หัวนมดำ เป็นอีกหนึ่งภาวะที่สร้างความวิตกกังวลให้แก่ผู้หญิงไม่น้อย ซึ่งปกติแล้วหัวนมดำเกิดจากสีผิวแต่กำเนิด หรือเกิดจากการตั้งครรภ์ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย สีดำของหัวนมอาจจางหายไปเองในภายหลัง หรือบางกรณีอาจต้องดูแลด้วยวิธีต่าง ๆ ร่วมด้วย วันนี้เราจึงได้ยกข้อมูลเกี่ยวกับ ท้องแล้วหัวนมดำ พร้อมวิธีการดูแลมาฝากคุณแม่ ๆ ทุกคน
ท้องแล้วหัวนมดำ เป็นเพราะอะไร
ในช่วงเวลาของการตั้งครรภ์นั้น ถือเป็นช่วงที่ร่างกายของแม่ท้องจะต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน รูปร่าง หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่มักจะทำให้แม่ท้องรู้สึกกังวล นั่นก็คือเรื่องของหน้าอก เมื่อหน้าอกมีการเปลี่ยนแปลงจึงไม่แปลกที่คนท้อง ท้องแล้วหัวนมดำ นั่นเองค่ะ
ทำไมคนท้องหัวนมดำ
สาเหตุที่ทำให้แม่ท้อง หัวนมดำ มากกว่าคนปกติ นั่นก็เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนตอนท้อง ซึ่งฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นให้ร่างกายเร่งผลิตสารเมลานินออกมาเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเวลาปกติ และเมื่อสารเมลานินมีมากขึ้น ก็จะทำให้ผิวหนังมีสีคล้ำลง โดยเฉพาะบริเวณที่มีเม็ดสีกระจุกรวมกันอยู่แล้ว เช่น กระ รอยแผลเป็น และบริเวณลานนม ซึ่งเป็นผลจากการที่ร่างกายเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อที่จะรองรับทารกในครรภ์ และเป็นการทำให้ทารกเห็นเต้านมแม่ได้ง่ายขึ้นเมื่อทารกคลอดออกมาและคุณแม่ต้องให้นมลูกกินค่ะ
นอกจากนั้นแล้ว ผิวหนังบริเวณจุดซ่อนเร้นและส่วนที่มีการเสียดสีบ่อย ๆ เช่น รักแร้ และโคนขาหนีบ ก็มีลักษณะหมองคล้ำลงอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน และสำหรับแม่ท้องที่มีผิวคล้ำอยู่แล้วก็อาจจะมีความรู้สึกว่าใบหน้าทั้งบริเวณริมฝีปากบน จมูก โหนกแก้ม และหน้าผากหมองคล้ำลงด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ครีมทาหัวนมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ แบรนด์ที่ดีที่สุดในไทย
ท้องแล้วหัวนมดำ อันตรายหรือไม่ ?
สำหรับแม่ท้องหลายคนที่กังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของตนเอง ซึ่งการที่หัวนมดำไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของร่างกายเสมอไป และไม่ส่งผลอันตรายต่อร่างกาย แต่ถ้าหัวนมเปลี่ยนเป็นสีแดง ลอก คัน มีผื่น หรืออาจมีอาการแสบร้อนด้วย อาจจะเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ หรือการอักเสบได้ โดยเฉพาะเมื่อหัวนมเป็นแผลหรือมีก้อนอยู่ใต้หัวนม ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะอาจเสี่ยงเป็นโรคพาเจทเต้านม ซึ่งเป็นมะเร็งเต้านมชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดตรงหัวนมได้
วิธีดูแลรักษาเมื่อหัวนมดำ
หากหัวนมดำเกิดจากการตั้งครรภ์ คุณแม่ไม่ต้องกังวลไปเลยนะคะ เพราะภายในเวลาไม่กี่เดือนหลังจากคลอดลูกน้อย ทั้งสี ขนาดของหัวนม และขนาดหน้าอก จะค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติ แต่ความเข้มของสีผิวบริเวณปานนมอาจยังคงอยู่ และไม่จางลงเท่าไร แต่ถ้าหัวนมดำเพราะมีสีผิวเข้มตามธรรมชาติก็อาจไม่สามารถรักษาอะไรได้ เพราะเป็นเม็ดสีที่มีอยู่ในร่างกายตั้งแต่กำเนิด
อย่างไรก็ตาม ถ้าหัวนมดำเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ มีวิธีดูแล และรักษาภาวะหัวนมดำ ดังต่อไปนี้
- ล้างหัวนมด้วยน้ำอุ่นเป็นประจำ
- ใช้ครีมหรือโลชันทา เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหลังอาบน้ำ เพราะการถูสบู่อาจทำให้ผิวแห้งได้
- พยายามสวมใส่เสื้อชั้นในให้พอดีกับขนาดหน้าอก และหลีกเลี่ยงการใช้เสื้อชั้นในผ้าฝ้าย เพื่อให้อากาศถ่ายเท และลดการระคายเคืองบริเวณหัวนมค่ะ
นอกจากนี้ การสักหัวนมยังเป็นอีกวิธีหนึ่งทางเลือกที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะเราสามารถเลือกระดับความสว่างของสีได้ตามที่ต้องการ สามารถเปลี่ยนสีหัวนมได้ทันที และสีมักคงอยู่ถาวรโดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม แต่ก็ควรสักหัวนมเฉพาะกรณีที่มีข้อบ่งชี้จากแพทย์หรือมีความจำเป็นเท่านั้น และควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ด้วย เพราะอาจจะเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้
ส่วนการสักหัวนมที่ไม่ได้มาตรฐานก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากการสักหัวนมเป็นขั้นตอนทางการแพทย์เอาไว้ใช้กับผู้ป่วยที่สูญเสียหัวนมไปหลังจากผ่าตัดเต้านมออก และอาจต้องผ่าตัดสร้างหัวนมขึ้นมาใหม่นั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : เต้านมตอนท้อง เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นมเล็กจะมีน้ำนมให้ลูกไหม?
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับหัวนมดำ
ความเชื่อเกี่ยวกับหัวนมดำที่หลายคนยังเข้าใจแบบผิด ๆ และอาจจะทำให้เกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อคนที่มีหัวนมดำ เช่น
- หลายคนเชื่อว่าคนที่มีหัวนมดำเป็นคนที่เสียบริสุทธิ์ไปแล้ว ซึ่งในความเป็นจริง บริเวณหัวนม และปานนมจะมีสีเข้มขึ้น เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ แต่ก็ไม่ได้เข้มจนดำสนิท แค่สีจะเข้มกว่าสีผิวจริงประมาณ 10 – 12 เฉดสีเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์
- เชื่อว่าน้ำลายทำให้หัวนมดำ แต่ความจริงแล้วเอนไซม์ในน้ำลายไม่ได้มีผลที่ทำให้เม็ดสีเมลานินเข้มขึ้นเลยค่ะ แต่จะทำให้สีเข้มขึ้นได้จากการใช้ปากดูด หรือถูกเสียดสีอย่างแรงเป็นเวลานาน
- ความเชื่อว่าเมื่อหัวนมมีสีเข้มแล้ว สีจะไม่เข้มขึ้นอีก ซึ่งจริง ๆ ทั้งสีและขนาดของหัวนม ยังสามารถเข้มขึ้นและสามารถขยายขนาดเพิ่มขึ้นได้อีก นอกจากปัจจัยเรื่องฮอร์โมนในร่างกายแล้ว เรื่องอายุที่เพิ่มขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หัวนมมีสีดำได้เช่นเดียวกัน
- มีความเชื่อว่าหัวนมหรือปานนมที่ไม่เรียบเนียน จะบ่งบอกถึงการมีโรคภัยต่าง ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วจุดตุ่มเล็ก ๆ ตะปุ่มตะป่ำนั้นไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกายเลยค่ะ เช่น รอยขรุขระที่บริเวณหัวนมแสดงถึงจำนวนท่อน้ำนม และตุ่มขรุขระบริเวณปานนม คือต่อมขนซึ่งในอนาคต เมื่อเรามีอายุเพิ่มขึ้นก็อาจมีขนงอกขึ้นมาจากต่อมขนนั้นได้เช่นกัน
ทำอย่างไรไม่ให้หัวนมดำ
โดยทั่วไปแล้ว สีผิวที่หมองคล้ำรวมถึงหัวนมที่ดำลง ในช่วงตั้งครรภ์จะเริ่มจางลง และกลับมาขาวใสเหมือนเดิมหลังคลอดไปได้ระยะหนึ่ง สำหรับคุณแม่บางท่านก็อาจจะรู้สึกว่าหัวนมไม่ขาวอมชมพูเหมือนเดิม แต่ก็เพียงคล้ำลงกว่าเดิมเล็กน้อยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม คุณแม่สามารถป้องกันหัวนมและผิวหนังไม่ให้หมองคล้ำจากปัจจัยภายนอกได้ง่าย ๆ โดยการหลีกเลี่ยงแสงแดด ทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสูตรอ่อนโยนเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวระคายเคือง เป็นต้น
นอกจากนี้ความเครียดหรืออารมณ์ที่ผันผวนก็ยังส่งผลให้เกิดสีผิวที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังส่งผลเสียกับลูกน้อย ดังนั้นหากคุณแม่รู้สึกว่าตัวเองเครียดจากงาน หรือเครียดจากบุคคลรอบข้างก็ต้องพยายามหาวิธีคลายเครียด ทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ เพื่อปรับสมดุลร่างกายจากภายในค่ะ
หัวนมดำ ถึงแม้จะไม่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ แต่การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายบางอย่างอาจทำให้คุณแม่เป็นกังวลและไม่สบายใจได้ แต่เมื่อคุณแม่คลอดลูกแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็จะค่อย ๆ กลับมาเป็นเหมือนเดิมค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
หัวนมดำ ทำไงดี ท้องแล้วต้องเป็นแบบนี้ทุกคนไหม
แม่ตั้งครรภ์อย่ากังวล “หัวนมดำ” เป็นเรื่องธรรมชาติ
แม่ท้องรักแร้ดำ หัวนมดำ ซอกคอดำ ขาหนีบดำ ทำไงดี! ท้องแล้วเป็นทุกคนไหม
ที่มา : parenting.firstcry, pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!