หลายคนอาจทราบดีแล้วว่า PM 2.5 คือ ฝุ่นอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ เช่น การเผาไหม้ของรถยนต์ การเผาสิ่งปฏิกูล การเผาในพื้นที่เกษตร ควันบุหรี่หรือควันธูป รวมถึงฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง เป็นต้น เนื่องจากอนุภาคของฝุ่นที่มีขนาดเล็กมาก จึงทำให้สามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้ง่ายผ่านระบบทางเดินหายใจ และสามารถเข้าไปลึกถึงปลายสุดของถุงลมในปอด ส่งผลให้ฝุ่นจิ๋วเหล่านี้เข้าไปรบกวนและทำลายการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ก่อให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินหายใจ สร้างความเสียหายต่อสุขภาพได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และเด็กที่เป็นภูมิแพ้หรือเป็นโรคหอบหืด ซึ่งร่างกายจะไวต่อการกระตุ้น และอาการจะแย่ลงอย่างรวดเร็วและง่ายกว่าคนทั่วไป
ผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพของเด็ก โดยคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นภูมิแพ้ ควรใส่ใจ??
เมื่อร่างกายของลูกได้รับฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 สะสมอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลเสียต่อร่างกายและพัฒนาการของลูกหลายด้าน ดังนี้
- ฝุ่นจะกระตุ้นให้เด็กมีความเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้และหอบหืดได้มากกว่าปกติ หรือหากลูกเป็นภูมิแพ้ทางเดินหายใจอยู่แล้ว เมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรงและรวดเร็วกว่าคนทั่วไป เช่น แน่นหน้าอก แสบตา น้ำตาไหล ตาแดง หายใจเร็วเฉียบพลัน ไอบ่อย หายใจลำบาก และอาจมีเลือดกำเดาออกได้
- เสี่ยงเกิดภาวะโรคผื่นผิวหนัง เนื่องจากผิวหนังของเด็กมีความบอบบางและไวต่อสารก่อภูมิแพ้ และเมื่อได้สัมผัสกับฝุ่นจิ๋วอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติ มีอาการคัน และเกิดผื่นแดงได้
- ฝุ่นจิ๋วทำให้สมรรถภาพปอดของเด็กลดลง เกิดอาการหายใจไม่ทั่วท้อง และในระยะยาวจะก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบ และอาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นโรคมะเร็งปอดได้ในอนาคต
- ร่างกายของเด็กสามารถดูดซึมฝุ่นเข้าไปในกระแสเลือด และแทรกซึมเข้าสู่ระบบประสาทและสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองผิดปกติและถูกทำลาย ทำให้เสี่ยงมีพัฒนาการช้า มีปัญหาการพูดและการฟัง และอาจเป็นโรคสมาธิสั้นได้
แนวทางดูแลสุขภาพของลูกให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 และป้องกันผลกระทบจากอาการ ลูกเป็นภูมิแพ้
- ในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูงกว่าค่ามาตรฐาน ควรให้เด็ก ๆ งดทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิด
- ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าบ้าน
- ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีคุณสมบัติกรองอณูฝุ่น PM 2.5 ได้
- ฝึกให้ลูกใส่หน้ากากอนามัย N95 ขณะออกจากบ้าน ฝึกบ่อย ๆ จนเกิดความเคยชิน
- หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัย N95 อย่างถูกวิธีโดยที่แนบปากและจมูกอย่างมิดชิด
- สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคหอบหืด ควรทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอาการกำเริบ และช่วยลดความรุนแรงของโรคให้ได้มากที่สุด
ป้องกัน ลูกเป็นภูมิแพ้ ตั้งแต่แรกเริ่มด้วย “นมแม่” ที่มีสารอาหารสำคัญหลายชนิด
นอกเหนือจากแนวทางป้องกันข้างต้นแล้ว คุณแม่ยังสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงไม่ให้ลูกเป็นภูมิแพ้ตั้งแต่แรกเริ่ม ด้วยการดูแลให้ลูกได้รับโภชนาการที่ดีที่สุดสำหรับทารก นั่นคือ “นมแม่” เพราะนมแม่นอกจากประกอบไปด้วยสารอาหารมากกว่า 200 ชนิดแล้ว โปรตีนในนมแม่บางส่วนมี PHP หรือ Partially Hydrolyzed Proteins และ 2’FL ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญ ที่มีงานวิจัยพบว่า ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภูมิแพ้ได้
อย่างที่กล่าวไปคือ โปรตีนในนมแม่บางส่วนมี PHP หรือ Partially Hydrolyzed Proteins ซึ่งเป็นโปรตีนที่ถูกย่อยให้มีขนาดเล็กลงด้วยเอ็นไซม์ตามธรรมชาติ ทำให้ลูกสามารถย่อยได้ง่าย และดูดซึมได้ดีกว่าโปรตีนทั่วไป และส่งผลดีต่อเด็กในช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งเยื่อบุทางเดินอาหารยังไม่แข็งแรง ระบบการย่อยยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น การดูแลให้ลูกได้รับคุณค่าทางโภชนาการจาก นมแม่ซึ่งมีสารอาหารหลากหลาย รวมทั้ง โปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วนนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันโรคภูมิแพ้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ในน้ำนมแม่ยังมี 2’FL หรือโอลิโกแซ็กคาไรด์ที่เป็นพรีไบโอติกชนิดที่พบมากที่สุดในนมแม่ และโพรไบโอติกส์อีกหลายสายพันธุ์ เช่น บิฟิดัส บีแอล ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ได้เป็นอย่างดี
เพราะฉะนั้นควรให้นมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และให้ต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัย ไปจนถึงลูกอายุ 2 ขวบ หรือนานกว่า หรือหากมีความจำเป็นด้านสุขภาพทำให้ไม่สามารถให้ลูกทานนมแม่ได้ ก็สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำสำหรับโภชนาการในเด็ก สำหรับการเสริมสร้างความแข็งแรงและภูมิคุ้มกันลูกให้ดีตั้งแต่วัยแรกเริ่ม เปรียบเสมือนการสร้างเกราะคุ้มกันที่แข็งแกร่งให้กับลูกในอนาคต และลดโอกาสเกิดภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ รวมทั้งลดความเสี่ยงการได้รับผลกระทบทางร่างกายที่รุนแรงที่มาจากฝุ่น PM 2.5 อีกด้วย
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันโรคภูมิแพ้ในเด็กเพิ่มเติม สามารถอ่านข้อมูลต่าง ๆ ได้ ที่นี่
เอกสารอ้างอิง
- https://www.paolohospital.com/th-TH/kaset/Article/Details/Last/PM-2-5-%E0%B8%9D%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8
- https://www.chula.ac.th/wp-content/uploads/2019/10/Chula-PM25.pdf
- https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/pm2_5%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81
- https://www.phyathai.com/article_detail/2923/th/%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9D%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99_PM_2.5_%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8
- Dallas DC, et al. J Mammary Gland Biol Neoplasia. 2015 Dec;20(3-4):133-47.
- Dallas DC, et al. J Nutr. 2014 Jun;144(6):815-20
- Gueimonde M, et al. Neonatology 2007;92:64–66 .
- Sprenger N, et al. Eur J Nutr (2017) 56:1293–1301
- Floch MH, et al. J Clin Gastroenterol 2015;49:s69-s73
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!