ฝุ่นละออง pm 2.5
ค่าฝุ่นพิษพุ่งสูงเกินค่ามาตรฐาน! พ่อแม่ปกป้องลูกได้อย่างไร วิธีสังเกตอาการลูกป่วยจาก ฝุ่นละออง pm 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน
ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 กับอันตรายต่อสุขภาพ
ช่วงนี้หมอได้ตรวจผู้ป่วยที่อยู่ใจกลางเมือง มาด้วยอาการป่วยของระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก แสบจมูก มีน้ำมูก ไอ จาม แสบตา คันตา บ่อยขึ้นกว่าปกติ อันน่าจะมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับปัญหามลพิษ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน จนเห็นเป็นกลุ่มควันปกคลุมทั่วท้องฟ้าอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อจะได้ดูแลตนเองและปกป้องลูกน้อยให้ปลอดภัยค่ะ
ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 คืออะไร?
PM ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของทาง United state Environmental Protection Agency ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดตามขนาดของฝุ่นเป็นหน่วยไมครอน ได้แก่ PM 10 และ PM 2.5 โคยฝุ่น PM2.5 จะมีขนาดเล็กเพียงแค่ 1 ใน 25 ของขนาดเส้นผม และมีน้ำหนักเบามาก
ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกิดจากอะไร?
แหล่งกำเนิดของฝุ่นขนาดเล็กนี้ ได้แก่ ควันเสียจากการเผาไหม้ของรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซลที่การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ควันไฟจากการเผาไร่นาและสิ่งปฏิกูลของภาคการเกษตร และจากโรงงานอุตสาหกรรม
อันตรายจากค่าฝุ่นละออง PM 2.5 คืออะไร?
เนื่องจากฝุ่นชนิดนี้มีขนาดเล็กมาก จึงสามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายดังนี้
1. ระบบทางเดินหายใจ :
เนื่องจาก PM 2.5 มีขนาดเล็กมากจึงสามารถลงไปได้ถึงถุงลมในปอดได้ เป็นผลทําให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยหากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานาน จะสะสมในปอด ทําให้สมรรถภาพการทํางานของปอดลดลง ทําให้หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบเหนื่อยได้ หากเป็นผู้ที่มีโรคเรื้อรังในระบบการหายใจ เช่น โรคหืด ถุงลมโป่งพอง หรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ก็อาจจะเกิดอาการกำเริบขึ้นได้ หากสูดหายใจเข้าไปต่อเนื่องในระยะยาวจะส่งผลให้การทำงานของปอดแย่ลง จนอาจเกิดโรคถุงลมโป่งพองได้ และอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดอีกด้วย
2. ระบบอื่นๆของร่างกาย :
เมื่อได้รับ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายแล้ว บางส่วนของฝุ่นชนิดนี้อาจผ่านผนังถุงลมและเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสเลือด จึงสามารถกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายของเราได้ และอาจทำให้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดเกิดอาการกำเริบขึ้นได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
ค่าฝุ่นละออง pm 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน
คนกลุ่มใดที่ควรหลีกเลี่ยง PM 2.5 อย่างเคร่งครัด?
กลุ่มผู้มีความเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยง PM 2.5 อย่างเคร่งครัดได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวในระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด โรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็ก
โดยเด็กจะมีอัตราการหายใจที่เร็วกว่าผู้ใหญ่ มีระบบทางเดินหายใจที่ยังพัฒนาและเติบโตไม่เต็มที่ อีกทั้งยังมีน้ำหนักตัวที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ได้รับมลพิษ PM 2.5 ในอัตราส่วนต่อน้ำหนักตัวค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่
วิธีป้องกันฝุ่นละอองในอากาศ
เราจะป้องกันตนเองในช่วงที่ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานได้อย่างไร?
ในบริเวณที่มีค่า PM 2.5 ในอากาศสูงเกินค่าเฉลี่ยปกติใน 24 ชั่วโมงของกรมควบคุมมลพิษ คือ มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะมีคุณภาพอากาศจะอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ หากค่ามากกว่า 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจะถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจระบบทางเดินหายใจหรือระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน
- ควรอยู่ในอาคารที่ปิดประตูหน้าต่างและมีเครื่องกรองอากาศ หรือเครื่องปรับอากาศอยู่
- ไม่ควรออกกำลังกายกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องเดินทางก็อาจใส่หน้ากากชนิด N95 ชนิดที่สามารถดักจับอนุภาค PM 2.5 ได้ โดยต้องสวมให้ถูกต้องอย่างกระชับกับรูปหน้าค่ะ
ทั้งนี้ สามารถติดตามค่า PM 2.5 และดัชนีคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ได้ที่เว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ https://air4thai.pcd.go.th/webV2/
เราทุกคนสามารถช่วยกันลดปริมาณ PM 2.5 ได้โดยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หากเดินทางไปในที่เดียวกันก็อาจใช้ยานพาหนะร่วมกันให้มากขึ้น และใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะค่ะ
วิธีสังเกตอาการลูกป่วยจากฝุ่น
- คุณพ่อคุณแม่หรือลูกน้อยมีอาการคันจมูก
- จาม แสบจมูก มีน้ำมูกไหล
- หายใจหอบเหนื่อย
- ไอมากผิดปกติ
ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจหาสาเหตุและแก้ไข หากรู้สึกว่าอาการภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจที่เคยเป็นอยู่กำเริบขึ้นมาก็สามารถใช้ยาที่มีอยู่รักษาอาการในเบื้องต้นก่อนได้ หากไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบคุณหมอโดยเร็วค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สิวทารกแรกเกิด เกิดจากอะไร อันตรายไหม พ่อแม่ต้องจัดการอย่างไร
วิธีเลี้ยงลูกให้แข็งแรง อาการป่วยเด็กเล็ก เด็กโต การดูแลลูกให้แข็งแรงฉลาดสมวัย ไอคิวดี อารมณ์แจ่มใส
ทำนายลักษณะของทารก ลักษณะอาการของทารกแบบไหนถึงจะดี พาพ่อแม่สบาย
ตารางอาหารทารกและเด็กเล็ก ในแต่ละช่วงวัย พ่อแม่ควรดูแลอาหารการกินลูกอย่างไร
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!