ทำไมต้องให้ลูกเรอทุกครั้งหลังกินนม ถ้าลูกไม่เรออันตรายไหม

คุณแม่เคยสงสัยไหมว่า ทำไมต้องให้ลูกเรอทุกครั้งหลังกินนม ถ้าไม่เรอจะเป็นอะไรไหม ควรจับลูกเรอตอนไหนบ้าง วิธีทําให้ลูกเรอง่าย ๆ ทำอย่างไร ถ้าลูกสะอึก ต้องทำอย่างไร วันนี้ทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์มีข้อมูลดี ๆ มาฝาก
ทำไมต้องให้ลูกเรอทุกครั้งหลังกินนม
คุณแม่ให้นมหลายท่าน อาจจะเกิดความสงสัยว่า ทำไมต้องให้ลูกเรอทุกครั้งหลังกินนม ซึ่งสาเหตุที่ต้องให้ลูกเรอทุกครั้งหลังกินนม นั่นก็เป็นเพราะ เมื่อลูกกินนมอิ่มแล้ว ต้องจับลูกเรอ เพื่อเอาลมออกจากกระเพาะ เนื่องจากกระเพาะของลูกน้อยนั้น มีเนื้อที่จำกัด และในขณะลูกดูดนม ลูกก็จะกลืนลมเข้าไปด้วย
เมื่อในกระเพาะลูก มีทั้งนมและลม ก็จะทำให้กระเพาะเล็ก ๆ ของลูกนั้น พื้นที่เต็ม และโป่ง ส่งผลให้นมในกระเพาะถูกบีบให้ไหลย้อนผ่านหูรูดระหว่างกระเพาะอาหาร และหลอดอาหาร ผ่านขึ้นมาทางช่องปาก ทำให้ลูกแหวะนม และการเรอจะช่วยให้ระบบการย่อยในท้องน้อย ๆ ของลูกทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งเป็นการกำจัดลมในท้องเพื่อบรรเทาอาการแน่นท้อง และทำให้ท้องว่าง ซึ่งจะสามารถรับนมเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย
ถ้าลูกไม่เรออันตรายไหม
หากลูกไม่เรอ อาจทำให้ลูกเกิดอาการท้องอืด และลมที่ติดอยู่ในท้องก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการโคลิค หรือที่เราเรียกกันว่าลูกร้องร้อยวัน การจับลูกเรอจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่ไม่ควรมองข้ามนะครับ
ควรจับลูกเรอตอนไหนบ้าง
คุณแม่ควรจับลูกเรอทุกครั้งหลังกินนม หรือตอนเปลี่ยนข้าง เพื่อขับลมออกจากกระเพาะ ทำให้ลูกท้องไม่อืด ลดปัญหาการแหวะนม โดยหากลูกกินนมแม่ ก็อาจจะจับลูกเรอหลังให้นมจากแต่ละเต้าเสร็จ แต่หากลูกกินนมจากขวด ไม่ว่าจะเป็นนมแม่ หรือนมผง คุณแม่ควรให้ลูกเรอ 2 – 3 ครั้งต่อการให้นมในแต่ละมื้อ แต่ถ้าลูกมีลมมากก็อาจจับลูกเรอบ่อยขึ้น นอกจากนี้คุณแม่ยังควรประคองให้ลูกนั่งตรง ๆ หลังกินนม เพื่อป้องกันลูกแหวะนมด้วยนะครับ
วิธีทําให้ลูกเรอง่าย ๆ ทำอย่างไร
วิธีทําให้ลูกเรอง่าย ๆ สามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
1. จับลูกเรอด้วยท่านั่งบนตัก
- จับลูกนั่งบนตัก ใช้มือซ้ายประคองคางของลูกไว้ ให้คางอยู่ระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ โดยมือจะอยู่บริเวณหน้าอกและลิ้นปี่พอดี
- ยกมือยือตัวลูกให้ตรง เพราะถ้าลูกตัวงอจะทำให้เรอไม่สะดวก ให้ตัวลูกเอนไปข้างหน้านิดหน่อย ทำมือขวาห่อเป็นอุ้งเหมือนถ้วย แล้วค่อย ๆ ตบบริเวณเอวเร็ว ๆ หรือ
- เอามือขวาลูบช้า ๆ ที่ด้านหลังตั้งแต่เอวขึ้นมาถึงต้นคอ จะเป็นการไล่ลมขึ้นมาได้
2. อุ้มพาดบ่า
เมื่อลูกกินนมอิ่มแล้วให้เว้นระยะสักพัก แล้วยกตัวลูกขึ้นพาดบ่าให้ตัวตั้ง แล้วลูบหลัง
3. ใช้ผ้าอุ่น ๆ วางที่ท้องลูก
ใช้ผ้าอุ่น ๆ วางที่ท้อง ก็จะช่วยให้เรอและผายลมออกมาได้ครับ
ถ้าลูกสะอึก ต้องทำอย่างไร
อาการสะอึกนั้น เป็นเรื่องปกติของเด็กทารก ประมาณ 4 – 5 เดือนก็จะค่อย ๆ หายไปเอง สาเหตุที่ลูกสะอึก ก็เป็นเพราะกล้ามเนื้อกระบังลมไม่สัมพันธ์กับการหายใจของลูก ถ้าลูกสะอึก ก็สามารถให้ลูกดูดนมแม่ต่อไป ซักพักก็จะหาย ไม่ต้องให้กินน้ำ หรือนมผสมนะครับ แต่หากลูกสะอึกนานเป็นชั่วโมง และมีอาการอาเจียน คุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบคุณหมอเพื่อตรวจอาการต่อไป
ที่มา thaibreastfeeding.org
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
Overfeeding อันตราย!!! จับตา 5 อาการ เมื่อลูกกินนมเยอะเกินไป
แผ่นป้องกันหัวนม คืออะไร ควรใช้หรือไม่ระหว่างให้นมลูก?
วิธีบีบน้ำนมแม่ด้วยมือ แต่ละขั้นตอนทำอย่างไร