เมื่อลูกมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก หรือท้องเสีย คุณพ่อคุณแม่หลายท่านมักจะไปหา ซื้อยาปฏิชีวนะ (ยาแก้อักเสบ, ยาฆ่าเชื้อ) มาให้ลูกกินเอง บ่อย ๆ ด้วยความเคยชิน แต่รู้หรือไม่คะว่า การกระทำเช่นนี้ อาจส่งผลเสียที่เป็นอันตรายร้ายแรงตามมาได้เพราะการ ซื้อยาปฏิชีวนะมาให้ลูกกินเอง นั้นอาจมีอันตรายถึงชีวิต เพราะสาเหตุอะไรมาดูกันเลยค่ะ
ยาปฏิชีวนะ คืออะไร? ใช้เพื่ออะไร?
ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เป็นยาที่เราเรียกกันทั่วไปว่า “ยาแก้อักเสบ” หรือ “ยาฆ่าเชื้อ” เนื่องจากเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ร่างกายจะมีการตอบสนองเพื่อต่อต้านเชื้อโรค ด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จึงเกิดอาการต่าง ๆ เช่น มีไข้ คออักเสบแดง มีหนองบริเวณที่เป็นบาดแผล คนทั่วไปจึงเรียกว่า มี “การอักเสบ” เมื่อทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันจนครบตามระยะเวลาที่กำหนด เชื้อแบคทีเรียก็จะโดนกำจัด ทำให้อาการต่าง ๆ ที่แสดงถึงการอักเสบก็จะหายไป โดยที่ยาปฏิชีวนะเองไม่ได้มีฤทธิ์ไปต่อต้านการอักเสบโดยตรง
เพราะอะไรจึงไม่ควรเรียกยาปฏิชีวนะว่า “ยาแก้อักเสบ”?
เนื่องจาก การอักเสบ ในร่างกายนั้นเกิดได้จาก 2 สาเหตุ คือ
-
การอักเสบแบบมีการติดเชื้อโรค
การอักเสบแบบมีการติดเชื้อ เช่น คออักเสบ โพรงจมูกอักเสบ ปอดอักเสบ และ การอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ เช่น ข้ออักเสบในผู้ป่วยโรคไขข้ออักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบจากการใช้งานหนัก เป็นต้น
การรักษาอาการอักเสบแบบมีการติดเชื้อโรค ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถทำได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมกับเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคแก่ผู้ป่วย และต้องทานยาให้ครบ จนหมดตามระยะเวลาที่คุณหมอระบุ
การรักษาอาการอักเสบแบบไม่ติดเชื้อจะใช้ยาต้านการอักเสบ ที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาลดไข้ แก้ปวด พาราเซตามอล หรือ ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAID) เช่น ยาแอสไพริน เป็นต้น โดยยากลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องรับประทานติดต่อจนครบ หรือจนยาหมด
ดังนั้น เพื่อความไม่สับสน เราจึงไม่ควรเรียกยาปฏิชีวนะว่า “ยาแก้อักเสบ” นั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : เช็คลิสต์ยาสามัญประจำบ้านที่ต้องมีไว้ สำหรับเจ้าตัวน้อย
หากใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่ครบตามที่คุณหมอระบุ จะเกิดผลเสียอย่างไร?
หากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย และจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ทานยาไม่ครบตามที่คุณหมอสั่ง ไม่ว่าจะเป็นขนาดที่ไม่เหมาะสม น้อยเกินไป หรือ ทานเป็นระยะเวลาสั้นเกินไป ก็จะส่งผลเสีย คือ นอกจากจะไม่หายเจ็บป่วยแล้ว ยังจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้เพราะเชื้อแบคทีเรียปรับตัวให้ตัวเองสามารถทน และอยู่รอดต่อยาปฏิชีวนะ
เมื่อมีการเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะนั้นในครั้งต่อไป ก็อาจจะไม่สามารถใช้ยานั้นรักษาอย่างได้ผลแล้ว ทำให้การรักษายากขึ้น และเป็นโรครุนแรงขึ้นจนอาจเกิดอันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิต จากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาได้
เพราะเหตุใดจึงไม่ควร ซื้อยาปฏิชีวนะ มาให้ลูกกินเอง ?
เนื่องจาก การซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เอง โดยไม่ได้มีข้อบ่งชี้ในการใช้ จะก่อให้เกิดผลเสียมากมาย นอกจากจะเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาซึ่งอันตรายมาก ดังได้กล่าวมาแล้ว ยังอาจเกิดการแพ้ยาปฏิชีวนะทั้ง ๆ ที่ใช้ยาโดยไม่จำเป็น
เนื่องจากยาปฏิชีวนะจัดเป็นกลุ่มยาที่มีรายงานการแพ้ได้บ่อย โดยบางครั้งอาจเกิดอาการแพ้รุนแรงได้ อีกทั้งการซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เองยังเป็นการสิ้นเปลืองโดยเสียเปล่า เพราะอาจต้องเสียค่ายาไปโดยไม่หายจากโรคเนื่องจากโรคนั้น อาจเป็นการติดเชื้อไวรัสที่ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาเลยค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีเก็บรักษายา สำหรับเด็กอย่างนี้แหละถูกวิธี
อาการป่วยแบบใด ที่ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับยาปฏิชีวนะ?
ไข้หวัด และท้องเสีย เป็นการเจ็บป่วยที่พบบ่อยในเด็ก ๆ เรามาดูกันว่า เมื่อไรที่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ
- ไข้หวัด ที่มีหนองที่ต่อมทอนซิล มีน้ำมูกเขียวเหลืองทั้งวัน มีต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรโต กดเจ็บและ ไข้สูง หรืออาการแย่ลง ใน 7 – 10 วัน
- ท้องเสีย ที่มีการถ่ายอุจจาระมีมูกเลือดปน ไข้สูง
หากลูกน้อยมีอาการเหล่านี้ สันนิษฐานว่าอาการป่วยจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ก็ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจร่างกายให้ชัดเจนว่ามีการติดเชื้อจริง จะได้รับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมกับเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรค และได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการใช้ยา
และเพื่อความปลอดภัยของลูก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เองนะคะ เพราะอาจส่งผลร้ายต่อเด็กได้ หากปริมาณยาไม่ถูกต้อง หรือเลือกใช้ยาที่ไม่ถูกกับโรคที่เด็กเป็น
เพจ นานายาเด็ก โดย ณัฎฐา โมลีเศรษฐ์ (เภสัชกรกวาง)
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ยาสามัญประจำบ้านที่คนท้องควรมี ยาที่ปลอดภัยทั้งแม่และลูก
แม่เป็นไข้หวัดใหญ่ ให้นมลูกได้ไหม กินยาต้านไวรัสตัวไหนไม่อันตราย
ยาอันตรายห้ามใช้กับลูก 8 ยาอันตรายอย่าให้หนูกินเลยแม่!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!