ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ คำถามที่ตามมาก็คือ การฝากครรภ์ ต้องไปฝากครรภ์เมื่อไหร่ ฝากครรภ์ที่ไหนดี โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน ฝากครรภ์ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ขั้นตอนการฝากครรภ์ มีอะไรบ้าง ฝากครรภ์ครั้งแรกหมอตรวจอะไรบ้าง ไปฝากครรภ์ ถามอะไรคุณหมอดี เราไปหาคำตอบกันเลย
การฝากครรภ์ คืออะไร?
สำหรับแม่ๆ น่าจะรู้กันดีอยู่แล้วว่าการฝากคุณคืออะไร แต่สำหรับคุณแม่มือใหม่ก็อาจจะยังไม่รู้แน่ชัดว่าการฝากครรภ์นั่นคืออะไร การฝากครรภ์ (Antenatal care) คือ การที่เราไปพบคุณหมอที่ดูแลเฉพาะด้านในเรื่องของการตั้งครรภ์ โดยจะเริ่มดูแลตั้งแต่เริ่มการตั้งครรภ์ไปจนถึงการคลอดบุตรออกมา ซึ่งการฝากครรภ์นี้คุณหมอจะต้องมีการซักประวัติและคอยตรวจร่างกาย เฝ้าดูอาการหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นทั้งต่อคุณแม่และลูกในท้อง ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพภาพทางด้านร่างกาย ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านของอารมณ์ เป็นต้น นอกจากถึงคุณหมอก็จะมีการนัดตรวจสุขภาพของคุณแม่อยู่เรื่อย ๆ คอยดูวิวัฒนาการของลูกในท้อง พร้อมทั้งให้คำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ ให้กับคุณแม่ เพื่อที่คุณแม่จะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องและไม่มีพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตรายต่อลูกในท้องตามไปด้วย
ทำไมถึงต้องฝากครรภ์ ?
การฝากครรภ์เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ สำหรับคนที่กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังคิดที่จะมีลูก เพราะแน่นอนว่าเมื่อไหร่ที่เรามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น เราก็จะไม่ใช่ตัวคนเดียวอีกต่อไป และส่วนต่าง ๆ ในร่างกายของเราก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น และไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนทางด้านของจิตใจตามไปด้วย ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องมาฝากครรภ์ เพื่อที่ลูกของเราจะได้รู้จักวิธีการรับมือและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องในขณะตั้งครรภ์ แต่เมื่อไหร่ที่เรารู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ แต่ก็ไม่ยอมมาฝากครรภ์หรือไม่ได้อยู่ในความดูแลของคุณหมอสิ่งนี้ก็อาจจะทำให้ลูกในท้องของเราเสี่ยงและเป็นอันตรายเอาได้ง่าย ๆ เพราะเราจะไม่รู้วิธีการรับมือและอาจมีพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลอันตรายต่อลูกในท้องได้เลย
บทความที่เกี่ยวข้อง : 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 34 ฝากครรภ์ใช้สิทธิ์ใดได้บ้าง 30 บาท/ปกส/ข้าราชการ
ถ้าจะถามว่า ฝากครรภ์ที่ไหนที่ดีที่สุด ฝากครรภ์ที่ไหนดี แนะนำว่าให้คุณแม่ฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลที่ใกล้และสะดวกที่สุด อาจจะเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน หรือใกล้ที่ทำงาน เพราะถ้าหากว่ามีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น จะได้ไปโรงพยาบาลได้สะดวกและรวดเร็วที่สุด และหากเป็นสถานพยาบาลที่คุณแม่มีประวัติการรักษาโรคประจำตัวมาก่อนยิ่งดีใหญ่ เพราะคุณหมอจะมีประวัติว่าคุณแม่เคยเป็นโรคอะไร ใช้ยาอะไร และจะมีผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์หรือไม่ ส่วนคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาก่อนแล้วอาจจะฝากครรภ์กับคุณหมอสูติที่คุ้นเคยก็ได้ครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง : การฝากครรภ์มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
ฝากครรภ์ โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนดี
สำหรับการฝากครรภ์นั้น คุณแม่จะเลือกโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชน ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละท่าน แต่โดยรวมแล้วขีดความสามารถของโรงพยาบาลรัฐกับเอกชนก็ไม่ได้ต่างกันมากเท่าใดครับ
แต่สิ่งที่จะแตกต่างกันบ้างก็คือ การฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลรัฐอาจทำให้คุณแม่ต้องรอตรวจนานกว่าปกติ เนื่องจากมีผู้ไปรับบริการเป็นจำนวนมาก คุณหมอที่ตรวจก็อาจจะผลัดเปลี่ยนกันไป ไม่ใช่หมอคุณคนเดิม แต่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลไปนะครับ เพราะประวัติการตรวจรักษาในแต่ละครั้งได้ถูกจดบันทึกไว้อย่างละเอียดแล้ว ส่วนข้อดีของการฝากครรภ์ในโรงพยาบาลของรัฐก็คือ จะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงมากนัก
สำหรับบางคุณแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลา หรือไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย การไปตรวจหรือฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้านก็เป็นทางเลือกที่ดี สามารถพบกับคุณหมอคนเดิมทุกครั้ง เพียงแต่จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งคุณแม่ก็ต้องเลือกระหว่างการเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อแลกกับความสะดวกสบาย หรือจะประหยัดค่าใช้จ่าย แต่อาจจะต้องใช้เวลารอคิวนานหน่อย เพื่อไปตรวจหรือไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลรัฐ
ฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี
ทันทีที่รู้ว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ คุณแม่ควรไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปเป็นอันขาด เพราะถ้าคุณแม่เกิดมีโรคแทรกซ้อนขึ้นมาในระหว่างนี้ก็อาจจะสายเกินแก้ จนอาจถึงขั้นสูญเสียลูกในท้องได้
การฝากครรภ์ ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
- บัตรประชาชน เผื่อไว้สำหรับทำประวัติที่โรงพยาบาล
- ประวัติการเจ็บป่วย การแพ้ยา การคลอดลูก โรคประจำตัว
- ข้อมูลการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย
ฝากครรภ์ครั้งแรกหมอตรวจอะไรบ้าง ขั้นตอนการฝากครรภ์
เมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรก คุณหมอจะซักประวัติคุณแม่ เช่น
- ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ มาสม่ำเสมอหรือไม่
- ก่อนตั้งครรภ์คุมกำเนิดด้วยวิธีใดหรือไม่
- เคยมีโรคหรืออาการผิดปกติอะไรบ้าง
- เคยมีการแพ้ยาหรือไม่ หากคุณแม่กำลังใช้ยาบางตัวอยู่ ก็ควรบอกคุณหมอด้วย
- ประวัติความเจ็บป่วยของคนในครอบครัวที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคเลือด การมีลูกแฝด เป็นต้น
หลังจากซักประวัติคุณหมอจะทำการตรวจร่างกาย ดังนี้
- ชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูง หากคุณแม่สูงน้อยกว่า 145 เซนติเมตรมักจะมีเชิงกรานเล็ก ขนาดของลูกในครรภ์กับช่องเชิงกรานไม่ได้สัดส่วน ทำให้คลอดเองลำบาก มีโอกาสผ่าคลอดสูง
การวัดส่วนสูงเทียบกับน้ำหนัก เพื่อให้ทราบว่าน้ำหนักตัวอยู่ในค่ามาตรฐานหรือไม่ และต้องชั่งน้ำหนักทุกครั้ง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงว่าน้ำหนักเพิ่มมากน้อยเกินไปหรือไม่ ผิดปกติหรือไม่
- ตรวจปัสสาวะ หากคุณแม่มีน้ำตาลในปัสสาวะมาก อาจแสดงถึงโรคเบาหวาน ต้องทำการเจาะเลือดเพื่อหาเบาหวานต่อไป
- วัดความดันโลหิต หากความดันโลหิตสูงผิดปกติ อาจเป็นจุดเริ่มแรกของครรภ์เป็นพิษ แต่หากความดันโลหิตต่ำมักไม่ค่อยมีปัญหาอะไร
- ตรวจฟัน หากคุณแม่มีฟันผุต้องรีบอุด เพื่อไม่ให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจจะส่งผลให้อวัยวะอื่น ๆ อักเสบตามไปด้วย
- ตรวจต่อมไทรอยด์ โดยทั่วไป หญิงตั้งครรภ์ปกติจะมีต่อมไทรอยด์โตเล็กน้อย หากโตมาก ต่อมไทรอยด์อาจเป็นพิษได้
- ฟังเสียงหัวใจและปอด หากพบสิ่งผิดปกติ คุณหมออาจให้การรักษาหรือปรึกษาแพทย์เฉพาะทางต่อไป
- ตรวจครรภ์ เพื่อดูว่าขนาด หรือระดับมดลูกสัมพันธ์กับอายุครรภ์หรือไม่ มีก้อนเนื้อผิดปกติในท้องหรือไม่
หากไม่มีความผิดปกติ คุณหมอก็จะให้ยาบำรุง ได้แก่ วิตามินบีรวม และธาตุเหล็กมาบำรุงคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
- ตรวจขา เพื่อดูเส้นเลือดขอด ซึ่งทำให้เลือดไหลกลับไปหัวใจไม่สะดวก หากเป็นมากเส้นเลือดอาจอุดตัน ทำให้ขาบวม หรืออาจเป็นอันตรายหากก้อนเลือดที่อุดตันหลุดเข้าไปในกระแสเลือด
- ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ เจาะเลือดเพื่อหาว่าเลือดจางหรือไม่ ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส โรคเอดส์ โรคตับอักเสบไวรัสบี ภูมิต้านทานหัดเยอรมัน
การตรวจนี้โรงพยาบาลบางแห่งอาจตรวจให้ในครั้งแรก แล้วนัดไปตรวจท้อง รวมถึงดูผลตรวจเลือดและปัสสาวะอีกครั้งใน 1-2 สัปดาห์ บางแห่งก็ตรวจท้องก่อน แล้วจึงเจาะเลือดและตรวจปัสสาวะ โดยจะนัดฟังผลใน 1-2 สัปดาห์ เช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ไปฝากครรภ์คนเดียว ได้มั๊ย? ไม่มีคนไปด้วย ไปคนเดียวเขาจะยอมรึเปล่า?
สมุดฝากครรภ์ คืออะไร?
หลังจากที่คุณหมอทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายของคุณแม่อย่างละเอียดแล้ว ผลการตรวจก็จะถูกบันทึกลงในสมุดฝากครรภ์ หรือใบฝากครรภ์ ซึ่งคุณแม่ควรนำบัตรนี้ติดตัวไปด้วยเสมอ เมื่อต้องเดินทางไปไหนมาไหน แล้วเกิดภาวะฉุกเฉิน คุณหมอจะได้ดูแลรักษาได้ถูกต้อง ตามข้อมูลที่บันทึกไว้ในสมุดฝากครรภ์
ไปฝากครรภ์ ถามอะไรคุณหมอดี
คุณแม่ควรเตรียมจดคำถามที่สงสัย หรือสิ่งที่เป็นกังวลว่าจะปฏิบัติตัวไม่ถูกไปถามคุณหมอด้วย โดยสิ่งที่คุณแม่ควรจะถามหมอเมื่อไปฝากครรภ์ เช่น
- วันครบกำหนดคลอดคือเมื่อไหร่ ?
- ควรกินอะไร หรือห้ามกินอะไรเป็นพิเศษ ?
- สามารถออกกำลังกายแบบใดได้บ้าง จำเป็นต้องออกกำลังกายหรือไม่ และควรเริ่มออกกำลังกายได้เมื่อไหร่ ?
- ต้องเสริมกรดโฟลิกอย่างไร ?
- ยาชนิดใดเป็นอันตรายต่อลูกบ้าง ยาที่รับประทานอยู่มีผลต่อลูกในครรภ์หรือเปล่า ?
- สิ่งที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงในระหว่างการตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง ?
- จะต้องมาตรวจครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อไหร่ ?
- จะต้องตรวจอะไรบ้าง ?
- ต้องตรวจอัลตราซาวนด์หรือไม่ ?
- สิทธิที่คุณแม่ควรได้รับหรือสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ เช่น ค่าลดหย่อนในการตรวจครรภ์ การออกใบรับรองแพทย์เพื่อหยุดพักงาน เป็นต้น
- มีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ หรือมีเพศสัมพันธ์อย่างไรให้ปลอดภัย ? ไม่ต้องอายนะครับ สามารถสอบถามคุณหมอได้เลย
- จะคลอดเองได้หรือไม่ ? หรือควรเลือกวิธีผ่าคลอด ?
นอกจากคำถามที่ควรถามคุณหมอแล้ว สิ่งที่คุณแม่ควรจะเตรียมก็คือประวัติทั่วไปเกี่ยวกับตัวคุณแม่ เพื่อจะช่วยทำให้การตรวจเป็นไปได้ง่ายและถูกต้องมากยิ่งขึ้น เช่น
- สุขภาพโดยทั่วไปของคุณแม่ สภาพแวดล้อม และการดำเนินชีวิตของคุณแม่เป็นอย่างไร
- ประจำเดือนครั้งสุดท้ายมาเมื่อไหร่ สม่ำเสมอหรือไม่ รวมถึงประวัติการคุมกำเนิด ว่าคุมกำเนิดด้วยวิธีใด คุมกำเนิดมานานเท่าไรแล้ว เป็นต้น
- อาการแพ้ท้องหากคุณแม่มีอาการแพ้ท้อง ควรเล่าให้คุณหมอฟังด้วยว่ามีอาการมากน้อยเพียงใด
- ประวัติการตั้งครรภ์และการคลอด
- ประวัติความเจ็บป่วยของคุณแม่และคนในครอบครัว
- ประวัติการฉีดวัคซีน
- ประวัติการใช้ยา
- ประวัติการแพ้ยา
- ประวัติอุบัติเหตุ
- ประวัติการผ่าตัด
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีเลือก รพ. ก่อนฝากครรภ์ ต้องเลือกอย่างไรถึงจะดีและวิธีการเตรียมเอกสาร
การนัดตรวจครรภ์ครั้งถัดไป
หลังจากที่ฝากครรภ์ครั้งแรกแล้ว คุณหมอก็จะนัดมาตรวจครรภ์ครั้งถัดไป ซึ่งจะนัดถี่ หรือห่างมากน้อยเพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับระยะครรภ์ และโรค หรือความผิดปกติที่ตรวจพบ ซึ่งโดยปกติแล้วในช่วง 7 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณหมอจะนัดให้คุณแม่มาตรวจครรภ์เดือนละ 1 ครั้ง และเมื่อย่างเข้าสู่เดือนที่ 8 คุณหมอก็จะนัดตรวจครรภ์ถี่ขึ้นเป็นทุก ๆ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และจะเพิ่มเป็นทุก ๆ 1 สัปดาห์ในช่วงเดือนที่ 9 หรือช่วง 1 เดือนก่อนคลอด
แต่สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด ซึ่งในระหว่างการตั้งครรภ์จะมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า คุณหมอจะนัดให้มาตรวจถี่ขึ้นกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ตามปกติ
และหากคุณแม่ไม่สามารถไปตรวจตามที่หมอนัดได้ ก็ควรรีบไปพบคุณหมอในวันที่ว่างโดยทันที อย่ารอให้เลยวันนัดเป็นเดือน ๆ เพราะในระหว่างนี้ หากคุณแม่เกิดมีโรคแทรกซ้อนขึ้นมาก็อาจจะสายเกินแก้ จนเป็นอันตรายต่อลูกในท้องได้ครับ
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ในกทม
คุณแม่ท่านไหนที่กำลังมีความกังวล หรือ กำลังหาข้อมูลอยู่ว่าจะฝากครรภ์ที่ไหนดี ในฝั่ง กทม ฝั่งธน หรือ บางนา ทางเรามีบทความเพิ่มเติม ที่คุณแม่สามารถนำไปศึกษา และ ตัดสินใจได้ค่ะ เพราะเรารวบรวม ข้อมูลเรื่องราคาแพ็คเกจมาให้ที่นี่แล้วค่ะ
สำหรับคุณแม่คนไหนที่กำลังตั้งครรภ์ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะฝากครรภ์ที่ไหนดี หรือกำลังมองหาโรงพยาบาลก็สามารถเข้ามาดูกันได้ เพราะแน่นอนว่าการเราจะฝากครรภ์ทั้งที เราก็อยากจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกเรานั่นเอง
1. Bangkok Hospital โรงพยาบาลกรุงเทพ
ฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ มั่นใจในทุกขั้นตอนของการตั้งครรภ์ ด้วยสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลคุณแม่ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จนถึงหลังคลอด ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย เทคโนโลยีทันสมัย ตรวจสุขภาพและติดตามภาวะการตั้งครรภ์อย่างละเอียด เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อย ทีมบุคลากรที่พร้อมดูแล ให้คำแนะนำและสอนเทคนิคการดูแลตัวเองในแต่ละช่วงของการตั้งครรภ์อบรมครรภ์คุณภาพ เรียนรู้ความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การคลอด และการดูแลลูกน้อยจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คุณแม่และคุณพ่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นพ่อแม่มือใหม่ได้อย่างมั่นใจ
ที่ตั้ง : 2 ซ.ศูนย์วิจัย 7 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม :
2. Bumrungrad Hospital โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อโรงพยาบาลนี้กันมาบ้างแล้ว โรงพยาบาลนี้เรียกได้ว่าเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในเอเชียที่ได้รับการรับรองในเรื่องของคุณภาพถึงระดับโลกกันเลยทีเดียว เป็นโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ มากด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกว่า 1,200 ท่าน เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่คุณแม่หลายคนให้ความไว้วางใจและมาฝากครรภ์ที่แห่งนี้นั่นเอง ที่สำคัญโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ฯ ยังได้มีความมุ่งหมายในการบบริการด้านการแพทย์ตามมาตรฐานสากล ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้
- ให้การบริการอย่างมีคุณภาพและมีความเป็นมืออาชีพ
- สร้างความพึงพอใจแก่ผู้ป่วยในด้านการดูแลรักษาพยาบาลและการบริการ
- สร้างความพึงพอใจแก่พนักงานผู้ให้บริการ
- พัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง
สำหรับคุณแม่คนไหนที่ยังไม่รู้ว่าจะฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลไหนดี ที่นี่พร้อมอำนวยความสะดวกให้คุณแม่ได้เลย
ที่ตั้ง : 33 ซอย สุขุมวิท 3 แขวง คลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม :
3. โรงพยาบาลพญาไท 2
โรงพยาบาลแห่งนี้เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่ได้รับการรองรับการประกันคุณภาพและความพึงพอใจของคนที่มาใช้บริการเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมากด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย พร้อมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ สำหรับใครที่กังวลไม่รู้จะฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลไหนดี เพื่อที่เราจะได้สบายใจในทุกช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ บอกเลยว่าที่นี่ก็สนใจและน่าเชื่อถือไม่แพ้ที่อื่น ๆ หรือถ้าคุณแม่คุณไหนที่อยากสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจก็สามารถสอบถามเข้ามาก่อนได้
ที่ตั้ง : 943 ถ. พหลโยธิน แขวง สามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม :
4. Paolo Hospital โรงพยาบาลเปาโล
คุณแม่หลายคนน่าจะพอรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อโรงพยาบาลนี้กันมาบ้าง เพราะเป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่ถือได้ว่ามีครบวงจรมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือความเชี่ยวชาญของแพทย์ ต้องบอกว่าเป็นโรงพยาบาลที่ใส่ใจและดูแลคนที่มาใช้บริการได้ดีมาก ๆ เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ใครที่มาใช้บริการที่แห่งนี้ ที่นี่พร้อมดูแลเอาใส่ใจและรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิดนั่นเอง ถ้าคุณแม่คนไหนยังติดสินใจไม่ได้หรืออยากทราบข้อมูลอะไรเพิ่มเติมก็สามารถสอบถามรายละเอียดก่อนมาใช้บริการได้เช่นกัน
ที่ตั้ง : 670, 1 ถ. พหลโยธิน แขวง สามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม :
5. Vejthani Hospital โรงพยาบาลเวชธานี
โรงพยาบาลอีกหนึ่งที่ที่คนส่วนใหญ่แนะนำและให้ความนิยมกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ด้วยสถานที่ตั้งที่เหมาะแก่การเดินทาง ประกอบกับความเชี่ยวชาญของแพทย์และพยาบาลที่มากฝีมือ และอุปกรณ์ที่ทันสมัยจึงไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่ก็ไว้วางใจโรงพยาบาลแห่งนี้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาระหว่างการตั้งครรภ์ หรือช่วงเวลาใกล้คลอด ถ้าเราเกิดความกังวลใจหรือไม่สบายใจอะไร ที่นี่พร้อมให้คำปรึกษาคุณแม่ได้ตลอดเวลา เอาเป็นว่าใครที่ไม่รู้ว่าจะฝากครรภ์ที่ไหนดี ที่นี่ตอบโจทย์แน่นอน
ที่ตั้ง : 1 ซอย ลาดพร้าว 111 แขวง คลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม :
- เบอร์โทร : 02-734 – 0000 ต่อ 3200 Hot line 091-770-6001
- เว็บไซต์ : www.vejthani.com
- facebook : Vejthani.Hospital
6. Samitivej Hospital โรงพยาบาลสมิติเวช
มากันที่โรงพยาบาลแห่งนี้กันบ้าง เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่คุณแม่หลายคนให้ความสนใจไม่แพ้ที่อื่น ๆ ด้วยความเชี่ยวชาญของแพทย์และพยาบาลที่มากด้วยประสบการณ์และฝีมือ ประกอบกับอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย จึงไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่จะให้ความไว้วางใจกันเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นใครที่กำลังกังเลใจอยู่และยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะฝากครรภ์ที่ไหนดี ที่นี่อาจเป็นอีกหนึ่งที่ที่จะทำให้เราหลายกังวลใจได้
ที่ตั้ง : 133 ซอย สุขุมวิท 49 แขวง คลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม :
อ่านประสบการณ์จริงของคุณแม่ที่เคยฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเดอะซีพลัส
โรงพยาบาลเดอะซีพลัส เทียบกับค่าคลอดโรงพยาบาลสมุทรปราการ ดีไหมคะ หรือมีใครแนะนำ ฝากครรภ์ที่ไหนดี
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
รวมแพ็กเกจฝากครรภ์ปี 2565 จำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องฝากครรภ์?
ไปฝากครรภ์คนเดียว ได้มั๊ย? ไม่มีคนไปด้วย ไปคนเดียวเขาจะยอมรึเปล่า?
ฝากครรภ์พิเศษ ต่างจาก ฝากครรภ์ธรรมดาอย่างไร ฝากครรภ์ต้องตรวจอะไรบ้าง
ที่มา : medthai, stcarlos,bangkokpattayahospital
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!