อีกสิ่งหนึ่งที่แม่ท้องมักกังวลนั่นก็คือการคลอดลูก ต้องคลอดลูกยังไงไม่ให้ ปากช่องคลอดฉีกขาด ซึ่งจะเกิดกับคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ สามารถเกิดขึ้นได้หากทารกมีขนาดศีรษะใหญ่เกินกว่าที่ปากช่องคลอดจะขยายตามได้ ส่วนใหญ่มักจะพบได้กับคุณแม่ท้องแรก แต่ก็ไม่ต้องตกใจไปนะคะเพราะแผลที่เกิดจากการฉีกขาดหากได้รับการรักษาที่เหมาะสมก็หายได้ค่ะ แต่บางรายอาจจะต้องเย็บหรือใช้ครีมรักษาควบคู่กันไป
ปากช่องคลอดฉีก คืออะไร ?
ปากช่องคลอดฉีกขาดพบได้บ่อยในระหว่างการทำคลอด ซึ่งเกิดจากทารกมีขนาดศีรษะใหญ่เกินกว่าปากช่องคลอดของคุณแม่ที่ไม่สามารถขยายใหญ่ตามได้ สำหรับคุณแม่ที่มีความเสี่ยงที่จะมีปากช่องคลอดฉีก ได้แก่
- คุณแม่เพิ่งตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก
- ขนาดทารกใหญ่มากกว่าปากช่องคลอด
- เกิดจากการเบ่งคลอดเป็นเวลานาน
- เกิดจากการใช้คีมปากเป็ด เครื่องดูดสุญญากาศช่วยในการทำคลอด
แม้ว่าแผลปากช่องคลอดฉีกขาดจะไม่ได้มีความรุนแรงเท่าไร แต่ระดับความรุนแรงของปากช่องคลอดฉีกก็ถูกแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ซึ่งทุกระดับอาจทำให้เกิดการเจ็บปวดได้ และบางระดับอาจต้องใช้วิธีการเย็บแผลเข้าช่วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อหูรูดทวารหนักด้วยค่ะ
- การฉีกขาดระดับแรก มีรอยฉีกขาดเกิดขึ้นแค่บริเวณเยื่อบุช่องคลอดเท่านั้น ไม่ได้กระทบต่อกล้ามเนื้อส่วนใด แต่บางครั้งอาจจะต้องเย็บเล็กน้อย
- รองลงมาเป็นระดับสอง ถือเป็นระดับที่พบได้บ่อยมาก ๆ ในคุณแม่ที่เพิ่งคลอดครั้งแรก โดยจะเกิดการฉีกขาดในเยื่อบุช่องคลอด และในเนื้อเยื่อชั้นที่อยู่ลึกลงไปอีก จึงจำเป็นต้องทำการเย็บที่มากขึ้น
- ถัดมาคือระดับสาม เกิดขึ้นแถว ๆ บริเวณเนื้อเยื่อบริเวณช่องคลอดในชั้นที่อยู่ลึกลงถึงชั้นกล้ามเนื้อ ซึ่งประกอบขึ้นเป็นกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก โดยคุณหมอจะใช้วิธีการเย็บแผลไปทีละชั้น และต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในชั้นกล้ามเนื้อที่อยู่ใกล้กับกล้ามเนื้อหูรูดค่ะ
- และสุดท้ายระดับที่สี่ ระดับนี้เป็นแผลลึกมาก มีการฉีกขาดตั้งแต่ปากช่องคลอด จนถึงเยื่อบุลำไส้ใหญ่เลยค่ะ แถมยังเป็นแผลที่มีความซับซ้อน จึงต้องทำการเย็บแผลหลายชั้น แต่ระดับนี้พบได้น้อยค่ะ
คลอดลูกยังไงไม่ให้ ปากช่องคลอดฉีกขาด
แม้คุณแม่หลาย ๆ คนจะยังไม่คุ้นชินกับการคลอดลูกที่ไม่ทำให้ปากช่องคลอดฉีกขาด นั่นหมายความว่าคุณหมอไม่จำเป็นต้องตัดเพื่อขยายให้คลอดลูกได้ง่าย ที่สำคัญคือคุณแม่จะฟื้นตัวเร็วมาก เนื่องจากไม่มีแผลและไม่ต้องเย็บ ด้วยการคลอดลูกยังไง ไม่ให้ปากช่องคลอดฉีกขาด
1. ท่าคลอด
ท่านอนตะแคงหรือท่าคุกเข่าโน้มตัวไปข้างหน้า จะช่วยลดการฉีกขาดของปากช่องคลอดได้นะคะ ตามธรรมชาติแล้ว เมื่อคุณแม่คลอดลูกเอง พวกเธอจะเปลี่ยนท่าไปตามสัญชาตญาณ และท่าเหล่านั้นจะช่วยไม่ให้ปากช่องคลอดฉีกขาดได้ค่ะ หากคุณแม่ต้องการคลอดด้วยท่าเหล่านี้ ควรปรึกษาคุณหมอตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนนะคะ เพื่อตรวจหาว่ามีภาวะเสี่ยงอะไรที่ต้องระวัง หรือทำให้คลอดท่านี้ไม่ได้หรือไม่ค่ะ
2. คลอดในน้ำ
การคลอดลูกในน้ำจะช่วยคลายความเจ็บลงได้ อันนี้แน่นอนค่ะ แม้ว่าการคลอดในน้ำจะไม่ได้ป้องกันการฉีกขาด 100% แต่มันก็ช่วยให้ฉีกขาดเพียงเล็กน้อยแบบที่ไม่ต้องเย็บก็ได้ค่ะ (แต่เย็บก็ได้เหมือนกันนะคะ)
3. นวดปากช่องคลอด หรือ perineal massage
เพื่อเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้บริเวณปากช่องคลอด เวลาที่คลอดลูกปากช่องคลอดจะขยายได้ง่ายกว่านั่นเองค่ะ
4. ประคบร้อน
ขณะที่กำลังคลอดลูก การประคบร้อนจะช่วยลดการฉีกขาดของปากช่องคลอดค่ะ และหากใส่ขิงฝานไปด้วยก็จะยิ่งทำให้ลดความเจ็บปวดได้ด้วยนะคะ
วิธีป้องกันปากช่องคลอดฉีก
สำหรับคุณแม่ที่กังวลปากช่องคลอดฉีก สามารถดูแลตัวเองได้ดังนี้
- ให้ฝึกขมิบช่องคลอด ในช่วงก่อนถึงกำหนดคลอดค่ะ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
- กินวิตามินบำรุงก่อนคลอด เลือกกินอาหารให้สมดุล ออกกำลังกายเป็นประจำ และพยายามรักษาสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ
- เมื่อเบ่งคลอด ให้ใช้สารหล่อลื่นควบคู่ไปด้วย
- พยายามเพิ่มความอบอุ่นในบริเวณที่อยู่ระหว่างช่องคลอดกับทวารหนัก ด้วยการใช้ผ้าขนหนูอุ่น ๆ ประคบเพื่อกระตุ้นระบบหมุนเวียนใน และทำให้กล้ามเนื้อนิ่มลง
วิธีช่วยบรรเทาอาการปวดแผลฝีเย็บ
1. กินยาแก้ปวดที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากคุณแม่ต้องให้นมลูกน้อย จึงไม่ควรกินยาเอง และยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดไม่ควรเป็นยาแอสไพริน เพราะจะเข้าไปผสมกับน้ำนมและส่งถึงลูกได้ค่ะ
2. ให้คุณแม่ประคบอุ่นหรือประคบเย็น เพื่อช่วยลดอาการบวม และอาการปวดบริเวณแผลฝีเย็บค่ะ
3. เวลานั่ง แนะนำให้นั่งบนเบาะ เพื่อป้องกันไม่ให้แผลกดทับ และช่วยบรรเทาความรู้สึกเจ็บด้วยค่ะ
4. ทานอาหารที่มีประโยชน์ เลือกที่มีไฟเบอร์สูง เพื่อป้องกันไม่ให้ท้องผูก หากมีอาการท้องผูกร่วมด้วย จะยิ่งทำให้รู้สึกปวดแผลมากขึ้นเวลาเบ่งนั่นเองค่ะ
การดูแลตัวเองหลังคลอดธรรมชาติ
1. จำนวนวันที่ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล
ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไร ส่วนใหญ่จะใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 2 วัน และตลอด 2 วันนี้ ทีมแพทย์และพยาบาลจะดูแลคุณแม่และลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบอาการผิดปกติและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น สังเกตเลือดที่ออก สัญญาณชีพ การแข็งตัวของมดลูก การประเมินน้ำนม ภาวะเหลือง รวมไปจนถึงภาวะไทรอยด์ฮอร์โมน
2. การให้นมลูกหลังคลอด
หลังคลอดเจ้าตัวเล็กเสร็จแล้ว คุณแม่สามารถให้นมลูกได้ทันทีเลยค่ะ โดยสามารถนำลูกเข้าเต้าได้บ่อย ๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นน้ำนม และช่วยทำให้คุณแม่ที่มีปัญหาผลิตน้ำนมได้ช้า สามารถผลิตน้ำนมได้ดียิ่งขึ้น
คลอดธรรมชาติทำให้ช่องคลอดจริงไหม
อีกหนึ่งคำถามที่แม่ ๆ หลายคนสงสัยก็คือ ช่องคลอดจะหลวมไหม จริง ๆ แล้วหลังจากคุณแม่คลอดไปแล้ว ปากมดลูกจะกลับคืนสู่สภาพปกติภายใน 1 สัปดาห์ค่ะ แต่ก็อาจจะกลับสู่สภาพปกติได้ไม่ดีเท่าไรหากขาดการออกกำลังกล้ามเนื้อในส่วนนี้ ดังนั้น คุณแม่จึงควรฝึกขมิบบ่อย ๆ ตามที่ได้แนะนำไปเมื่อข้างต้น เพื่อเพิ่มความกระชับของบริเวณช่องคลอดให้กลับมาเหมือนเดิมค่ะ แถมยังช่วยป้องกันภาวะช่องคลอดหลวมได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ก่อนนะคะว่าคุณแม่เหมาะกับการคลอดแบบใด เพราะข้อจำกัดของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป ที่สำคัญจะได้ปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อยด้วยค่ะ เพราะคุณหมอจะทำการวินิจฉัยก่อนว่าคุณแม่สามารถคลอดธรรมชาติท่าไหนได้บ้าง หรือบางรายก็อาจจะเป็นการผ่าคลอดแทนค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เชื้อราในช่องคลอด ตอนท้อง อันตรายกับลูกในท้องไหม มีวิธีรักษาอย่างไร
อาหารบำรุงครรภ์ 3 เดือนแรก บำรุงครรภ์ไตรมาสแรก แม่ท้องอ่อน ต้องกินอะไร
คนท้องกินอะไรดี ทำให้ลูกฉลาด แต่ละไตรมาสบำรุงอะไรบ้าง ?
ที่มา : enfababy.com, samitivejhospitals.com, hellokhunmor.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!