ลูกไม่ถ่าย ทำอย่างไรดี สวนก้นเลยดีไหม แบบไหนเรียกท้องผูก

ลูกไม่ถ่าย ทำอย่างไรดี เด็กวัยแรกเกิดบางคนถ่ายวันละหลายรอบ เด็กบางคนไม่ถ่ายนาน 3-4 วัน หรือมากกว่านั้น ทารกไม่ถ่ายนานแค่ไหน จึงเรียกว่าท้องผูก?
ลูกไม่ถ่าย ทำอย่างไรดี เด็กวัยแรกเกิดบางคนอาจจะถ่ายวันละหลาย ๆ รอบ ในขณะที่เด็กบางคนไม่ถ่ายนาน 3 – 4 วัน หรือมากกว่านั้น การขับถ่ายปกติของทารกเป็นอย่างไร ทารกไม่ถ่ายนานแค่ไหน จึงจะเรียกว่าท้องผูก ?
การขับถ่ายของเด็กแรกเกิดมีความแตกต่างกัน โดยเด็กที่กินนมแม่ จะมีการขับถ่ายมากกว่า เด็กที่กินนมผง อย่างไรก็ตาม ความถี่ในการขับถ่ายของเสียของทารกก็จะเปลี่ยนแปลงไปอีกในช่วงสัปดาห์ที่ 2 – 3 พ่อแม่อาจจะพบว่า ลูกไม่ถ่าย เกือบสัปดาห์ สาเหตุเกิดจากอะไร ควรพาไปพบแพทย์หรือไม่ บทความนี้มีคำตอบ

การขับถ่ายครั้งแรกของทารกแรกเกิดจะมีดำ หรือเขียวเข้ม มีลักษณะเหนียวหนืดเหมือนดินน้ำมัน และไม่มีกลิ่น เกิดจากสสารที่ถูกย่อยระหว่างที่ทารกยังอยู่ในครรภ์ และถูกขับถ่ายออกมาในช่วง 24 – 48 ชั่วโมงแรกของชีวิตทารก
สุขภาพ และการขับถ่ายของเด็กแรกเกิด
การดูแลสุขภาพของทารกแรกเกิด สิ่งหนึ่งที่สามารถประเมินได้ว่า สุขภาพของลูกน้อยสมบูรณ์ดี หรือมีความผิดปกติหรือไม่ นั่นก็คือ การสังเกตจากผ้าอ้อมของลูก ลูกปัสสาวะ หรืออุจจาระกี่ครั้งต่อวัน ของเสียที่ขับออกมาบนผ้าอ้อมมีสีอะไร เป็นปกติหรือไม่ ซึ่งความถี่ในการเปลี่ยนผ้าอ้อมก็สามารถบ่งชี้ถึงภาวะขาดน้ำ อาการท้องผูก สีของอุจจาระก็เป็นตัวชี้วัดโรค และความผิดปกติภายในของทารกได้ด้วย
ความถี่ในการขับถ่ายอุจจาระของทารกแรกเกิดในสัปดาห์แรกไม่มีความแน่นอน ขึ้นอยู่กับนมที่ทารกดื่มเข้าไป โดยทั่วไป เด็กทารกที่ดื่มนมแม่ จะมีการขยับตัวของลำไส้ที่มากกว่า ทำให้มีความถี่ในการขับถ่ายอุจจาระที่มากกว่าเด็กทารกที่ดื่มนมผง แต่เมื่อมีการเปลี่ยนจากการดื่มนมแม่ ไปเป็นนมผสม หรือนมผง ลักษณะของอุจจาระ ความถี่ในการขับถ่าย และเปลี่ยนผ้าอ้อมก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย
การขับถ่ายอุจจาระครั้งแรกของทารกแรกเกิด
การขับถ่ายครั้งแรกของทารกแรกเกิดจะมีดำ หรือเขียวเข้ม มีลักษณะเหนียวหนืดเหมือนดินน้ำมัน และไม่มีกลิ่น เกิดจากสสารที่ถูกย่อยระหว่างที่ทารกยังอยู่ในครรภ์ อุจจาระสีดำนี้ จะถูกขับถ่ายออกมาในช่วง 24 – 48 ชั่วโมงแรกของชีวิตทารก เรียกว่า ขี้เทา (Meconium) ไม่ว่าจะได้รับนมแม่หรือไม่ การขับถ่ายช่วง 1 – 3 วันแรก ก็จะเหมือนกัน โดยมีดำ หรือเขียวเข้มก่อน จากนั้นจึงค่อยขับถ่ายออกมาเป็นสีน้ำตาลอ่อน สีเหลือง หรือสีเขียวเหลือง ในช่วงประมาณวันที่ 4 หลังคลอด จากการที่ร่างกายมีการย่อยน้ำนม
ทารกที่กินนมแม่ และทารกที่กินนมผง ขับถ่ายต่างกันอย่างไร
หลังจากผ่านช่วงขี้เทา (Meconium) ไปแล้ว น้ำนมที่ดื่มเข้าไป และถูกย่อยออกมา ทำให้สีของของเสียที่ทารกขับถ่ายมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับน้ำนมที่ดื่ม
ในช่วง 6 สัปดาห์แรก เด็กทารกที่ดื่มนมแม่ อุจจาระจะมีสีเหลือง และค่อนข้างเหลว ทารกจะขับถ่ายอย่างน้อย 3 ครั้ง อาจมากถึง 12 ครั้งต่อวัน แต่หลังจากนั้นก็จะเว้นระยะห่างออกไป ทารกอาจจะไม่ถ่ายเป็นเวลา 2 – 3 วัน
สาเหตุของเด็กที่กินนมแม่ มีการขับถ่ายน้อยลง เป็นเพราะสารอาหารในนมแม่ จะถูกดูดซึมไปใช้จนเกือบหมด ทำให้ทารกเหลือของเสียที่ต้องขับออกจากร่างกายไม่มาก แม้ว่าจะไม่ขับถ่ายเป็นเวลาหลายวัน อุจจาระก็ไม่แข็ง สำหรับเด็กทารกที่กินนมแม่บางคนไม่ขับถ่ายนาน เป็นเวลา 2 – 3 สัปดาห์ ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้เป็นอาการท้องผูกอย่างที่หลายคนเข้าใจ
สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสม หรือนมผง ลักษณะของอุจจาระจะมีสีน้ำตาลอ่อน ๆ หรือสีออกเขียว ๆ และจะขับถ่าย 1 – 4 ครั้งต่อวัน หลังจากเดือนแรกผ่านไป ทารกอาจจะขับถ่ายน้อยลง อาจจะเป็นวันเว้นวัน
อุจจาระของลูกที่ดื่มนมผสม หรือนมผง จะมีลักษณะที่แข็งกว่า และขับถ่ายไม่คล่องเท่ากับทารกที่กินนมแม่ บางคนอาจจะถ่ายทุก ๆ 3 – 4 วัน ถ้าอุจจาระยังไม่แข็ง เป็นเม็ดคล้ายลูกกระสุน ก็ยังไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติเช่นกัน

หลังจากผ่านช่วงขี้เทา (Meconium) ไปแล้ว น้ำนมที่ดื่มเข้าไป และถูกย่อยออกมา ทำให้สีของของเสียที่ทารกขับถ่ายมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของนมที่ดื่ม
ลูกไม่ถ่ายแบบไหนเรียกท้องผูก
โดยปกติแล้ว เด็กทารกที่ยังกินนมแม่เพียงอย่างเดียว มักจะไม่มีปัญหาเรื่องท้องผูก แต่อาการท้องผูกอาจจะเกิดขึ้นได้ ในช่วงที่เริ่มเปลี่ยนไปทานอาหารเสริม ซึ่งอาการที่อาจจะบ่งบอกได้ว่าลูกท้องผูก นอกจากการที่ลูกไม่ถ่ายแล้ว เด็กบางคนอาจจะทำหน้าเหมือนเบ่งอุจจาระ แต่ไม่ถ่าย เด็กบางคนก็อาจจะร้องไห้ เหมือนเจ็บก้น และรู้สึกไม่สบายตัว อาการอื่น ๆ ที่บอกว่าทารกท้องผูก มีดังนี้
- ลูกทำท่าเหมือนปวดท้อง ท้องอืด
- ท้องแข็ง
- มีเลือดออก ติดมากับก้อนอุจจาระ
- อุจจาระเป็นก้อนแข็งมีลักษณะคล้ายกระสุน
- ปวดท้อง แต่หายปวดหลังขับถ่าย
ลูกไม่ถ่าย ควรสวนก้นเลยดีไหม
พอเห็นว่าลูกไม่ถ่าย พ่อแม่ก็มักจะใช้ที่สวนก้น เพื่อช่วยให้ลูกขับถ่าย แต่นั่นก็ไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องนัก เพราะการสวนอุจจาระ หรือการสอดใส่อะไรเข้าไปในช่องทวารของลูกเอง โดยที่ไม่ได้ปรึกษาคุณหมอ อาจจะทำให้เนื้อเยื่อบางส่วนฉีกขาด และเป็นการรบกวนการทำงานของลำไส้ อาจทำให้ลำไส้ทำงานผิดปกติ ทั้งยังทำให้ลูกเคยตัว และไม่ยอมถ่ายด้วยตัวเองอีกด้วย
ลูกท้องผูก ทำอย่างไรดี
- หากลูกยังกินนมแม่อยู่ ให้คุณแม่กินผัก และผลไม้ที่ช่วยระบาย เช่น ขี้เหล็ก มะละกอสุก พรุน ส้ม หรือ มะขาม และควรดื่มน้ำมาก ๆ ย้ำว่าคุณแม่ต้องเป็นคนกิน ไม่ใช่ให้ลูก เพราะทารกที่อายุยังไม่เกิน 6 เดือน ยังไม่ควรให้กินอาหารอื่น รวมไปถึงน้ำด้วย และควรให้กินแต่นมแม่เท่านั้น
- หากลูกที่กินนมแม่ แต่ไม่ขับถ่าย สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะลูกไม่ได้รับน้ำนมอย่างเพียงพอ อาจเกิดจากปัญหาที่เต้านมของคุณแม่
- นวดท้องให้ลูก เริ่มด้วยการคลึงเบา ๆ บริเวณท้องของทารก วนตามเข็มนาฬิกา และกดเบา ๆ ที่ท้องด้านขวา ยกข้อเท้าของทารกขึ้นเบา ๆ และหมุนช้า ๆ เหมือนกับการปั่นจักรยาน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเคลื่อนที่ภายในลำไส้ ทำให้ลำไส้ของทารกคลายตัวลง และบรรเทาอาการท้องผูกได้
- สำหรับเด็กที่กินนมผสม คุณแม่อาจจะลองเปลี่ยนสูตรนม เด็กบางคนมีระบบขับถ่ายที่ดีขึ้น และหายท้องผูก เมื่อได้ลองกินนมผงสูตรอื่น ๆ
แต่หากลูกท้องผูกติดต่อกันนานเกินหนึ่งสัปดาห์ ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยต่อไป

อาการที่อาจจะบ่งบอกได้ว่าลูกท้องผูก นอกจากการที่ลูกไม่ถ่ายแล้ว เด็กบางคนอาจจะทำหน้าเหมือนเบ่งอุจจาระ แต่ไม่ถ่าย เด็กบางคนก็อาจจะร้องไห้ เหมือนเจ็บก้น และรู้สึกไม่สบายตัว
การขับถ่ายที่ไม่ปกติของทารก ควรพบแพทย์เช่นกัน
อาการท้องผูกไม่ใช่สาเหตุเดียวที่คุณพ่อคุณแม่กังวล แม้ว่าลูกจะขับถ่าย เป็นประจำ แต่หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตความผิดปกติสี หรือลักษณะของของเสียที่ลูกขับถ่ายออกมา ก็ต้องรีบปรึกษาแพทย์เช่นกัน โดยสามารถสังเกตได้จากลักษณะเหล่านี้
- อุจจาระมีสีแดงเข้ม หรือมีเลือดติดออกมาด้วย
- อุจจาระมีสีดำ แม้ว่าจะผ่านช่วงขี้เทาไปแล้ว
- อุจจาระมีสีขาว หรือสีเทา
- ทารกที่ดื่มนมแม่ มีอุจจาระมีสีเขียวอ่อน อาจเกิดจากสารอาหารในนมแม่ หรืออาหารที่แม่บริโภคเข้าไป
- ลูกขับถ่ายบ่อยเกินกว่าเด็กทารกทั่วไป
- อุจจาระของลูกมีของเหลว หรือเมือกปะปนมาก ลูกอาจมีอาการท้องเสีย ซึ่งเกิดขึ้นได้ในช่วง 2 – 3 เดือนแรก เนื่องจากติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ภาวะขาดน้ำ หรือการติดเชื้อทางเดินอาหาร เป็นต้น
หากคุณพ่อ คุณแม่สังเกตเห็นอาการเช่นนี้ ไม่ควรแก้ปัญหา หรือรักษาด้วยตัวเอง เนื่องจากร่างกายของทารกยังบอบบางมาก อีกทั้งยังไม่สามารถรับประทานอาหารอื่น ๆ ได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับคำแนะนำ จึงจะเป็นการดีที่สุด
source healthline
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกป่วยบ่อย ทำไงดี เดี๋ยวหวัด เดี๋ยวไอ เดี๋ยวท้องเสีย สงสารลูกมาก
ราคารถเข็นเด็ก เปรียบเทียบแต่ละยี่ห้อ ซื้อรุ่นไหนดีที่สุด