ทารกเป็นหวัด ลูกยังเล็กมากจะเป็นอะไรไหม ทำอย่างไรไม่ให้ทารกเป็นหวัด

ทารกเป็นหวัด อาจเป็นเรื่องที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนวิตกกังวล โดยเฉพาะตอนลูกยังเล็ก ทำอย่างไรไม่ให้ทารกเป็นหวัด
ทารกเป็นหวัด เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจ
โดยมากแล้ว ทารกแรกเกิดมักจะไม่ค่อยเป็นหวัด เพราะทารกแรกเกิดจะมีภูมิต้านทานโรคหวัดที่ได้รับผ่านน้ำนมแม่ แต่หลังจากนั้น เมื่อทารกอีอายุได้ 6 เดือนไปแล้ว ภูมิต้านทานโรคหวัดที่ได้จากน้ำนมแม่จะค่อย ๆ ลดลง ประกอบกับการที่ทารกอาจจะต้องออกไปนอกบ้าน และในช่วงนี้ภูมิต้านทานของทารกยังไม่แข็งแรงสมบูรณ์ดีนัก จึงอาจทำให้ ทารกเป็นหวัด ได้
ทำไมลูกเป็นหวัดบ่อย
ผศ.นพ.จักรพันธ์ สุศิวะ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้คำแนะนำเรื่องลูกเป็นไข้หวัดเอาไว้ว่า เด็กแต่ละคนมีโอกาสเป็นไข้หวัดได้บ่อยครั้งแตกต่างกันไป แต่เด็กที่ไม่สบาย เป็นหวัดบ่อย ๆ มักพบในเด็กที่คลอดออกมามีน้ำหนักตัวน้อย หรือคลอดไม่ครบกำหนด และเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ นอกจากนี้ เด็กมักจะเป็นหวัดได้ง่ายในกรณีที่
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคสมองพิการ
- บ้านที่อยู่อาศัยมีความแออัด มีการทำอาหารภายในห้องแคบ ๆ มีฝุ่นควันเยอะ
- ในครอบครัวมีคนที่สูบบุหรี่
นอกจากนี้ปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ลูกเป็นหวัด ได้แก่
- อากาศหนาวเย็นเกินไป หรือร้อนชื้นเกินไป
- ทารกภูมิต้านทานยังไม่แข็งแรงดี
- อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย
- ในเด็กที่ไปโรงเรียนแล้ว อาจติดเชื้อมาจากเด็กด้วยกันในโรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก
ทารกเป็นหวัดระวังโรคแทรกซ้อน
ทารกเป็นหวัด หรือเด็กโตที่เริ่มต้นเป็นหวัด บางครั้งอาจมีอาการที่แสดงถึงโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น
- ไข้เลือดออก
- ไข้หวัดใหญ่
- ไข้หวัดนก
- ปอดบวม
- โรคหัด หัดเยอรมัน
- คางทูม
- โรคไอกรน
- โรคสุกใส

ทารก เป็นหวัด ลูกเป็นหวัด
ทารกเป็นหวัดรับมืออย่างไร
ด้วยความที่เด็กทารกยังไม่สามารถบอกถึงอาการต่าง ๆ ออกมาได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องคอยสังเกตอาการของลูก หากลูกมีน้ำมูก ก็อาจจะต้องช่วยเหลือโดยการใช้ลูกยางดูดน้ำมูก หรือล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ สำหรับวิธีการล้างจมูก หรือดูดน้ำมูกก็สามารถติดตามอ่านได้จากบทความด้านล่างนี้นะครับ
อ่าน >> ดูดน้ำมูก ดูดเสมหะด้วยลูกยางแดง ทำอย่างไร <<
อ่าน >> วิธีล้างจมูกลูก ล้างจมูก ลดน้ำมูก ทารก แม่ทำได้ง่ายลูกไม่สำลัก (มีคลิป) <<
นอกจากนี้ หากลูกอาการไม่ดี ไม่ควรหาซื้อยามาให้ลูกทานเองโดยปราศจากคำแนะนำของคุณหมอหรือเภสัชกรนะครับ ทางที่ดีควรพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจวินิจฉัย แล้วจะได้ทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
เมื่อไหร่ต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์
สำหรับทารกแรกคลอด หรือทารกที่มีอายุน้อยกว่า 2-3 เดือน หากพบอาการของโรคหวัด หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอโดยด่วน เพราะภูมิคุ้นกันของทารกในช่วงนี้ยังไม่แข็งแรงเต็มที่ จึงอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น จากโรคหวัดธรรมดา ไปเป็นโรคซางในเด็กเล็ก โรคปอดอักเสบ หรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ ได้
สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย โดยส่วนมากแล้ว อาการของโรคหวัดธรรมดามักจะหายไปเองภายในไม่เกิน 7-10 วัน แต่หากลูกน้อยมีอาการอื่นๆร่วมด้วย ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอทันที เช่น
- มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
- เด็กจับหูบ่อย ๆ เหมือนมีอาการเจ็บที่หู
- หายใจลำบาก หายใจหอบ หายใจเสียงดัง
- ไอไม่หยุด
- มีน้ำมูกเหนียวข้นสีเขียวออกมาหลายวัน
- ตาเริ่มแดง มีขี้ตาสีเหลืองหรือเขียว
- ซึม
- มีอาการอื่นๆที่คุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าผิดปกติ เช่นร้องไห้ไม่หยุด หรือเสียงร้องดังผิดปกติ
- ไม่ยอมกินนม
- อาเจียนตลอด
ทำอย่างไรไม่ให้ทารกเป็นหวัด
ในปัจุบันยังไม่ทีทางป้องกันโรคหวัดได้ 100% แต่เราก็สามารถลดอัตราเสี่ยงไม่ให้ลูกเป็นหวัดได้โดย
- ให้ลูกกินนมแม่
- ล้างมือทุกครั้งก่อนจับลูก
- ฝึกนิสัยให้ลูกรักความสะอาด
- ให้ลูกนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- ให้ลูกอยู่ห่างจากผู้ที่สูบบุหรี่
อ้างอิง si.mahidol.ac.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทารกไม่ถ่าย ทำไงดี กี่วันถึงเรียกผิดปกติ 3 วัน 5 วัน หรือกี่สัปดาห์