หากไม่ระวังอันตรายถึงชีวิต อาการไข้หวัดใหญ่เป็นอย่างไร ไปดูกันเลย
ไข้หวัดใหญ่ (influenza)
อาการไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ที่พบได้ทุกช่วงอายุ ซึ่งมักพบในเด็ก แต่อัตราการเสียชีวิตเกิดกับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ โรคปอด โรคไต เป็นต้น ไข้หวัดใหญ่จะระบาดมากในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม) ของทุกปี โรคไข้หวัดใหญ่เป็นการติดเชื้อที่ชื่อว่า Influenza virus เป็นการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ มีอาการรุนแรงและมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงเสียชีวิต
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีสังเกตลูกเป็นไข้เลือดออก อาการไข้เลือดออก ลูกเป็นไข้เลือดออก แม่จะรู้ได้อย่างไร
ไข้หวัดใหญ่ มีสายกี่สายพันธุ์
พญ.สุวรรณี รัตนชูวงศ์ ได้ให้ข้อมูลว่า ไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza หรือที่ในทางการแพทย์เราจะเรียกสั้น ๆ ว่า “ฟลู” นั้น คือ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ที่มีสาเหตุมาจาก “เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่” ทำให้ผู้ติดเชื้อ มีไข้สูง ปวดหัว ตัวร้อน ไอจาม มีน้ำมูก และปวดเมื่อยตามตัว โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่ปัจจุบันถือได้ว่า “ร้ายกาจที่สุด” และส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคมเรามากที่สุดนั้น จะมีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ ได้แก่
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอ
หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ฟลู A” ถือเป็นสายพันธุ์ที่มีความอันตรายมากที่สุด เพราะสามารถกลายพันธุ์ได้ ตลอดจนแพร่ระบาดได้เป็นวงกว้าง ทำให้เชื้อมีความเป็นลูกผสม และมีฤทธิ์รุนแรง โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มักจะแพร่ระบาดตามฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งสามารถแบ่งแยกออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ย่อยที่พบบ่อย คือ H1N1 และ H3N2
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B
หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ฟลู B” ถือเป็นสายพันธุ์ที่มีความอันตรายรุนแรงเช่นกัน ที่พบได้บ่อย คือ B Victoria , B Yamagata , B Phuket ซึ่งสามารถระบาดได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูหนาวเช่นเดียวกัน
ไข้หวัดใหญ่ ติดต่อกันอย่างไร
อาการไข้หวัดใหญ่
เชื้อไข้หวัดจะคล้ายไข้หวัดทั่วไป คือการติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ ของผู้ป่วยที่ไอหรือจาม และสัมผัสมือหรือการใช้สิ่งของต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่น เมื่อสัมผัสเชื้อแล้วนำมือมาขยี้ตา แคะจมูก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายของเรา
อาการไข้หวัดใหญ่ เป็นอย่างไร
ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อไปแล้ว 1-3 วัน และรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่มักมีอาการไข้ติดต่อกันหลายวัน โดยในเด็กจะมีไข้สูงเกิน 39-40 องศา ติดต่อกัน 3-4 วัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
อันตรายของไข้หวัดใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือ การเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค ได้แก่ โรคปอดอักเสบ และโรคสมองอักเสบ กลุ่มที่มีความเสี่ยง คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน โรคไต โรคเอดส์ กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้ ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที เมื่อรู้ว่าเป็นไข้หวัดใหญ่
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกอาเจียน แหวะนม สำรอกนม ภาวะแหวะนมในทารก อันตรายร้ายแรงแค่ไหน
วิธีรักษาโรคไข้หวัดใหญ่
การดูแลรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่จะหายเอง หากอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาตามอาการที่บ้านได้ หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน ควรรีบพบแพทย์ เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนมาจากโรคอื่น ๆ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส คือยาโอลเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) เป็นยาชนิดกิน หากผู้ป่วยได้รับยาภายใน 2 วันหลังเริ่มป่วย จะทำให้ร่างกายดีขึ้น
ดูแลรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ที่บ้าน โดย
- รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ
- เช็ดตัวเพื่อให้ไข้ลดเป็นระยะ ด้วยน้ำสะอาด ไม่เย็น
- ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มาก ๆ งดดื่มน้ำเย็น
- พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้มาก เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้ หากรับประทานได้น้อย อาจจะต้องรับวิตามินเสริมเพิ่ม
- นอนหลับพักผ่อนมาก ๆ ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี
- ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ยกเว้นติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ต้องรับประทานยาจนหมดตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ดื้อยา
ป้องกันอย่างไร ไม่ให้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
อาการไข้หวัดใหญ่
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ หากมีความจำเป็น ควรใส่หน้ากากอนามัย
- ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
- ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสะอาดและสบู่ รวมถึงใช้เจลแอลกอฮอล์ ทั้งผู้ป่วยและผู้ที่ไม่ป่วย
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งไข่ นม ผัก และผลไม้ ดื่มน้ำสะอาด
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แนะนำให้ฉีดกับคนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กอายุ 6 เดือน – 19 ปี, คนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป, คนที่เป็นโรคเบาหวาน, โรคหัวใจ, โรคปอด, ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยที่จะต้องไปคลินิก หรือไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ, ผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล และคนที่กินยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ป้องกันลูกชักจากไข้สูง: อันตรายจากการเป็นไข้มีมากกว่าที่คิด
ที่มา : bangkokhospital.com,paolohospital.com,phyathai.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!