องค์การอนามัยโลก : นมแม่
องค์กรอนามัยโลกกำหนดให้แม่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ใน 3 ระยะ ที่สำคัญ คือ
ระยะที่ 1 คือ แรกเกิด – 6 เดือนหลังคลอด ให้ลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว
ระยะที่ 2 คือ หลังจาก 6 เดือน ทารกสามารถกินนมแม่และเสริมอาหารให้แก่ทารกได้
ระยะที่ 3 คือ หลังจาก 1 ปีไปแล้ว แม้ว่าลูกจะทานอาหารครบ 3 มื้อให้กินนมแม่เป็นอาหารเสริมไปจนครบ 2 ปี
จะเห็นได้ว่า องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ แม้แต่งานวิจัยที่มีออกมามากมายถึงคุณประโยชน์ของนมแม่ นอกจากภูมิต้านทานที่ได้รับ สายใยรักระหว่างแม่ลูกแล้ว ทารกดูดนมแม่ยังช่วยให้เจ้าหนูมีฟันสวย อีกทั้งช่วยลดภาวะฟันไม่สบกันอีกด้วย
บทความแนะนำ ทำไมต้องให้นมแม่อย่างน้อย 6 เดือน
หมอแนะ!!ดูดนมแม่ช่วยให้ลูกฟันสวย
แพทย์หญิงยุพยงค์ แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวถึง นมแม่ช่วยเพิ่มไอคิว และยังเป็นแหล่งอาหารที่สร้างภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงพัฒนาการของช่องปากที่ดีของลูก
จากงานวิจัยในต่างประเทศ โดย Karen Glazer Peres และคณะศึกษาว่า การดูดนมแม่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของช่องปาก โดยวิจัยจากทารกกว่า 27,000 ราย พบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะฟันไม่สบกัน (Malocclusion) คือ ลักษณะของฟันแท้ที่มีการจัดเรียงผิดปกติอาจเกิดการซ้อนทับกัน ฟันยื่นไปข้างหน้า ฟันยื่นเข้าลึก ฟันห่างกัน เป็นต้น ทำให้เกิดลักษณะการจัดเรียงตัวของฟันไม่สวยงาม ซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะฟันน้ำนม และระยะฟันผสมระยะแรก
การดูดนมแม่ช่วยให้ลูกฟันสวย ได้อย่างไร
แพทย์หญิงยุพยงค์ แห่งเชาวนิช กล่าวถึงข้อมูลจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Acta Paediatrica เกี่ยวกับการดูดนมของทารกที่มีผลต่อดีสุขภาพช่องปาก สรุปได้ดังนี้
1. ลักษณะการดูดนมแม่ของทารกทำให้กล้ามเนื้อช่องปากของเจ้าหนูมีความแข็งแรง ธรรมชาติการดูดนมจากเต้า ทารกจะอมหัวนมจนถึงส่วนลานนม และดูดแบบบีบรูด (Peristalsis)
2. การดูดแบบบีบรูด (Peristalsis) คือ การที่ทารกใช้ลิ้นบีบนวดส่วนที่เป็นลานนมซึ่งมีท่อน้ำนมเป็นจำนวนมาก จึงทำให้กล้ามเนื้อในช่องปากทุกส่วนเกิดการเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ
3. เต้านมของแม่มีความอ่อนนุ่มตามธรรมชาติจึงไม่มีผลต่อการกดหรือดันเหงือกรวมถึงเพดานปากของลูก
ลักษณะการดูดนมขวดของทารกที่มีผลสุขภาพช่องปาก
1. ในขณะที่ทารกดูดนมจากจุกขวดนมผสม เจ้าหนูน้อยจะใช้แรงดูดในลักษณะของการออกแรงดูด (Sucking) โดยใช้เหงือกกัดจุกนม และใช้ลิ้นกดช่องจุกนมไว้ พร้อมกับการบีบตัวของกล้ามเนื้อบริเวณแก้ม เพื่อให้เกิดภาวะสุญญากาศในช่องปาก ให้น้ำนมไหลออกจากขวดนมได้ ที่สำคัญ หัวนมปลอมที่ใช้มักมีลักษณะแข็ง ไม่ยืดหยุ่นจึงส่งผลต่อการหลุดของฟันน้ำนม และการจัดเรียงตัวของฟันแท้ต่อไป
2. การดูดนมผสมจากขวดจึงทำให้เกิดแรงบีบที่ขากรรไกรบน มีผลทำให้โค้งเพดานปากด้านบนมีการขยายตัวผิดปกติ และนำไปสู่ทำให้เกิดการซ้อนทับ หรือไม่สบกันของฟันชุดแรก รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการเกิดการสบฟันที่ผิดปกติได้
บทความแนะนำ Top 10 ปัญหาช่องปากเจ้าตัวน้อย
เรื่องน่ารู้ : ผลเสียจากการใช้จุกนม มีผลทำให้ฟันยื่น
แผนกทันตกรรม โรงพยาบาลพญาไท ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ จุกนมยาง ไว้ว่า จุกนมเป็นลักษณะหัวนมที่ทำด้วยยาง พ่อแม่หลายท่านนิยมให้เด็กดูดเพื่อให้เลิกร้องไห้หรือกวนโยเย แต่ทางทันตแพทย์ไม่แนะนำให้ใช้ เนื่องจากเป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีแก่เด็ก ถ้าเด็กติดนิสัยนี้แล้วจะเลิกยาก
จะมีผลทำให้ฟันหน้าบนยื่น ฟันล่างหลุบเข้าไปในปาก ในบางคนอาจมีฟันหน้าไม่สบกันเลย ซึ่งจะมีผลต่อใบหน้าและบุคลิกภาพไม่สวยงาม ทำให้ระบบการบดเคี้ยว ไม่ดี และระบบย่อยอาหารก็ไม่ดีเช่นกัน จึงควรพยายามเลิกการใช้จุกนม
เรื่องของนมแม่ พูดกันอย่างไรก็มีแต่ข้อดีทั้งนั้น ส่งผลดีแม้กระทั่งสุขภาพฟันของลูก เมื่อได้ทราบข้อดีเช่นนี้แล้ว หากคุณแม่ต้องการให้ลูกมีสุขภาพฟันที่ดีและมีฟันสวยต่อไป ดูดนมแม่ช่วยได้ค่ะ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
ที่มา : thaihealthlife.com, www.phyathai.com
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับที่ 4795 หัวข้อ ดูดนมแม่ลูกน้อยสุขภาพดี ฟันสวย
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ประโยชน์ของฟันน้ำนมที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
แม่รู้ไหม? เป่า กัดอาหารป้อนลูกเสี่ยงติดเชื้อฟันผุได้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!