ปัญหากวนใจคุณแม่ให้นมเมื่อทารกน้อยงอแง ลูกไม่เอาเต้า ลูกติดขวดไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร ซึ่งมีสาเหตุได้หลายอย่าง คุณแม่ต้องทำการสำรวจ หรือพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ หากรู้สาเหตุแล้วจึงจะสามารถแก้ไขต่อไปได้ เพราะอย่างไรก็ตาม การให้ทารกได้กินนมจากเต้า ถือเป็นวิธีการสานสัมพันธ์ระหว่างลูกน้อยกับคุณแม่ที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง
ลูกไม่เอาเต้า จะกินนมจากขวดอย่างเดียว
คุณแม่หลายคนกลุ้มใจที่ลูกไม่ยอมกินนมแม่จากเต้าเลย แต่จะกินนมจากขวดเท่านั้น หรือที่เรียกว่า “ลูกไม่เอาเต้า” เรามีวิธีแก้ปัญหานี้มาแนะนำ ขอเตือนก่อนว่าไม่ใช่ว่าลองทำครั้งเดียวแล้วลูกจะดื่มนมแม่ได้ง่าย ๆ ในทันที เพราะอาจจะต้องทำหลาย ๆ ครั้งและใช้ความอดทนกันหน่อย การแก้ปัญหานี้เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะสำคัญต่อตัวของคุณแม่ และทารก อีกทั้งการให้ลูกดูดนมจากขวดอย่างเดียว แม้นมในขวดจะเป็นนมที่ปั๊มเอาไว้ ก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการในระยะยาวได้ เช่น เมื่อถึงช่วงที่ฟันน้ำนมของลูกขึ้น หากยังติดขวดติดจุกอยู่ จะทำให้ฟันเสียระเบียบ ส่งผลต่อการขึ้นของฟันแท้ในอนาคตได้ เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่อุตส่าห์ปั๊มน้ำนมได้ตั้งเยอะ แก้ปัญหา ลูกไม่ยอมกินนมสต๊อก ทำไง
วิดีโอจาก : Nurse Kids
ไขข้อข้องใจทำไมลูกไม่เอาเต้า ?
มีหลายเหตุผลที่ทำให้ลูกไม่เอาเต้า บางสาเหตุก็แก้ได้ง่าย บางสาเหตุก็ต้องอาศัยความอดทนสูง ซึ่งคุณแม่ต้องคอยสังเกตให้ดีว่าลูกน้อยนั้นมีปัจจัยไหนบ้าง เพื่อที่จะนำข้อมูลมาใช้แก้ปัญหาต่อ ๆ ไป ดังนี้
- มีน้ำมูก เป็นหวัด ก็เป็นเหตุผลง่าย ๆ ที่ทำให้ลูกกินนมลำบากเวลาหายใจทางจมูกไม่ออก
- เจ็บหู เมื่อต้องดูดนมก็ทำให้เด็กยิ่งเจ็บ
- เจ็บคอจากอาการหวัด ทำให้เจ็บคอเวลาต้องกลืนน้ำนม
- มีไข้ ตัวร้อน เมื่อต้องแนบตัวกับแม่ที่ร่างกายก็มีความอบอุ่น ยิ่งทำให้ลูกยิ่งรู้สึกกระวนกระวาย
- รสชาติของนมแม่เปลี่ยนไป เกิดขึ้นได้จากอาหารที่แม่ทานเข้าไป คุณแม่ไม่ควรทานอาหารเผ็ดมาก หรือมีรสใดจัดเกินไป
- ฟันขึ้น เด็กบางคนจะรู้สึกเจ็บเหงือกเวลาดูดนมแม่เมื่อฟันเริ่มขึ้น
- ชอบขวดมากกว่า เด็กบางคนชอบขวดมากกว่าเมื่อได้ลองดูดจากขวดเวลาคุณแม่ออกไปทำงาน
- มีสิ่งอื่นดึงดูดความสนใจ เมื่อเด็กอายุ 5-6 เดือน เขาจะเริ่มมองเห็นได้ดี และเห็นว่าโลกช่างกว้างใหญ่ มีสิ่งที่เขาต้องค้นหาอีกเยอะ ลูกอาจจะเห็นว่าการดูดนมแม่เป็นสิ่งกีดขวางการค้นหาของเขา
- แม่มีน้ำนมมากเกินไป น้ำนมแม่อาจจะไหลเร็วเกินไป ลูกอาจจะสำลักได้ เลยทำให้ลูกไม่ชอบดูดนมแม่
- ใช้จุกนมหลอกบ่อยไป เพราะจุกหลอกทำให้เด็กได้ดูดตลอดเวลา การดูดนมแม่เลยเป็นเรื่องน่าเบื่อไปแล้ว
- การเปลี่ยนเวลา คุณแม่บางคนต้องปรับเปลี่ยนชีวิตเมื่อต้องกลับไปทำงาน ทำให้ลูกก็ต้องเปลี่ยนเวลาตัวเองไปด้วย
ผลเสียจากการติดขวดนมที่คาดไม่ถึง
ฟันน้ำนมของลูกจะเริ่มมีพัฒนาการขึ้นมาเป็นซี่เล็ก ๆ ครั้งแรกหลังจากทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งยังอยู่ในช่วงที่ต้องการนมแม่อยู่ หากปล่อยไว้จะเกิดข้อเสียในระยะยาวได้ เนื่องจากการสัมผัสกับขวดนมมากเกินไป จะส่งผลให้ทารกเสี่ยงฟันผุในอนาคต เพราะการดูดนมขวด นมจากขวดจะซึมออกมาได้เรื่อย ๆ ส่งผลต่อสุขภาพช่องปากของทารกได้ ยิ่งถ้าปล่อยให้ทารกหลับคาขวดจะยิ่งส่งผลเสียมากขึ้นได้ ความรุนแรงอาจมากขึ้นได้ตามที่กล่าวไป จากการที่ทารกดูดขวดตลอด หลังจากมีฟันน้ำนม ผู้ปกครองหลายคนอาจเข้าใจว่าจะไม่เป็นอะไร เพราะไม่ใช่ฟันแท้ แต่เมื่อฟันน้ำนมผิดปกติ จะส่งผลให้การงอกของฟันแท้เสี่ยงจะเกิดความผิดปกติตามไปด้วย
นอกจากนี้ยังอาจส่งผลร้ายต่อคุณแม่ได้ด้วย เพราะการที่ลูกไม่ยอมกินนมจากเต้า จนคุณแม่ต้องหันไปปั๊มน้ำนมแทน มักส่งผลให้เต้านมผลิตน้ำนมได้น้อยลง หรือท่อน้ำนมอาจเกิดการอุดตันได้ อาจทำให้มีอาการปวด หรือบวมบริเวณเต้านมนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีให้ลูกเลิกขวด ลูกติดขวด ระวังฟันผุ แม่จะจับลูกเลิกนมมื้อดึกอย่างไร ให้ได้ผล !
ลูกไม่เอาเต้า ทำอย่างไรดี
เมื่อรู้แล้วว่าลูกไม่ยอมเข้าเต้าจากสาเหตุไหน ก็สามารถแก้ไขตามปัจจัยนั้นได้เลย โดยเรามีวิธีแก้ไขเบื้องต้นมาแนะนำให้ แต่ถ้าหากไม่ได้ผล หรือมีข้อสงสัยอื่น ๆ ให้ปรึกษาแพทย์แทน เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง วิธีแก้ไขเบื้องต้น สามารถทำได้ ดังนี้
- ถ้าสาเหตุที่ลูกไม่เอาเต้าเกิดจากอาการเจ็บป่วย ก็ต้องรักษาอาการป่วยนั้นให้หาย ซึ่งในกรณีนี้จะเป็นปัญหาเพียงชั่วคราวเท่านั้น
- หากคุณแม่ทานอาหารแปลกไป ให้ลองเปลี่ยนกลับมากินอาหารที่เคยกิน และพยายามอย่าทานอาหารที่มีรสเผ็ด มีกรด เปรี้ยวเกินไป หรือมีอาหารที่มีแก๊สมาก
- ถ้าคุณแม่ชอบใช้สบู่ หรือครีมทาผิวที่มีกลิ่นแรง ให้ลองเลิกใช้ดูก่อน หรือเว้นการใช้บริเวณเต้านม เพราะลูกอาจจะไม่ชอบกลิ่น เปลี่ยนเป็นพวก baby oil ก็ได้ถ้าผิวคุณแห้งมาก แต่อย่าเอาอะไรทาหัวนมนอกจากครีมทาหัวนมเท่านั้น
- คุณพยายามให้ลูกดื่มนมมากไปหรือเปล่า บางทีลูกอาจจะอิ่มแล้ว เด็กตัวเล็ก ๆ กินนิดเดียว ถ้าคัดเต้านมให้ปั๊มนมเก็บเอาไว้และแช่แข็งเก็บไว้เผื่ออนาคต เพราะเมื่อลูกโตขึ้น เขาก็จะต้องดื่มนมมากขึ้น
- ถ้าลูกคุณมัวแต่จะเล่น หรือสำรวจโลก ก็จัดที่ให้นมให้ไม่มีสิ่งล่อ หรือกวนใจลูก ให้เป็นห้องที่ไม่มีของเล่นหรืออะไรที่มีสีสัน เพื่อไม่ให้ลูกหันเหความสนใจไปทางอื่น
- ให้นมให้เป็นเวลา และให้ใช้ผ้าห่มผืนเดิม นั่งที่เดิมเวลาให้นมลูก เพื่อให้ลูกรู้สึกว่านี่คือที่ที่ปลอดภัย ให้เขาผ่อนคลาย
- หากสาเหตุที่ลูกไม่เอาเต้าคือฟันขึ้น ใช้เวลาซัก 15 นาทีแก้ปัญหาอาการคันเหงือกหรือเจ็บเหงือกของลูก แล้วจึงให้ลูกดูดนม
- ขอให้คุณแม่อย่าเครียด เพราะเด็กจะสามารถรับรู้ถึงความกระวนกระวายของคุณแม่ได้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกไม่ได้ทำได้ในชั่วข้ามคืน ต้องอาศัยความอดทนและความรักด้วย
ปัญหาลูกไม่ยอมเข้าเต้าเป็นปัญหาที่คุณแม่สามารถพบเจอได้ ถึงแม้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าหากมองข้าม ไม่พยายามแก้ไขก่อน ก็อาจส่งผลเสียได้เหมือนกัน ยิ่งถ้ามีปัญหาอื่นที่สงสัยในเรื่องของการให้นมลูก ยิ่งต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อความปลอดภัย และความสมบูรณ์ของพัฒนาการทารก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีเพิ่มน้ำนมแม่ สำหรับคุณแม่ที่คิดว่าตัวเองน้ำนมน้อย กลัวลูกไม่พอกิน
Overfeeding คืออะไร? ให้ลูกกินนมเยอะเกินไป ระวังลูกเป็นโรคอ้วน
ลูกร้องไห้ดูดนมบ่อยมาก จนแม่ไม่เป็นอันทำอะไรเลย จะแก้อย่างไรดี
ที่มา : baby-toddler, รพ.สมิติเวช
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!