กระตุ้นให้ลูกเรียน มากไป เร็วไป ระวัง ลูกสมาธิสั้น ?
หรือเราจะกระตุ้นให้ลูกเรียนเร็วหรือมากเกินไป จนทำให้ ลูกสมาธิสั้น ?
คุณหมอหมอสังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้มีการนำเสนอข้อมูลถึงเรื่องดังกล่าว ผ่านทางเพจ Facebook คลีนิกเด็กหมอสังคม – Sungkom Clinic – คลินิกหมอเด็ก เอาไว้ดังนี้
“จากการศึกษาในเด็กวัย 3-9 ปี ประเทศอเมริกา เปรียบเทียบระหว่างปี 1997-2000 (พ.ศ.2540-2543) พบว่าในปี 2000 เด็กจะเข้าเรียนอนุบาลเร็วขึ้น ต้องอ่านหนังสือ ทำการบ้านเพิ่มขึ้น พ่อ แม่ ต้องช่วยสอนและช่วยทำการบ้านมากขึ้น และเด็กมีเวลาเล่น เป็นเด็กน้อยลง แต่กลับมีเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 1997
คล้ายกับบ้านเรา คือ เดี๋ยวนี้บางบ้านส่งลูกไปเข้าชั้นเตรียมอนุบาลตั้งแต่อายุ 1 ขวบกว่า เด็กอนุบาลต้องอ่านออก เขียน และบวกเลขได้จึงจะสอบเข้าโรงเรียนดัง ๆ ได้ การบ้านมากมายมหาศาล บางทีก็ยากมาก จนลูกทำไม่ได้หรือไม่ทัน พ่อ แม่ต้องช่วย จนไม่รู้ว่าเป็นการบ้านลูก หรือ ของพ่อ แม่กันแน่ เรียนในชั้นไม่พอ เลิกเรียนยังต้องติว เรียนพิเศษเพราะกลัวลูกเรียนไม่ทันเพื่อน สอบได้คะแนนไม่ดี เสาร์ อาทิตย์ ต้องออกจากบ้านไปเรียนพิเศษ ทำกิจกรรม เข้าคอร์สต่าง ๆ แทบไม่ได้หยุดพักผ่อน ไม่มีเวลาเล่น ชีวิตความเป็นเด็กหายไป และเด็กไทยก็เป็นโรคสมาธิสั้นเพิ่มขึ้น
แม้ว่าเราจะยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจนที่ทำให้เป็นโรคสมาธิสั้น แต่เชื่อว่าน่าจะเกิดจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู การให้ลูกเข้าเรียนเร็วตั้งแต่อายุยังน้อย ทั้ง ๆ ที่ลูกยังไม่พร้อม ยังไม่มีสมาธิดีพอที่จะนั่งเรียนเป็นเวลานาน ๆ หรือ การให้ลูกเรียนหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ มากเกินไป ก็อาจจะมีส่วนกระตุ้นให้ลูกต้องรีบเร่ง มีสมาธิสั้นได้”
นอกจากนี้ คุณหมอยังฝากข้อคิดทิ้งท้ายเอาไว้ว่า คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรช่วยกันคิด ทบทวนว่าควรจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ลูกถูกเร่งเร้า กระตุ้นให้เรียนหรือทำกิจกรรมมากมาย จนแทบไม่มีเวลาได้พัก ได้อยู่กับครอบครัว และให้เอาชีวิตความเป็นเด็กของลูกคืนมา
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อาจจะสงสัยว่า “เอ๊ะ ลูกเรามีอาการสมาธิสั้นหรือเปล่า แล้วภาวะสมาธิสั้นที่ว่านี้เป็นอย่างไร” เราไปติดตามอ่านกันต่อได้เลยครับ
สมาธิสั้น VS สมาธิสั้นเทียม
พญ.โสรยา ชัชวาลานนท์ กุมารแพทย์และจิตแพทย์เด็ก ได้เคยอธิบายถึงเรื่องภาวะสมาธิสั้น ผ่านทาง theAsianparent Thailand เอาไว้ว่า ภาวะสมาธิสั้น เป็นภาวะที่คนทั่วไปให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ปกครองของเด็กอนุบาลและเด็กวัยเรียน
ซึ่งคำถามที่คุณหมอมักจะได้รับการขอคำปรึกษาบ่อย ๆ จากคุณพ่อคุณแม่ และคุณครู ในปัจจุบันก็คือ “ลูกซน อยู่ไม่นิ่งเลย จะเป็นสมาธิสั้นไหมคะหมอ” โดยคำว่า สมาธิสั้น นั้น จะหมายถึง 3 กลุ่มอาการ ได้แก่
- hyperactive คือ ความซน อยู่ไม่นิ่ง
- inattention คือ ความไม่มีสมาธิไม่ใส่ใจรายละเอียด ไม่สามารถจดจ่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน
- impulsivity คือ ความหุนหันพลันแล่น ไม่สามารถอดทน รอคอย ไม่คิดไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนทำ ภาวะสมาธิสั้นจึงส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็กเป็นอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบัน พบภาวะสมาธิสั้นในเด็กวัยเรียนได้สูงถึง ร้อยละ 5-10 นั่นหมายความว่า ในห้องเรียนที่มีเด็กเรียน 30 คน จะต้องมีเด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้น อย่างน้อย 2-3 คน
สมาธิสั้นเทียม เป็นอย่างไร
ในบรรดาเด็กที่มีอาการเข้าข่ายสมาธิสั้นนั้น เป็น “โรค” สมาธิสั้นทั้งหมด หรือไม่ก็มีสิ่งใดที่ซ่อนอยู่ จนเป็นสาเหตุให้มีอาการเหมือนสมาธิสั้น หรือที่เรียกว่า สมาธิสั้นเทียม ซึ่งปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของสมาธิสั้นเทียม จะมีอะไรบ้างนั้น ติดตามต่อหน้าถัดไปได้เลย
สาเหตุอื่น มือถือ สมาร์ทโฟน เกี่ยวไหม ทำอย่างไรดี ติดตามต่อหน้าถัดไป —->
สาเหตุของ สมาธิสั้นเทียม
1. ยุคสมัยของ digital/internet
เด็กในยุคปัจจุบันจัดเป็นเด็ก generation Z (เกิดระหว่าง 2538-2552) ปัจจุบันเป็นช่วงวัยเริ่มเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนเด็กวัยอนุบาลในปัจจุบัน จัดอยู่ใน generation a(alfa) คือเด็กที่เกิดหลังปี 2553 เป็นต้นมา เด็ก generation นี้เกิดมาพร้อมอินเตอร์เน็ตและความรวดเร็วของเทคโนโลยี ทำให้ไม่ถูกฝึกอดทนรอคอยสิ่งใดสิ่งหนึ่งนาน ๆ ในยุคก่อนเมื่อหิวข้าว คุณยายต้องก่อฟืน หุงข้าว เด็กถูกฝึกการอดทนรอคอยในชีวิตประจำวันโดยปริยาย แต่สำหรับยุคนี้ ทุกอย่างรวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส ไม่กี่นาทีก็ได้ข้าวมารับประทานแล้ว เด็กยุคนี้จึงดูเหมือนสมาธิสั้นในแง่ของความหุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่สามารถอดทนรอสิ่งใดได้นาน ๆ อยู่นิ่ง ๆ ไม่เป็น
ในส่วนของเทคโนโลยียุคที่ internet รวดเร็ว และเด็กเข้าถึง tablet/smartphone ได้ทุกที่ทุกเวลา การเสพเทคโนโลยีดังกล่าว มีผลต่อสมาธิอย่างมาก เนื่องจาก เด็กถูกเร้าจากภาพที่เปลี่ยนเร็วและบ่อยในช่วงเป็นวินาที แสง สี เสียง ที่กระตุ้นประสาทสัมผัสตลอดเวลา ทำให้เด็กชินต่อสิ่งเหล่านี้ เมื่อต้องควบคุมตนเองให้จดจ่อในสิ่งเร้าที่ไม่กระตุ้นประสาทสัมผัสที่แรงพอ เช่น การสอนของครู การทำแบบฝึกหัดนาน ๆ ก็ไม่ชิน และไม่สามารถจดจ่อมีสมาธิได้จึงมีอาการคล้ายสมาธิสั้น ซึ่งแนวทางปฏิบัติ ทางกุมารแพทย์ แนะนำว่า เด็กที่อายุ น้อยกว่า 2 ปี ไม่ควรดูทีวี smartphone/tablet เลย
2. เด็กปัญญาเลิศ (Gifted child)
หมายถึง เด็กที่มีระดับสติปัญญา (IQ) สูงกว่า 130 เด็กกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าบทเรียน ง่ายเกินไป สิ่งที่ครูสอนรู้หมดแล้ว ทำให้ไม่สนใจที่จะเรียน เมื่อเกิดความเบื่อจึงทำกิจกรรมอื่นระหว่างเรียน บางรายลุกเดินไปมา ทำให้ดูเหมือนไม่มีสมาธิจดจ่อ
3. บทเรียนเกินอายุพัฒนาการ
ในยุคแห่งการแข่งขัน โรงเรียนบางโรงเรียน จัดหลักสูตรให้ยากเกินวัยเพื่อสนับสนุนการสอบเข้าในโรงเรียนต่าง ๆ ในเด็กที่ยังไม่พร้อมจึงทำไม่ได้ ส่งผลให้ไม่อยากเรียน จึงไม่มีสมาธิในการเรียน ในเด็กที่ถูกบังคับเรียน อาจยิ่งทำให้มีความเหนื่อยล้าจากการเรียน ส่งผลให้รู้สึกต่อต้านการเรียน จึงไม่ตั้งใจ จนดูเหมือนสมาธิสั้นได้
4. ปัญหาด้านอารมณ์
ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล เด็กจะไม่แสดงออกเหมือนผู้ใหญ่ แต่จะมีลักษณะของความซน หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ
5. ความบกพร่องด้านการเรียนรู้เฉพาะด้าน (Learning disability, LD)
LD เป็นความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ เด็กไม่สามารถเข้าใจ การอ่าน เขียน หรือคำนวณได้ แม้ว่าระดับสติปัญญาปกติ ความบกพร่องอาจเป็นเพียงด้านใดด้านหนึ่ง หรือมีความบกพร่องทุก ด้านร่วมกันก็ได้ เมื่อเรียนไม่เข้าใจทำให้เด็กดูเหมือนไม่มีสมาธิ ทำให้มีอาการเหมือนสมาธิสั้นตามมา
6. โรคทางกายอื่น ได้แก่
- ความบกพร่องประสาทสัมผัส ด้านการมองเห็น และการได้ยิน โดยที่เด็กไม่เคยบอกใคร เด็กจะรู้สึกว่า เรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง ฟังไม่ชัด มองกระดานไม่เห็น ส่งผลให้ไม่สนใจการเรียนจึงมีอาการคล้ายสมาธิสั้น
- โรคที่ทำให้มีปัญหาด้านการนอน นอนหลับไม่สนิท เช่น ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจเรื้อรัง (obstructive sleep apnea) ทำให้ในช่วงเวลากลางวันรู้สึกง่วงนอน อ่อนเพลีย ควบคุมตนเองไม่ได้
- ภาวะเป็นพิษจากสารตะกั่ว ทำให้มีอาการเหมือนสมาธิสั้นได้
- ได้รับยาบางตัว เช่น ยากันชักบางตัว มีผลข้างเคียงทำให้มีอาการเหมือนสมาธิสั้น
- เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ทำให้เด็กถูกรบกวนสมาธิจากตัวโรค การรักษา การหยุดเรียนบ่อย มีความกังวล จึงไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนได้
สมาธิสั้นเทียม แตกต่างจากภาวะ สมาธิสั้น อย่างไร
สำหรับ อาการสมาธิสั้นเทียม นั้น เมื่อได้รับการดูแลและแก้ไขต้นเหตุแล้ว อาการสมาธิสั้นเทียมจะหายไป ในขณะที่ โรคสมาธิสั้น จะเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ อาจต้องรักษาด้วยการกินยาอย่างต่อเนื่อง บางรายอาจต้องกินยาจนถึงวัยผู้ใหญ่ ต้องการการปรับพฤติกรรม และการดูแลอย่างต่อเนื่องครับ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เกือบไปแล้ว! ลูกของฉันพัฒนาการถดถอย จนเกือบเป็นออทิสติก
แม่เจอกับตัว! เลี้ยงลูกด้วยมือถือ จ้องสมารท์โฟนนาน ทำลูก “กล้ามเนื้อหัวตาอ่อนแรง”
ทำไมลูกเรามีรูเล็ก ๆ ข้างหู แบบนี้อันตรายร้ายแรงไหม ต้องดูแลอย่างไร
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!