ไม่ว่าจะเป็นการกอดการหอม การกล่อมหรือร้องเพลง การยิ้มหรือการอ่านก็ล้วนสำคัญสำหรับพัฒนาการทางด้านจิตใจและอารมณ์ของทารกทั้งสิ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่าตายาย พี่เลี้ยง พี่น้อง หรือใคร ๆ สุดท้ายก็ไม่มีสิ่งใดยอดเยี่ยมไปกว่าสัมผัสจากตัวคุณพ่อคุณแม่
มีหลายสิ่งที่คุณสามารถทำเพื่อช่วยลูกพัฒนาทักษะด้านจิตใจและอารมณ์ ที่เรารวบรวมมานี้เป็นกิจกรรมง่าย ๆ ที่คุณสามารถทำได้ที่บ้านโดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์เสริมมากมาย
เสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกน้อยด้วยการเล่น
แรกเกิด – 3 เดือน
ทารกในช่วงนี้จะเติบโตขึ้นจากการสัมผัสและการฟังเสียง พวกเขาจะถูกกระตุ้น (ในทางที่ดี) ด้วยเสียงกล่อมและเพลงของคุณ (คุณไม่จำเป็นต้องเสียงดีเท่าพี่เบิร์ดก็ได้) ทารกจะยังไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานนัก ดังนั้นการอ่านนิทานที่มีรูปประกอบสีสันสดใสเป็นหลักก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีเช่นกัน
เปิดเพลง อุ้มลูกไว้และ “เต้น” ไปรอบ ๆ การโยกไปมาเบา ๆ จะทำให้เด็กรู้สึกสบาย เสียงดนตรีก็จะช่วยให้เด็กรู้จักแยกแยะเสียงต่าง ๆ
คุณยังสามารถช่วยพัฒนากล้ามเนื้อและเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ร่างกายของลูกได้โดยการจับเขาทำท่าจักรยานอากาศหรือขยับแขนขาของเขาไปมา
4 – 8 เดือน
ในช่วงนี้เด็กจะเริ่มนั่งตรงได้ (โดยอาจจะต้องช่วยหรือไม่ต้องช่วย) คอของเด็กจะแข็งขึ้น และสามารถเอื้อมหยิบของและถือสิ่งของไว้ได้ระยะหนึ่ง สิ่งที่คุณพอจะทำเพื่อช่วยเสริมพัฒนาการในช่วงวัยนี้ อาทิ ให้ลูกเล่นกับสิ่งของที่มีผิวสัมผัสต่าง ๆ เช่น ผ้าพันคอไหม ผ้าขนหนู กระเป๋าหนัง กำมะหยี่ ฯลฯ นอกจากนี้เด็กในวัยนี้ยังจะชอบดูและพยายาม “จับ” ฟองสบู่สีสันต่าง ๆ อีกด้วย
เกมโปรดของเด็กในวัยนี้ คือการเล่นจ๊ะเอ๋และจักกะจี๊ สิ่งของอย่างหนังสือสั้น ๆ น่ารัก ๆ สีสันสดใส เช่นหนังสือสอนเกี่ยวกับรูปร่าง สัตว์ อาหาร และอื่น ๆ ก็มีประโยชน์สำหรับเด็กในวัยนี้เช่นกัน
9 – 12 เดือน
นอกเหนือจากที่ได้กล่าวไปข้างต้น เด็กในวัยนี้ยังชอบเล่นน้ำ (ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด) ไม่ว่าจะเป็นการนั่งเล่นในอ่างอาบน้ำ เทน้ำเข้าออกจากภาชนะใบเล็ก ๆ หรือเทน้ำใส่ตัว
เด็กในวัยนี้จะเริ่มคลานหรืออาจจะเริ่มหัดเดิน พยายามให้เขาได้ลองเดินบนพื้นผิวต่าง ๆ เช่น หญ้า พรม ทราย กระเบื้อง ไม้ การได้สัมผัสสิ่งของที่มีพื้นผิวต่างกันจะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสของเด็ก เด็กจะยังเริ่มเรียนรู้ตำแหน่งของตาจมูกปาก ฯลฯ เด็กบางคนอาจสามารถเลียนเสียงสัตว์ง่าย ๆ ได้อีกด้วย
เด็กในวัยนี้จะยังไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานนัก ดังนั้นคุณจึงควรใช้หนังสือสั้น ๆ น่ารัก ๆ หรือหนังสือที่ให้เด็กสามารถปฏิสัมพันธ์ได้ เกมอื่น ๆ ที่เหมาะกับเด็กในวัยนี้คือการกลิ้งลูกบอลไปมา ตัวต่อไม้ หรืออุปกรณ์ดนตรีแบบเคาะชิ้นเล็ก ๆ สำหรับเด็ก
12 – 18 เดือน
ลูกน้อยของคุณจะเริ่มเดินและพูดมากขึ้นทุกวันในช่วงสามเดือนนี้ ซึ่งหมายความว่าเขาจะพยายามหาอะไรแปลกใหม่และน่าตื่นเต้นเล่นเสมอ คุณสามารถหาของเล่นใหม่ ๆ ได้จากรอบตัว
คุณควรพยายามสอนให้ลูกรู้จักเรียกอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเพิ่มมากขึ้น เสียงของสัตว์ และเสียงของสิ่งของทั่ว ๆ ไป เช่น กระดิ่ง รภไฟ ฯลฯ และพยายามสอนเกี่ยวกับอารมณ์ โดยการทำหน้าทำตาต่าง ๆ ตามอารมณ์เศร้า โกรธ ดีใจ เสียใจ
ของเล่นอย่างตัวต่อ ลูกบอล ชอล์กวาดรูป จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้และการเคลื่อนไหวของเด็กในวัยนี้ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าคุณควรจะกระตุ้นให้เด็กหัดเล่นคนเดียว คุณก็ควรแบ่งเวลามาเล่นกับลูกบ้างเพื่อสอนเขาเรียงตัวต่อ หรือต่อจิ๊กซอว์ง่าย ๆ
เด็กในวัยนี้จะชอบเล่นชิงช้า วิ่งไล่ฟองบู่ เล่นน้ำ เด็ดดอกไม้ จับต้องสัตว์เลี้ยง และกิจกรรมนอกบ้านอื่น ๆ
คุณควรให้ความสนใจกับการรับรู้รสชาติและกลิ่นเป็นพิเศษ อาจจะลองให้เขาดมดอกไม้ต่าง ๆ เทียนหอม เครื่องเทศ น้ำหอม และโลชั่นต่าง ๆ แม้ว่าเด็กในวัยนี้อาจจะทานอาหารได้หลากหลายชนิดมาขึ้น ซึ่งนับเป็นเรื่องดี แต่คุณไม่ควรให้ลูกลองรสชาติและอาหารใหม่ ๆ มากเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกท้องเสียได้ คุณยังควรสังเกตอาการแพ้อาหารโดยค่อย ๆ ให้ลูกลองอาหารใหม่ ๆ แต่น้อย
หมายเหตุ: ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบกินน้ำผึ้งเด็ดขาด
อาหารอันตรายสำหรับเด็ก
10 ของเล่นยอดแย่ที่คุณไม่ควรซื้อให้ลูก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!