คุณพ่อ คุณแม่หลาย ๆ คน อาจจะสงสัยว่า ยาสำหรับเด็ก มีวิธีเก็บอย่างไร โดนแสงได้หรือเปล่า ? รู้ไหม? วันนี้ theAsianparent มาบอก วิธีเก็บรักษายา สำหรับเด็กอย่างนี้แหละถูกวิธี มาดูกัน
เภสัชกรศุภทัต ชุมนุมวัฒน์ ให้คำแนะนำ วิธีเก็บรักษายา สำหรับเด็ก ไว้ดังนี้
วิธีเก็บรักษายา
1. คุณแม่ ควรอ่านสลากยาให้ครบถ้วน รวมทั้ง คำแนะนำการเก็บรักษายา
2. หากยาที่ลูกได้รับนั้น ไม่ระบุการเก็บรักษาเป็นพิเศษ ให้เก็บยาที่อุณหภูมิห้องบริเวณ ที่ไม่ร้อน และ ไม่มีแสงแดดส่อง ห้ามทิ้งยา ไว้ในรถยนต์ เพราะ เมื่อจอดกลางแดด แม้เพียงไม่นานอุณหภูมิในรถ จะร้อนมาก ทำให้ยาเสื่อมได้ง่าย และ ที่สำคัญควรเก็บในที่ที่เด็ก ไม่สามารถหยิบยาเองได้
3. หากยานั้นระบุว่า ให้เก็บยาไว้ในตู้เย็น ห้ามแช่แข็งโดยเด็ดขาด การเก็บยาในตู้เย็น หมายถึง ให้เก็บในตู้เย็นช่องปกติ ไม่ควรเก็บที่ชั้นใกล้ช่องแช่แข็ง เพราะ มีความเย็นจัดจนทำให้เป็นน้ำแข็ง และ ตกตะกอนได้ นอกจากนี้ ไม่ควรเก็บยาที่ประตูตู้เย็น เพราะอุณหภูมิอาจไม่เย็นพอ จากการที่มีการเปิด – ปิด ประตูตู้เย็น บ่อย ๆ
4. ยาน้ำสำหรับเด็กบางชนิด ที่บรรจุในขวดสีชา หมายถึง ยาที่ต้องป้องกันไม่ให้ถูกแสง ไม่ควรเปลี่ยนภาชนะบรรจุยา ไปเป็นแบบใสหรือ ขาว เพราะ จะทำให้ยาเสื่อมได้
5. คุณแม่จะสังเกตเห็นว่าบางครั้งยาบางชนิดที่ต้องระมัดระวังเรื่องความชื้น ควรใส่สารกันชื้น ที่มักเห็นเป็นซองเล็ก ๆ ภายในมีเม็ดกันชื้นอยู่สอดอยู่ในขวดยาไว้ตลอดเวลา และควรปิดภาชนะบรรจุให้แน่น ระมัดระวังอย่าให้อากาศเข้าด้านในจะทำให้ยาเสื่อมคุณภาพเร็ว
6. สิ่งสำคัญควรเก็บยาไว้ในภาชนะบรรจุเดิมซึ่งมีสลากระบุชื่อยาและวันที่ได้รับยานั้น จะทำให้ทราบระยะเวลาที่ควรเก็บยาที่เหลือนั้นได้
วิธีเก็บรักษายา สำหรับเด็กอย่างถูกวิธี
ระยะเวลาในการเก็บรักษายา
1. สำหรับยาปฏิชีวนะบางชนิดที่ต้องผสมน้ำ ซึ่งลูกน้อยของคุณแม่ อาจเคยรับประทานยาชนิดนี้กันมาบ้าง ยาชนิดนี้มีอายุการใช้งานสั้น เมื่อผสมผงยากับน้ำไปแล้วสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 7 วัน ที่อุณหภูมิห้อง แต่ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นจะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 14 วัน หากเก็บนานกว่านี้อาจจะทำให้ประสิทธิภาพลดลงจนรักษาไม่ได้ผล
2. สำหรับยาน้ำโดยทั่วไป เช่น ยาแก้ไข้ ยาแก้ไอ เป็นต้น ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน ก่อนที่ยาจะถึงวันหมดอายุที่ระบุไว้ในฉลากผลิตภัณฑ์ เช่น เปิดใช้ยาวันที่ 31 มีนาคม 2558 ฉลากบ่งบอกว่ายาหมดอายุ 30 พฤศจิกายน 2558 เหลือเวลาประมาณ 8 เดือน ดังนั้นเมื่อเปิดใช้ยาไปแล้ว 2 เดือน ควรทิ้งยานั้นไปเลย
3. สิ่งสำคัญคุณแม่ควรตรวจดูวันหมดอายุของยาในตู้ยา และตู้เย็นอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับผลข้างเคียงจากยาเสื่อมสภาพได้
4. ยาน้ำสำหรับเด็ก ถ้าไม่ได้ระบุให้เก็บในตู้เย็น เมื่อเปิดใช้แล้ว ไม่จำเป็นต้องเก็บในตู้เย็นได้ เก็บยาไว้อุณหภูมิห้อง หากสถานที่เก็บยามีอุณหภูมิเหมาะสม คือ ไม่ร้อนจนเกินไป หรือ มีความชื้น แต่ถ้าที่บ้านอากาศค่อนข้างร้อน มากกว่า 25 – 30°C คุณแม่ควรเก็บยาในตู้เย็น เพื่อชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อ จากการปนเปื้อนระหว่างการใช้ยา
ข้อควรสังเกต
ก่อนใช้ยาทุกครั้ง ควรสังเกตลักษณะของยาด้วยว่า เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ หากมี สี กลิ่น รส เปลี่ยนแปลงไป น้ำยาขุ่นมีตะกอน หรือ ตัวยาเกิดการแยกชั้น เขย่ายาแล้ว ก็ไม่กลับสู่สภาพเดิม ก็ควรทิ้งยาเหล่านั้นไป เพื่อป้องกันอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาค่ะ
วิธีเก็บรักษายา สำหรับเด็กอย่างถูกวิธี
เคล็ดไม่ลับแนวทางการให้ยาและการคำนวณขนาดยาสำหรับเด็ก
โดยทั่วไปการให้ยาแก่เด็ก ควรคำนึงถึง ดังนี้
- ขนาดสูงสุด (maximal dose) ที่คำนวณได้โดยใช้น้้ำหนักของเด็กเป็นหลัก ถ้าเกินขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ต้องให้ขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่
- เด็กอ้วนมี metabolic rate ต่ำ เพราะไขมันเป็น metabolically insert tissue อาจต้องใช้ ideal body weight หรือ weight for height มาคำนวณในบางกรณี
- เด็กที่บวม (edema) ต้องคิดขนาดยาจากน้ำหนักตัวก่อนบวมหรือน้ำหนักซึ่งน้อยกว่าที่ชั่งได้ในขณะบวม
- เด็กที่มีการทำงานของไตลดลงหรือเสียไป (renal impairment/renal failure) จะต้องปรับลดขนาดยาที่ขับออกทางไต
วิธีการให้ยาเด็กทารก
- ควรใช้สลิง (Syringe) ที่ชี้บอกปริมาณในการให้ยาแต่ละครั้ง
- วางไว้บนตักจับศีรษะเอาไว้
- ให้ยาในปริมาณน้อยในแต่ละครั้งเพื่อป้องกันการสำลักยา
- หยอดยาไว้ในปาก หรือริมฝีปาก
- กล่อมเด็กไปด้วย ขณะให้ยา
วิธีการให้ยาเด็กเล็ก
- เลือกท่าที่เด็กเล็กต้องการในการทานยา และ ให้เด็กคุ้นเคยกับอุปกรณ์ให้ยา
- ใช้อาหาร หรือเครื่องดื่ม เพื่อกลบกลุ่นหากจำเป็น เมื่อทานยาแล้วให้ ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่ม เพื่อลดกลิ่น
ข้อควรทราบในการให้ยาเด็ก
- ไม่ใช่ยาทั้งหมดที่เหมาะสำหรับบดเป็นผง : ยาที่บดเป็นผงมักเสื่อมสภาพไว มีความคงที่น้อย ช่วงเวลาการเก็บรักษาน้อย และอาจเกิดปฏิกิริยาที่ไม่ดีระหว่างยาแต่ละประเภท
- สามารถสั่งยาสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เช่น ยาน้ำ ยาน้ำประเภทน้ำหวาน สารละลาย สารแขวนลอย
- ยาที่บดเป็นผงแล้วควรรับประทานให้หมดในคราวเดียว เพื่อรักษาคุณภาพยา
คำเตือนวิธีการบริโภคยาน้ำที่เป็นน้ำหวานและสารแขวนลอย
- เก็บไว้ในอุณหภูมิห้องหากยังไม่ได้เปิดใช้
- ยาน้้ำที่เป็นผงอยู่ด้านในให้ใส่น้ำเข้าไปตามคำชี้แจง และเขย่าก่อนใช้ ยาทุกครั้งเพื่อใช้ยาในปริมาณที่เหมาะสม
- เมื่อเปิดใช้งานแล้วจะต้องเก็บยาตามที่กำหนดไว้ในตู้เย็นหรือในอุณหภูมิห้อง และให้คอยตรวจสอบวันหมดอายุ
อ้างอิงข้อมูลจาก : mahidol , anamaibantum และ myfirstbrain
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
9+ GOLD MOM CLINIC EP.1 สารอาหารสำคัญ & เพื่อ 1,000 วันแรก ที่สมบูรณ์ โดย พญ.นพรัตน์ ไชยบูรณะพันธ์กุล สูตินรีแพทย์ประจำ รพ. พญาไท 3
พีแอนด์จี ร่วมกับ เทสโก้ โลตัส ส่งแคมเปญพิเศษ “Mom to Mom” ชวนเหล่าคุณแม่ ร่วมใจกันช่วยเหลือแม่ ที่ได้รับผลกระทบจาก วิกฤต โควิด-19
ชี้เป้า ของตัวแม่ต้องมี (10 MUST HAVE ITEMS FOR WOMAN & MOM) ช้อปสนุก หยุดไม่อยู่ ในเดือนแห่งแม่ กับ JD CENTRAL ตลอดเดือนสิงหาคม
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!