เด็กแรกเกิดนั่งคาร์ซีท ได้ไหม พ่อแอมป์มาช่วยไขความกระจ่าง หลังเจอดราม่า!
พ่อแอมป์ขอเคลียร์! ถ่ายรูปลูกนั่งคาร์ซีทท่านี้ หลังโดนวิจารณ์หนัก (ภาพจาก Instagram: amp_pheerawas_k)
จากภาพ ทำให้หลาย ๆ คนเป็นห่วงเป็นใย เพราะน้องเทรย์ตัวเล็กมาก เพิ่งจะเกิดได้ไม่นาน และท่านั่งในคาร์ซีทแบบนี้ อาจทำให้น้องเทรย์เกิดอันตรายได้
คุณพ่อแอมป์ จึงต้องรีบออกมาชี้แจงว่า ภาพนี้ถูกถ่ายก่อนรถจะเคลื่อน และในความเป็นจริงแล้ว ลูกไม่ได้นั่งแบบนี้ แต่ได้ปรับให้เบาะอยู่ในลักษณะเหมาะสม ทั้งยังขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วงน้องเทรย์ด้วย โดยเจ้าตัวได้อธิบายไว้ในอินสตาแกรมว่า
เคลียดราม่ารูปนี้นะครับ Carseat รุ่นที่แอมป์ใช้อยู่นี้เป็นรุ่น Daiichi First7 ซึ่งมีการทดสอบผ่านมาตรฐานมาแล้ว ว่าสามารถใช้กับเด็กแรกเกิดได้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานยุโรป ECE R44.04 หรือรางวัลที่ได้รับมาอีกมากมายจากหลายประเทศ
คาร์ซีทสำหรับแรกเกิดอาจจะมีทั้งกระเช้าและแบบที่แอมป์ใช้อยู่ สาเหตุที่แอมป์เลือกใช้คาร์ซีทชนิดนี้เป็นเพราะว่า มีตัวเดียวสามารถตอบโจทย์น้องได้ตั้งแต่แรกเกิดถึงเด็กโต 7 ขวบเลย และปรับหันหน้าเข้าออกได้ และปรับเอนนอนได้สบาย ซึ่งถือว่าคุ้มค่าและตอบโจทย์มากครับ ดังนั้นถ้าถามว่ารุ่นนี้ ใช้ตั้งแต่แรกเกิดได้หรอ คำตอบคือได้ครับ
ตอนที่ถ่ายรูป แอมป์กะถ่ายเล่นๆก่อนรถเคลื่อนตัว เลยยังไม่ได้ปรับเบาะนอน และไม่ได้เอาผ้าห่อตัวน้องออก เพราะว่าวิธีการติดตั้งคาร์ซีทที่ถูกต้องขณะรถเคลื่อน คือ ไม่ใส่ผ้าห่อตัว และปรับเบาะเป็นระดับที่นอนครับ พอหลังจากที่น้องได้นั่งจริง คอน้องไม่ได้พับตามในรูปแน่นอนครับ (ที่เมืองนอกมีกฎหมายบังคับใช้เด็กที่เพิ่งเกิดและกำลังจะออกจากโรงพยาบาล ผู้ปกครองที่มารับต้องมีคาร์ซีทถึงจะรับเด็กกลับบ้านได้ ถ้าไม่มีคาร์ซีทห้ามนำกลับ ห้ามอุ้มเด็กขึ้นรถ ตำรวจเจอโดนจับนะครับ ) แต่เมืองไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้เพราะฉะนั้นผมจึงเรียนมาเพื่อทราบ สำหรับคนที่ยังไม่รู้จะได้ทราบโดยทั่วกัน อ่านแล้วบอกต่อกันด้วยนะครับ
ขอบคุณทุกท่านที่เป็นห่วงน้องเทรย์นะครับ
เป็นอันว่า สบายใจได้ หายห่วง คุณพ่อแอมป์เองก็ศึกษามาอย่างดี และต้องระมัดระวังความปลอดภัยให้กับลูกชายอยู่แล้ว
เด็กแรกเกิดนั่งคาร์ซีท ได้ไหม
รศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ อธิบายว่า คาร์ซีท หรือ Car Seat เป็นอุปกรณ์จำเป็นเพื่อความปลอดภัยของเด็ก ๆ การเลือกใช้ car seat จะขึ้นอยู่กับอายุและน้ำหนักตัวของเด็กเป็นหลัก
-
ทารกแรกเกิดจนถึงอย่างน้อยอายุ 2-4 ปี
ควรใช้ Car Seat สำหรับเด็กเล็กเป็นที่นั่งแบบปรับให้หันหน้าไปด้านหลังรถ (Rear-facing Car Seat) เดิม Car Seat แบบนี้ แนะนำให้ใช้จนถึงอายุ 2 ปี แต่ในการศึกษาวิจัยในปัจจุบันแนะนำให้เด็กนั่ง Car Seat แบบหันหน้าไปด้านหลังรถให้นานที่สุดจนกว่าอายุ 4 ปีหรือตัวโตจนความสูงเกินขนาดของ Car Seat ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสเกิดการหักของกระดูกต้นคอหากเกิดอุบัติรุนแรง
-
เด็กอายุ 2-3 ปี จนถึง 4-7 ปี
สามารถใช้ Car Seat เป็นที่นั่งแบบหันมาด้านหน้าตามปกติ (Forward-facing car seat) โดยมีขนาดที่ครอบคลุมทั้งลำตัวและศีรษะเด็ก โดยมีสายรัดลำตัว เป็นเข็มขัดนิรภัยแบบ 5 จุดติดตั้งมาพร้อมที่นั่ง ยึดติดกับรถด้วยเข็มขัดนิรภัยของรถยนต์
-
เด็กอายุ 4-7 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี
ควรใช้ Car seat แบบ เป็นที่นั่งแบบหันมาด้านหน้าเช่นเดิม จนกว่าจะโตจนความสูงเกินขนาดของ Car seat หรือ น้ำหนักตัวมากกว่า 18 กิโลกรัม ก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ที่นั่งแบบหันไปด้านหน้า ไม่มีสายรัดติดตั้งมากับที่นั่ง (Belt-positioning booster seat) เพื่อเสริมความสูงให้กับเด็กและปรับตำแหน่งเข็มขัดนิรภัยของรถให้พอดีกับลำตัวเด็ก
หรือนํ้าหนักมากกว่า 28 กก. สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยปรกติที่มีใน รถยนต์ได้ โดยไม่ต้องใช้ booster seat ทั้งนี้เมื่อคาดเข็มขัดนิรภัยแล้วสายคาดควรอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่เด็ก
วิธีติดตั้งคาร์ซีทที่ถูกต้อง
- การติดตั้งคาร์ซีทที่ถูกต้องสำหรับเด็ก คือ อยู่ที่เบาะหลัง ซึ่งเป็นตำแน่งที่ปลอดภัยกว่าเบาะหน้า และหากวางไว้ที่เบาะหน้าอาจจะได้รับอันตรายจากถุงลมนิรภัยกระแทกได้
- ปรับตำแหน่งสายเข็มขัดนิรภัยของรถยนต์ให้พอดีกับลำตัวเด็กเสมอ เพื่อกระจายแรงกระแทก ตำแหน่งของเข็มขัดนิรภัยต้องเหมาะสมกับตัวเด็ก โดย ตำแหน่งของเข็มขัดนิรภัยที่เหมาะสมกับตัวเด็ก คือ สายพาดเฉียงข้ามไหล่ ต้องอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางของไหล่ด้านที่สายพาดผ่านกึ่งกลางหน้าอก ห้ามพาดอยู่บนคอของเด็ก ส่วนสายพาดบริเวณหน้าตัก ต้องอยู่ต่ำและพาดผ่านส่วนบนของโคนขา ห้ามพาดอยู่บนสะโพกของเด็ก (หากสายพาดเฉียงข้ามไหล่พาดผ่านหัวหรือหน้าเด็ก หรืออยู่สูงกว่าตัวเด็ก หรือสายพาดบริเวณหน้าตักพาดอยู่บนท้องเด็ก แสดงว่าเด็กคนนั้นยังไม่สามารถใช้สายเข็มขัดนิรภัยปรกติที่มีใน รถยนต์โดยไม่ต้องใช้ booster seat ได้ซึ่งอันตรายมากค่ะ)
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
อาบน้ำทารกแรกเกิด จำเป็นต้องอาบทุกวันไหม ต้องอาบอย่างไรไม่ให้ลูกป่วย
ฝีหลังคอหอยในทารก ลูก 2 เดือน เป็นโรคฝีหลังคอหอย หลังโดนกวาดยาที่คอจนติดเชื้อ
ซึ้งสุดๆ! ชั่วโมงแรกของทารก vs วินาทีแรกพบของพ่อแม่
ควรพาลูกอ่อนออกนอกบ้านได้ตอนกี่เดือน?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!