วิธีสังเกตลูกเป็นไข้เลือดออก ไข้สูงเฉียบพลัน อาจเป็นสัญญาณของไข้เลือดออก พ่อแม่อาจจะต้องสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที และสามารถรักษาชีวิตของลูกน้อยเอาไว้ได้ อาการไข้เลือดออกในทารก เป็นยังไง วิธีสังเกต อาการไข้เลือดออก มาดูกัน
ไข้เลือดออก โรคร้ายในบ้าน
ข้อมูลจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ประจำปี 2566 ซึ่งทำการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 1 มีนาคม 2566 ว่ามีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศ 6,156 ราย เสียชีวิต 4 ราย โดยช่วงอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก นั่นคือ อายุ 5-14 ปี รองลงมา คือ 15-24 ปี และเด็กแรกเกิด – 4 ปี ตามลำดับ พื้นที่ที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ กรุงเทพฯ, ภาคใต้, ภาคกลาง, ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามลำดับ จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกรายเดือนในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 พบว่า ในเดือนมกราคมมีผู้ป่วยมากกว่าปีที่แล้ว 6.6 เท่า
กรมควบคุมโรคได้แนะนำมาตรการป้องกันไข้เลือดออก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค เพื่อร่วมมือกันในการปกป้องลูกหลาน ให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือด โดยมาตรการ มีดังนี้
- เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
- เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
- เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่
แนวทางดังกล่าวจะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิการ์ และ ไข้ปวดข้อยุงลาย
โรคไข้เลือดออกระบาดในหน้าฝน
ในฤดูฝนมีความเสี่ยงสูงขึ้น เพราะปริมาณน้ำมาก ทำให้เกิดแหล่งน้ำขังได้ในหลายพื้นที่ โดยกลุ่มอายุที่พบเป็นโรคดังกล่าวมาก คือ กลุ่มเด็กอายุระหว่าง 10 – 14 ปี ในขณะที่กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูง เมื่อป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก คือ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ คนท้อง คนอ้วน หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเลือด เป็นต้น
ไม่อยากให้ลูกป่วยต้องรู้ วิธีป้องกันลูกเป็นไข้เลือดออก
การป้องกันโรคไข้เลือดออกสามารถทำได้ 3 ขั้นตอน เปรียบเสมือนเป็นการสร้างเกราะภูมิคุ้มกันถึง 3 ชั้น
- เกราะคุ้มกันชั้นที่ 1 แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปี จนถึงผู้ใหญ่อายุ 45 ปี แบ่งการฉีดเป็น 3 เข็ม ระยะห่างกัน 6 เดือน (0, 6, 12 เดือน) แต่ไม่แนะนำให้ฉีดในเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปี ซึ่งเป็นวัคซีนสำหรับป้องกันโรคไข้เลือดออกจากไวรัสเดงกี่เท่านั้น จากการวิจัยพบว่า ป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยละ 60 ป้องกันการเกิดโรครุนแรงได้ร้อยละ 90 แต่ถ้าร่างกายของผู้รับการฉีดวัคซีนเคยมีการติดเชื้อไวรัสเดงกี่อยู่แล้ว จะเป็นการเสริมภูมิป้องกันได้ดียิ่งขึ้น
- เกราะคุ้มกันชั้นที่ 2 คือ การช่วยกันกำจัดทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น แหล่งน้ำขังในบ้าน การป้องกันตัวเอง และบุตรหลานไม่ให้ยุงกัด ด้วยการนอนในมุ้ง ทายากันยุง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ
- และเกราะคุ้มกันชั้นที่ 3 คือการไปพบแพทย์เมื่อป่วยเป็นไข้ ควรติดตามอาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกฉันเป็นไข้เลือดออก หรือชิคุนกุนยา?
อาการไข้เลือดออกในทารก สังเกตอย่างไร
เมื่อมีไข้สูงมาก จะมีโอกาสเกิดภาวะช็อกได้เมื่อไข้เริ่มลด พ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ควรประมาท ควรสังเกต 9 สัญญาณอาการเสี่ยงที่จะเป็นโรคไข้เลือดออก คือ
- ไข้ลง หรือไข้ลดลงแต่อาการเลวลง ยังเบื่ออาหาร ไม่ค่อยเล่น และอ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ อาเจียน ตลอดเวลา
- ปวดท้องมาก
- มีเลือดออกมาก เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
- พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปจากปกติ
- กระหายน้ำตลอดเวลา
- ร้องกวนมากในเด็กเล็ก
- ตัวเย็น สีผิวคล้ำลง หรือตัวลาย
- ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกิน 4 – 6 ชั่วโมง
วิธีสังเกตลูกเป็นไข้เลือดออกต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ให้เช็ดตัวลดไข้ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง และรีบพาลูกที่ป่วยไปโรงพยาบาลด่วน ๆ ถ้ามีอาการ แม้ว่าไข้เริ่มจะลดลงแล้วก็ควรไปพบแพทย์ สงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ระวัง!!! โรคฉี่หนู ภัยร้ายที่มาช่วงหน้าฝน รักษาผิดวิธีเสี่ยงเสียชีวิตสูง
อาการไข้เลือดออกในเด็ก กับผู้ใหญ่เแตกต่างกันหรือไม่ ?
อาการไข้เลือดออกในเด็ก และผู้ใหญ่จะไม่ต่างกันมาก หลัก ๆ คือ มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และอาจจะมีจุดแดงกระจายตามผิวหนัง แต่อาการไข้เลือดออกในผู้ใหญ่อาจจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตามาก และมีอาการที่รุนแรงกว่าในเด็ก
ไข้เลือดออก รักษาอย่างไร ? กี่วันจึงจะหาย ?
- อาการไข้เลือดออกจะมีไข้สูง และทำให้เกิดอาการชักได้ โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน หรือมีประวัติการชักมาก่อน หากจำเป็นต้องใช้ยาลดไข้ ห้ามใช้ยาแอสไพริน และ ibuprofen เด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้เลือดออก เนื่องจากยาเหล่านี้ จะรบกวนการทำงานของเกล็ดเลือดทำให้ผิดปกติ และอาจทำให้เกิดอาการทางสมองได้ ควรใช้ยาพาราเซตามอล เฉพาะเวลาที่ไข้สูงกว่า 39 องศาเท่านั้น
- ภาวะการช็อก เป็นสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นพร้อมกับไข้ที่ลดลง อาการที่อาจจะส่งผลให้ช็อกคือ เบื่ออาหารมากขึ้น ดื่มน้ำน้อยลง ปัสสาวะน้อยลง ปวดท้องมาก กระสับกระส่าย และมือเท้าเย็น ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที
- โดยทั่วไปแล้ว หากยังมีไข้ แพทย์อาจให้ยาลดไข้กลับไปรับประทาน และให้พ่อแม่ สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ในบางรายที่ร่างกายมีปริมาณเกล็ดเลือดลดลงเป็นระยะ ๆ เสี่ยงต่อการช็อก คุณหมอจำเป็นต้องให้สารน้ำชดเชย
รู้แบบนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่หาทางป้องกันตัวเองและลูกน้อยจากยุงลายกันไว้ก่อนจะดีกว่านะคะ เพราะโรคไข้เลือดออกนั้นอันตรายกว่าที่ไว้มาก ทางที่ดีคือไม่เป็นจะดีที่สุด โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ นอกจากไข้เลือดออกก็ยังมีโรคอื่น ๆ อีกที่ต้องระวังนะคะ
อ่านประสบการณ์จริงของคุณแม่และลูกเมื่อต้องเผชิญกับโรคไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก โรคร้ายที่มากับฝน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคหน้าฝน โรคที่มากับฤดูฝน ฝนตก ลูกเสี่ยงป่วยง่าย โรคไหนที่ต้องระวังในหน้าฝน โรคหน้าฝนในเด็ก
หน้าฝนปล่อยลูกเล่นนอกบ้าน ต้องกำชับห้ามจับ กิ้งกือมีพิษ! ทารก เด็กเล็กยิ่งอันตราย
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และโรคร้ายระบาดหน้าฝน จะสร้างภูมิต้านทานให้ลูกอย่างไร
ที่มา : bangkok hospital phitsanulok, thaihealth, ddc.moph.go
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!