ความเข้าใจผิดเรื่องนมแม่ ที่ทั้งตัวคุณแม่เองหรือคนรอบข้างไม่เข้าใจ ส่งผลทำให้ลูกน้อยไม่ได้รับวัคซีนนมแม่อย่างยาวนานเท่าที่ควรจะได้
6 ความเข้าใจผิดเรื่องนมแม่ อย่าให้เรื่องเหล่านี้มาขัดขวางความสุขที่จะให้นมลูก!!
#1 แม่หน้าอกเล็กมีน้ำนมไม่มากพอ
ขนาดหน้าอกคุณแม่ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับปริมาณไขมันในเต้านมนะคะ แต่ในส่วนที่สร้างน้ำนมคือ ต่อมและท่อน้ำนม ดังนั้นขนาดของเต้าจึงไม่มีผลต่อความสามารถในการสร้างน้ำนมให้ลูก ไม่ว่าคุณแม่จะมีขนาดเต้าเท่าไหน หากให้ลูกได้เข้าเต้าดูดนมแม่อย่างถูกวิธีก็จะมีน้ำนมเพียงพอต่อลูกของตัวเองแน่นอนค่ะ
#2 ให้นมลูกต้องกินเยอะถึงจะผลิตน้ำนมได้เยอะ
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ร่างกายคุณแม่ต้องการพลังงานต่อวันที่เพิ่มขึ้น 300 – 500 กิโลแคลอรี่ แต่คุณแม่ไม่จำเป็นต้องกินเยอะจนเกินไป แค่เพียงได้รับรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม โดยมีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ ซึ่งยืนยันได้ว่าการรับประทานอาหารของคุณแม่มีผลโดยตรงกับการผลิตน้ำนม โดยเฉพาะอาหารที่สามารถกระตุ้นให้มีการสร้างปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้น อย่างเช่น แกงเลียง ยำหัวปลี และการดื่มน้ำให้เยอะหรืออย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน เป็นต้น
#3 กลัวว่าไม่มีน้ำนม
แม่มือใหม่มักจะวิตกกังวลไปก่อนว่าตัวเองจะไม่มีน้ำนม น้ำนมน้อย แท้จริงแล้วแม่ทุกคนนั้นสามารถผลิตนมเพียงพอต่อความต้องการของลูกตัวเอง แต่คุณแม่จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการให้นมลูกอย่างถูกท่าเสียก่อน หรือหากว่าน้ำนมยังออกไปพอต่อความต้องการของลูก คุณแม่ควรได้ลองใช้เครื่องปั๊มนมที่จะเป็นตัวช่วยอีกแรงสำหรับการผลิตน้ำนมออกมา สิ่งสำคัญคือคุณแม่ต้องมั่นใจแต่แรกว่า ตัวเองมีน้ำนมเพียงพอต่อลูกน้อยจริงๆ
#4 ถ้าให้นมแม่แล้วจะไม่มีเวลาทำอย่างอื่น
แม้ว่าการให้นมแม่จะต้องตัวติดกับลูกจนดูเหมือนไม่มีเวลาที่จะลุกไปทำอย่างอื่น แต่จริง ๆ แล้วการให้นมแม่สามารถช่วยลดภาระต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น คุณแม่ไม่ต้องเสียเวลาไปล้างขวดนม หรือคอยวิ่งหาซื้อนมอื่น ๆ เพราะนมแม่สำหรับลูกนั้นสามารถให้ที่ไหนก็ได้ สะดวกทุกที่ทุกเวลา และที่สำคัญคือการสร้างความผูกพัน ความอบอุ่น ที่ดีต่อกันระหว่างแม่ลูกด้วยนะคะ
#5 กลัวว่าน้ำนมน้อย ลูกกินนมไม่พอจะไม่โต
แม้ว่าเต้าคุณแม่จะไม่มีขีดบอกข้างขวดว่าลูกกินนมไปได้เยอะหรือน้อย แต่เรื่องนี้คุณแม่สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ว่าลูกน้อยกินนมอิ่มหรือกินนมได้พอต่อความต้องการ จาก…
- ท่าทางที่พึงพอใจหลังจากกินนม
- น้ำหนักตัวลูกที่เพิ่มขึ้นหลังผ่านไปสองสัปดาห์แรก
- ผิวลูกมีสุขภาพดี ตึงกระชับ
- จำนวนครั้งที่ลูกฉี่และอึ ลูกควรจะฉี่อย่างน้อยหกครั้งต่อวันและอึอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน
#6 หัวนมบอดให้ลูกกินนมไม่ได้
ถึงแม้อาการหัวนมบอด จะไม่มีอันตรายใด ๆ และไม่ส่งผลเสียใดๆ ต่อร่างกาย แต่อาจเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการให้นมลูกของคุณแม่หลายคนได้ ซึ่งปัญหานี้มีวิธีแก้ได้ด้วยการนวดนม ใช้อุปกรณ์ช่วยดึงหัวนม และตัวช่วยที่ดีที่สุดคือการให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ ก็สามารถแก้ไขภาวะหัวนมบอดได้ หัวนมบอดไม่ใช่ปัญหาของแม่ให้นมหากรู้วิธีการแก้ไขปัญหานะคะ
การให้นมลูกในครั้งแรก ๆ อาจจะไม่คุ้นชินสำหรับคุณแม่มือใหม่ และอาจทำให้รู้สึกกับอาการเจ็บเต้านม อาการคัดเต้า ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงแรก ๆ ที่ร่างกายของคุณแม่กำลังปรับตัวเพื่อการผลิตนมที่เหมาะสมต่อความต้องการของลูกน้อย หลังสัปดาห์แรกคุณแม่ก็จะเริ่มเรียนรู้และปรับตัวได้ อย่าเพิ่งท้อไปก่อนนะคะ เพราะการให้ลูกได้กินนมแม่อย่างยาวนานหรืออย่างน้อย 6 เดือนจะช่วยสร้างภูมิคุ้มที่ดี ส่งผลต่อร่างกายลูกน้อยให้เติบโตอย่างแข็งแรง
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
5 เรื่องที่เข้าใจผิดๆ ของการอาบน้ำทารกแรกเกิด
เข้าใจผิดมานาน ฝันว่าตั้งท้อง ไม่ได้หมายความว่าจะมีลูกนะ!!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!