กรมการแพทย์ เผยว่าปัญหา ฝุ่นพิษ PM 2.5 กลับมาระบาดอีกครั้งและมีระดับเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทุกคน โดยเฉพาะกับเด็กเล็กและเด็กที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่หลีกเลี่ยงการพาลูกออกจากบ้าน เปิดเครื่องฟอกอากาศ และควรหมั่นล้างจมูกให้ลูกด้วยน้ำเกลือบ่อย ๆ
ฝุ่นพิษ PM 2.5 อันตรายต่อเด็กเล็ก เลี่ยงพาลูกออกจากบ้าน
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้กลับมาระบาดอีกครั้งในช่วงฤดูหนาว และมีระดับค่าฝุ่นที่เกินค่ามาตรฐาน ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะในเด็กเล็กและเด็กที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หากสูดดมฝุ่นพิษเข้าไป ก็อาจทำให้เกิดอาการแสบจมูก หายใจไม่สะดวก น้ำมูกไหล ไอ มีเสมหะ และเจ็บคอ อาจทำให้ผื่นคันในบริเวณที่สัมผัสฝุ่น หากรับเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางด้านพัฒนาการและสติปัญญาได้ อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดโรคหืด ภูมิแพ้ และปวดอักเสบติดเชื้อง่าย
ผู้ที่ได้รับฝุ่นพิษ PM 2.5 มาก ๆ เป็นเวลานาน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปลอด อีกทั้งฝุ่น PM 2.5 ยังมีขนาดที่เล็กมาก สามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือด และกระจายไปทั่วร่างกายได้ อาจทำให้เกิดการอักเสบในหลอดเลือด นำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และภาวะเลือดหดตัว
ด้านนพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ได้กล่าวว่า คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็ก ๆ ออกไปกิจกรรมข้างนอกบ้าน หรือพาลูกไปยังบริเวณพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานที่กำหนด ขณะที่อยู่ในบ้านก็ควรปิดประตูหน้าต่างให้สนิท และควรเปิดเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองแบบ HEPA ที่สามารถช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้
กรณีที่คุณพ่อคุณแม่มีความจำเป็นต้องพาลูกออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือพาลูกไปยังพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน ควรให้ลูกสวมหน้ากาก N95 ส่วนเด็กทารกและเด็กเล็ก ไม่ควรให้ออกจากบ้าน ควรล้างจมูกลูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำเพื่อลูกหายใจได้สะดวกมากขึ้น หมั่นเช็ดทำความสะอาดบ้านและเฟอร์นิเจอร์บ่อย ๆ ด้วยผ้าชุบน้ำบิดหมาด จะช่วยลดการสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็กภายในบ้านได้ หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หรือมีผื่นคันตามร่างกายที่ผิดปกติ ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที
บทความที่เกี่ยวข้อง : แพทย์เตือน! คนท้องสูดดมฝุ่น PM 2.5 มาก ๆ ระวังทำร้ายลูกในครรภ์
ฝุ่นพิษ อันตรายต่อเด็กเล็กอย่างไร
เป็นที่ทราบกันดีว่าฝุ่นพิษ PM 2.5 นั้นอันตรายต่อร่างกายของคนเราเป็นอย่างมาก แพทย์ด้านกุมารเวช จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เคยให้ข้อมูลถึงผลกระทบต่อฝุ่น PM 2.5 ที่มีผลต่อเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี หรือเด็กนักเรียนในชั้นอนุบาล เพราะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเด็กในวัยนี้เป็นวัยที่ระบบทางเดินหายใจและระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาได้ไม่ดี เช่น หลอดลมต่าง ๆ ที่ทำให้ฝุ่นละอองเข้าไปถึงปอดอย่างรวดเร็วและง่ายกว่าผู้ใหญ่
ซึ่งหากเด็กได้รับฝุ่นในระยะเฉียบพลัน ก็จะเกิดอาการแน่นจมูก แสบตา ตาแดง หรือเป็นไข้ได้ ส่วนเด็กที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว อาทิ โรคหอบหืด หรือโรคภูมิแพ้ อาจเกิดอาการกำเริบได้ เช่น ภูมิแพ้กำเริบ หายใจเร็ว แน่นหน้าอก ขณะที่มีผู้ที่อยู่ในกลุ่มติดเชื้อง่าย อาจมีการติดเชื้อที่รุนแรงมากกว่าปกติ ส่วนในระยะยาวของระบบทางเดินหายใจ ก็อาจทำให้ความแข็งแรงของปอดลดลง บางรายอาจเสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้ หรือมะเร็งปอดได้
นอกจากนี้ หากเด็กเล็กมีการสะสมฝุ่นพิษเข้าไปมาก ๆ ก็อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบหลอดเลือดและหัวใจ รวมถึงการพัฒนาทางสมอง สติปัญญา และสมาธิด้วย เนื่องจากฝุ่นพิษสามารถถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด เข้าไปสู่บริเวณระบบประสาทและสมอง กระตุ้นให้เกิดการอักเสบบริเวณเซลล์ต่าง ๆ ทำให้การทำงานของเซลล์นั้นผิดปกติ จนส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองหรือสมาธิของเด็กนั่นเอง
แพทย์ด้านกุมารเวช จึงแนะนำว่าคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกอยู่แต่ในบ้าน และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากมีความจำเป็นต้องเดินทางออกจากบ้าน แนะนำให้สวมหน้ากากที่ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ และหากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการติดเชื้อ เช่น ไอ หายใจเร็ว แน่นหน้าอก มีไข้ หรือกรณีที่มีความรุนแรงโดยอาจมีช่องตรงซี่โครงบุ๋ม ควรพาลูกออกจากพื้นที่ที่มีฝุ่น และพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อทำการรักษา
บทความที่เกี่ยวข้อง : รู้หรือไม่? มลพิษทางอากาศ และ ฝุ่น PM 2.5 เข้าปอดลูกได้แม้อยู่ในครรภ์แม่
แนวทางการป้องกันลูกจากฝุ่นร้าย PM 2.5
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำวิธีป้องกันอันตรายจากฝุ่นร้ายและแนวทางการหลีกเลี่ยงอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 จากเด็กเล็กไว้ดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการพาลูกออกไปกิจกรรมนอกบ้าน และไม่พาลูกไปยังพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นพิษในปริมาณที่สูงกว่าระดับมาตรฐาน
- เมื่ออยู่ในบ้าน ควรปิดประตูหน้าต่างให้สนิท และเปิดเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองแบบ HEPA ที่สามารถช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้
- หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านในวันที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ควรสวมหน้ากากอนามัย N95
- ทารกและเด็กเล็กไม่ควรเดินทางออกจากบ้านเมื่อพบว่ามีค่าฝุ่นที่สูงเกินมาตรฐาน
- เด็กที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ
- ล้างจมูกให้ลูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ เพื่อช่วยให้ลูกหายใจสะดวกมากขึ้น
- เช็ดทำความสะอาดบ้านและเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ด้วยผ้าชุบน้ำบิดหมาดเป็นประจำ เพื่อช่วยลดการสะสมของปริมาณฝุ่นภายในบ้าน
- ปลูกต้นไม้ใหญ่รอบบ้าน และวางกระถางต้นไม้ฟอกอากาศ เช่น กวักมรกต เฟิร์น ลิ้นมังกร ว่านหางจระเข้ ไว้ภายในบ้าน เพื่อช่วยกรองสารพิษและฟอกอากาศให้สดชื่น
- หากพบว่าลูกมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หรือมีผื่นคันตามร่างกาย ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที
ฝุ่นพิษ PM 2.5 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และอย่าลืมเสริมภูมิต้านทานให้ลูกด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย และอย่าลืมหมั่นสังเกตลูก หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรพาลูกไปพบแพทย์โดยทันทีเพื่อตรวจร่างกาย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เคล็ดลับ! วิธีทำความสะอาดพรม บอกลาปัญหาฝุ่นละออง!
ว่าด้วยเรื่อง ลูกเป็นภูมิแพ้ กับ ฝุ่น PM2.5 อันตรายใกล้ตัว ที่พ่อแม่ต้องระวัง
คนท้องโดนฝุ่น PM2.5 ส่งผลต่อการคลอดไหม เสี่ยงคลอดก่อนกำหนดหรือเปล่า ?
ที่มา : thaipbs.or.th, theactive.net, th.mamypoko.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!