โศกนาฏกรรมของหนูน้อย Joel กับการเปลี่ยนวิธีให้เด็กเล็กนั่งคาร์ซีท
จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงวิธีนั่งคาร์ซีทของเด็กและทารก เริ่มต้นขึ้น เมื่อ Joel เด็กน้อยวัย 18 เดือนกับแม่ของเขาประสบอุบัติเหตุรถยนต์ในปี 2551 ณ ตอนนั้นกุมารแพทย์ประจำตัวของ Joel ได้บอกว่าสามารถให้หนูน้อยนั่งบนคาร์ซีทโดยหันหน้าทางเดียวกับคนขับได้ และในตอนนั้นการให้ลูกนั่งคาร์ซีทหันไปทางเดียวกับคนขับดูเหมือนเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ทำกันมากมาย
แม้แต่องค์กรกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American Academy of Pediatrics) ยังได้ระบุไว้ ณ ตอนนั้นเช่นกันว่า “เด็กอายุ 12 เดือน หรือ เด็กที่หนักมากกว่า 20 ปอนด์ขึ้นไป สามารถใช้คาร์ซีทแบบ Front Facing (หันหน้าทางเดียวกับคนขับ) ได้”
เมื่อนั่งบนรถยนต์ คุณแม่ของ Joel ได้ให้ลูกชายนั่งคาร์ซีทแบบหันไปทางเดียวกับคนขับด้วยเช่นกัน ในวันที่เกิดอุบัติเหตุ รถยนต์ชนกับต้นไม้เข้าอย่างรุนแรง จนบริเวณศีรษะและคอของ Joel ได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก แรงชนทำให้กระดูกสันหลังของ Joel แยกออกจากกะโหลกศีรษะ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสที่คอของหนูน้อย
ทั้งที่คุณแม่ของ Joel ทำตามคำแนะนำของกุมารแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยให้ลูกนั่งคาร์ซีทแบบหันหน้าทางเดียวกับคนขับ แต่ยังเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงกับเด็กน้อยได้ คุณตาของ Joel จึงตัดสินใจศึกษาเรื่องนี้อย่างหนัก และทำให้เขาพบว่า
• น้ำหนัก 25% ของน้ำหนักตัวทั้งหมดของเด็กเล็ก จะอยู่ที่ศีรษะ (ขณะที่ผู้ใหญ่ศีรษะจะหนักเพียง 6% ของน้ำหนักตัวทั้งหมด) ทำให้คอของเด็กจะต้องรับภาระหนักมากกว่าปกติ ดังนั้นการติดตั้งคาร์ซีทแบบ Front Facing หรือหันไปทางเดียวกับคนขับ จะทำให้เมื่อเกิดการชนด้านหน้ารถยนต์ ร่างของเด็กจะถูกรั้งให้ติดกับเบาะไว้โดยคาร์ซีท แต่ศรีษะเด็กซึ่งมีน้ำหนักถึง 25% ของร่างกาย จะไม่มีอะไรฉุดรั้งไว้ โมเมนตัมของรถจะยังคงฉุดให้ศรีษะพุ่งต่อไปยังข้างหน้า และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้กระดูกเคลื่อนอย่างรุนแรง หรือคอหักได้ทันที (สูตรโมเมนตัม P = มวล x ความเร็ว)
• แค่ศีรษะเคลื่อนอย่างรุนแรงในเพียง 1/4 นิ้ว อาจทำให้เด็กเป็นอัมพาต หรือ เสียชีวิตได้
• 75% ของเด็กที่นั่ง Car seat แบบ Rear Facing (หันหลังให้คนขับ) จะมีโอกาสได้รับบาดเจ็บน้อยว่าการนั่งแบบ Front Facing (วิจัยและตีพิมพ์โดย AAP)
• นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก และ ฟินแลนด์ แนะนำให้ติดตั้ง Car seat แบบ Rear Facing และกำหนดให้เด็กต้องนั่งจนกว่าจะอายุ 4 ปี
(ขอบคุณและเนื้อหาข้อมูลทั้งหมดในส่วนนี้จาก https://rugdek.com/rear-facing-car-seat/)
คุณตาของ Joel ได้ทำการเรียกร้องไปหลายครั้ง จนในปัจจุบัน องค์กรกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American Academy of Pediatrics) ได้เปลี่ยนคำแนะนำการใช้ Car seat และตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่อง Car seat กับ ความปลอดภัยของเด็กฉบับใหม่ในหัวข้อ “Car seats: นั่งหันหลังคนละทางกับคนขับช่วยกันภัยได้ดีที่สุด” ขึ้นมา โดยในผลการศึกษาดังกล่าว มีใจความโดยสรุปดังนี้
• การใช้ Car seat แบบนั่งหันหลังคนละทางกับคนขับ จะทำให้เด็กเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่า หรือได้รับบาดเจ็บน้อยกว่าการใช้ Car seat แบบนั่งหันไปทางเดียวกับคนขับมากถึง 75%
• เนื่องจากการนั่ง Car seat แบบนั่งหันหลังคนละทางกับคนขับจะช่วยป้องกันส่วนศีรษะ คอ และ กระดูกสันหลังของเด็กได้ดีกว่าเมื่อเกิดการชน เนื่องจากการนั่งหันหลังคนละทางกับคนขับ จะช่วยกระจายแรงชนออกไปได้ทั้งร่างกาย
• นอกจากนี้เด็กหรือทารกควรนั่ง Car seat แบบนั่งหันหลังคนละทางกับคนขับไปจนถึงอายุ 2 ปีด้วย
กรณีหนูน้อย Joel นั้นนับว่าโชคดี เพราะเขาอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว หลังจากรับการรักษาและฟื้นฟูคอกับช่วงแขนไป ส่วนสำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่สนใจเรื่อง Car seat กับ ความปลอดภัยของเด็ก เพิ่มเติม ก็สามารถรับชมวิดิโอที่คุณตาของ Joel ทำขึ้นมาได้ด้านล่างนี้เลยค่ะ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!