พัฒนาการด้านการมองเห็นของทารกในครรภ์
พัฒนาการด้านการมองเห็นของทารกในครรภ์เริ่มเมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ การมองเห็นเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้และสติปัญญาของเด็กหลังคลอด แม้ลูกจะอยู่ในท้องแต่คุณแม่สามารถกระตุ้นการมองเห็นของเขาได้ ด้วยวิธีต่าง ๆ ได้ค่ะ การใช้ความมืดความสว่างของกลางวันกลางคืนก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นำมาใช้ได้
ทารกในครรภ์สามารถรับรู้แม้จะอยู่ในถุงน้ำคร่ำ ทารกก็สามารถรับรู้ต่อแสง ความมืด ความสว่าง ในช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ เมื่อมดลูกของคุณแม่ใหญ่ขึ้นทำให้ผนังมดลูกเริ่มบางลง แสงจึงสามารถผ่านเข้าสู่ภายในมดลูกได้ ทำให้ทารกเริ่มรู้จักความแตกต่างของความมืดและความสว่าง มาดูกันค่ะว่า จะมีวิธีการกระตุ้นการมองเห็นของทารกในครรภ์ได้อย่างไร
ไฟฉายส่องท้องกระตุ้นพัฒนาการด้านการมองเห็น
รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงวิธีการกระตุ้นทารกในครรภ์ด้วยการใช้ไฟฉายส่อง ไว้ว่า ทารกในครรภ์สามารถกะพริบตา เพื่อตอบสนองต่อแสงไฟที่กระตุ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 7 เดือน การส่องไฟที่หน้าท้องไม่จำเป็นต้องไปเล็งว่าแสงจะเข้าตรงกับนัยน์ตาของลูกหรือไม่ เพียงแค่ให้ลูกรู้ว่ามีแสงส่องเข้ามาก็พอแล้ว
คุณหมอแนะนำ : วิธีการส่องไฟที่ถูกต้อง
1. ในเวลากลางคืน คุณแม่อาจให้คุณพ่อใช้ไฟฉายส่องที่หน้าท้อง โดยเปิดและปิดสลับกันไปมา พร้อมกับบอกลูกในทุกครั้งว่า “แม่จะเปิดไฟแล้วนะ ลูกมองเห็นแสงหรือเปล่า และแม่จะปิดไฟแล้วนะลูกมองไม่เห็นแล้วใช่ไหม”
2. นำไฟฉายส่องไปที่หน้าท้อง แล้ววนเป็นรูปวงกลมรอบสะดือช้า ๆ เพื่อกระตุ้นสมองส่วนที่รับรู้แสง ทารกในครรภ์จะเคลื่อนไหวและสนใจแสงไฟ แต่ถ้าส่องนานและบ่อยเกินไปเจ้าหนูจะเริ่มเบื่อได้ และความสนใจจะน้อยกว่าตอนที่เริ่มส่องไฟ
3. นอกจากไฟฉายแล้วคุณแม่อาจใช้ สัญญาณไฟกะพริบ แต่ควรวางห่างจากบริเวณหน้าท้องพอสมควร ที่สำคัญแสงที่ต้องไม่จ้าจนเกินไป การกระตุ้นโดยการใช้แสงกะพริบเช่นนี้ จะช่วยให้ลูกปรับสภาพการมองเห็นได้ดีขึ้น
4. เมื่อคุณแม่ส่องไฟทารกภายในครรภ์จะมีการตอบสนอง เช่น การถีบหน้าท้องหรือการดิ้น แสดงว่า เจ้าตัวน้อยรับรู้และเกิดการตอบสนองนั่นเอง
บทความแนะนำ เช็คอาการ !!ลูกในท้องดิ้นแรง ดิ้นช้า หรือไม่ดิ้นบอกอะไร
5. สำหรับไฟฉายที่ใช้สำหรับส่องท้องนั้น ควรเป็นแบบ 2 ท่อน 3 ท่อน หลอดธรรมดา ห้ามใช้แบบหลอดแรงสูงเด็ดขาด เพราะแสงที่จ้าเกินไปอาจเกิดอันตรายต่อจอประสาทตาของทารกได้
6. นอกจากการกระตุ้นด้วยไฟฉายส่องท้อง คุณแม่ควรออกไปยืนรับแสงแดดอ่อน ๆ นอกบ้านช่วงเช้าหรือบ่าย ควรเลือกแสงที่มีความสว่างไม่จ้าจนเกินไป ถือเป็นการกระตุ้นทารกน้อยอีกวิธีการหนึ่งเช่นกัน
7. ข้อดีของการส่องไฟที่หน้าท้องจะทำให้เซลล์สมองและเส้นประสาทส่วนรับภาพและการมองเห็นมีพัฒนาดีขึ้น และเตรียมพร้อมสำหรับการมองเห็นภายหลังคลอด
คุณแม่ได้ทราบถึงวิธีการใช้ไฟฉายส่องหน้าท้องกระตุ้นทารกน้อยในครรภ์แล้วนะคะ สามารถทำตามวิธีการที่คุณหมอแนะนำได้เลยค่ะ แต่ต้องระมัดระวังอย่าใช้ไฟฉายที่มีกำลังไฟแรงสูงเพราะอาจส่งผลเสียต่อจอประสาทตาได้
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
si.mahidol
https://xn--12cgi9czcoda6jh0xnb.net
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โมบายล์สีขาวดำดีต่อพัฒนาการมองเห็นของลูก
ไขข้อข้องใจ รู้ได้อย่างไรว่าทารกแรกเกิดทำไมตาเหล่
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!