เมื่อลูกน้อยถึงวัยที่เหมาะสมแล้วในการหย่านมจากเต้าของคุณแม่ แต่ลูกน้อยงอแงไม่ยอมกินนมผง ไม่ยอมกินนมแบบอื่น อาจทำให้คุณแม่เกิดความลำบากใจมากขึ้นได้ วันนี้เราจึงจะมาแชร์ เคล็ดลับหย่านมลูก ที่จะช่วยให้คุณแม่ผ่านพ้นปัญหาไปได้ วิธีไหนได้ผล คุณแม่ต้องลอง แต่ถ้าหากทำตามวิธีของเราแล้ว ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ คุณแม่ควรเข้าพบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับคำปรึกษา
10 เคล็ดลับหย่านมลูก แก้ลูกติดเต้าให้ได้ผล
นมแม่นั้น เป็นสารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย โดยเฉพาะในช่วงของวัย 6 เดือนแรก ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องให้ลูกน้อยหย่านม คุณแม่ก็ควรให้นมลูกต่อไปเรื่อย ๆ เพราะมีสารอาหารที่ช่วยทุกพัฒนาการของลูกน้อยให้สมวัยมากขึ้น จนกว่าลูกจะมีอายุได้ประมาณ 2 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ลูกเริ่มกินอาหารอื่นได้มากขึ้นแล้ว ในช่วงนี้ลูกจะดูดนมแม่น้อยลง น้ำนมของคุณแม่เองก็จะค่อย ๆ ลดลงตามไปด้วย เพราะไม่ได้ใช้งาน ส่งผลให้ในที่สุดลูกก็จะสามารถหย่านมได้เองตามธรรมชาติ
แต่สำหรับคุณแม่บางรายอาจพบกับปัญหาลูกไม่ยอมหย่านม ลูกติดเต้ามาก จนทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นปัญหาได้ จนต้องหันมาพึ่ง เคล็ดลับหย่านมลูก ที่จะช่วยให้ลูกเลิกติดเต้าอย่างได้ผลมากขึ้น วิธีที่เรามาแชร์นั้นมีมากถึง 10 วิธี จะมีวิธีอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลย
บทความที่เกี่ยวข้อง : การหย่านมจำเป็นหรือไม่ หากลูกติดเต้าไม่ยอมดูดขวด ทำอย่างไรให้ได้ผล ?
วิดีโอจาก : เด็กทารก Everything Channel
1. หย่านมเมื่อพร้อม
การหย่านมควรทำเมื่อถึงเวลาที่ทั้งแม่ และลูกพร้อม ไม่ควรหย่านมเร็วเกินไป หรือตามความเห็นของคนรอบข้าง ควรวางอายุของลูกไว้ประมาณ 2 ปี หากยังไม่ถึงไม่ควรบังคับให้ลูกหย่านม หรือห้ามเอาเด็กคนอื่นมาเป็นแบบอย่าง หรือตัววัด เนื่องจากเด็กบางคนอาจมีการหย่านมคลาดเคลื่อนตามเวลาที่แตกต่างกัน หากอายุของลูกน้อยเลย 2 ปี ไปช่วงหนึ่ง แล้วลูกยังไม่มีทีท่าว่าจะหย่านม คุณแม่จึงควรกังวล และใช้วิธีเคล็ดลับต่าง ๆ หรือปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำก็ได้เช่นกัน
2. เตรียมการล่วงหน้า
หากช่วงที่ลูกน้อยอายุใกล้ครบ 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีท่าทีของการหย่าเต้าได้เลย คุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ แต่ควรเลือกที่จะเตรียมตัวเอาไว้ก่อน เป็นการวางแผนการหย่านมให้เป็นลำดับขั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป บางครั้งอาจใช้เวลาประมาณ 1 เดือน อาจน้อย หรือมากกว่านั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของเด็กแต่ละคนด้วย ไม่ควรรีบร้อนเกินไป และไม่ควรทำแบบหักดิบ ไม่ผ่านการวางแผน จะทำให้ลูกหย่าเต้าได้ยากขึ้นกว่าเดิม
3. เริ่มลดการให้นม
การทำให้หย่านมจากเต้า วิธีแรก และเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายที่สุด คือ เริ่มให้ลูกปรับตัวจากการที่คุณแม่เริ่มลดนมจากเต้าแม่วันละ 1 มื้อ ทีละสัปดาห์ โดยควรลดมื้อกลางวันก่อนมื้อกลางคืน และเว้นระยะระหว่างมื้อให้นานขึ้นตามลำดับ การทำแบบนี้จะทำให้ลูกน้อยมีเวลาในการที่จะปรับตัวจากช่วงที่ไม่ได้กินนมได้มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากไม่ใช้วิธีนี้อาจทำให้ลูกงอแงกว่าเดิม คุณแม่จึงควรเริ่มจากวิธีนี้ก่อนเลย
4. ให้นมเฉพาะมื้อที่ลูกขอ
หากลูกดูมีท่าทีที่พอจะหย่านมในบางมื้อได้แล้ว และเริ่มมีระยะห่างมากขึ้น ถือว่าเป็นผลลัพธ์ในแง่บวก ซึ่งคุณแม่อาจจะยังให้นมจากเต้าได้อีก แต่ควรให้ในเฉพาะมื้อที่ลูกขอเป็นบางมื้อเท่านั้น และควรให้นมแม่ในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ควรให้นาน เพราะอาจจะทำให้ลูกกลับมาติดอีก การทำแบบนี้จะทำให้ลูกไม่รู้สึกถูกบังคับ และไม่กดดันจนเกินไป อย่างไรก็ตามเป้าหมายคือการหย่านมจากเต้า จึงไม่ควรให้ลูกกินนมจากเต้าไปเรื่อย ๆ อย่างไร้จุดหมาย
5. หัดให้ลูกกินนมจากแก้ว หรือหลอด
อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ลูกหย่านมจากเต้าของคุณแม่ได้ นอกจากการวางแผนในการให้นมจากเต้าน้อยลง ควรทำควบคู่ไปกับการให้ลูกน้อยฝึกกินนมจากภาชนะต่าง ๆ เพื่อให้ลุกรู้ว่าการดื่มนมนั้นสามารถทำได้หลายวิธี โดยทั่วไปจะให้ลูกฝึกดื่มนมจากแก้ว หรือใช้หลอดดื่มก็ได้ ถือเป็นวิธีพื้นฐานที่ควรทำในระหว่างการฝึกลูกหย่าเต้า
6. เลี่ยงกิจกรรมที่ทำประจำ
กิจกรรมบางอย่าง อาจเป็นภาพจำของลูกไปแล้วว่าถ้าทำแบบนี้ ก็จะได้กินนมแม่ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ลูกอยากดูดนมแม่เหล่านั้น เช่น การนั่งเก้าอี้ที่เคยให้นมลูกทุกวัน หรือถ้าหากคุณแม่นอนเตียงเดียวกับลูกตอนกลางคืน ก็อาจจะลองค่อย ๆ นอนแยกกัน เพื่อช่วยไม่ให้ลูกอ้อนดูดนมแม่ตอนกลางคืน เป็นต้น หรืออาจเปลี่ยนมาให้ดื่มนมจากแก้วแทนในกิจกรรมดังกล่าวก็ได้ หากลูกเกิดอาการงอแงไม่ยอม หรือจะใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไปก็ได้เช่นกัน
7. หากิจกรรมอื่นเสริม
เด็กวัย 2 ปีขึ้นไปนั้น ถือเป็นวัยที่กำลังต้องการเรียนรู้อยู่แล้ว หากไม่มีกิจกรรมอื่นให้ทำ ลูกน้อยอาจโฟกัสแค่กับการจะกินนมอย่างเดียว ดังนั้นคุณแม่ควรหากิจกรรมอย่างอื่นให้ลูกทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจเรื่องที่จะดูดนมแม่ เช่น พาไปนอกบ้าน, การเล่นกับเพื่อน, การดูการ์ตูน หรือการเล่านิทานให้ฟัง เป็นต้น หากลูกชอบกิจกรรมอื่น ๆ จะช่วยลดโฟกัสการดูดนมแม่ได้
8. กะหล่ำปลีช่วยลดปวดเต้า
ในช่วงระหว่างหย่านม ไม่ใช่แค่ลูกที่ได้รับผลกระทบ แต่คุณแม่เองก็จะมีอาการปวดเต้าด้วยเช่นกัน อาจจะดูแปลกไปสักหน่อย แต่ก็เป็นวิธีที่ได้ผล โดยที่คุณแม่สามารถใช้ใบกะหล่ำปลีสีเขียว ล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปแช่ในช่องแช่แข็ง ประมาณ 20 – 30 นาที แล้วนำมาประคบเต้านม โดยสวมเสื้อชั้นในทับ หรือใช้ผ้าพันทับไว้ประมาณ 20 นาที เพื่อลดอาการเจ็บและคัดตึงเต้านมที่อาจจะมีอาการในช่วงหย่านมได้
9.ไม่เร่ง
การที่จะให้ลูกน้อยหย่านมนั้น ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรเร่ง คุณแม่ต้องให้เวลากับลูกที่จะปรับตัว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไม่สนใจเช่นกัน หากพัฒนาการหย่านมของลูกไม่ดีขึ้น หรือไม่มีวี่แววว่าจะหย่าได้ ก็ควรปรึกษาแพทย์ แต่ถ้าหากมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ถึงแม้จะช้า แต่ก็ถือว่าคุ้มค่า และควรรอ
10.ความรักและความใกล้ชิด
ความรักความใกล้ชิดก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกหย่านมได้อย่างไม่เจ็บปวด โดยคุณแม่อาจจะเล่นของเล่นกับลูกให้มากขึ้น กอดลูก หรือให้ลูกซุกอกแม่ในขณะที่ให้ลูกดูดนมจากหลอด อีกทั้งการกล่อมหรือเล่านิทานเวลาก่อนนอนก็จะช่วยลดการดูดนมกลางคืนได้ครับ
การแก้ปัญหาลูกติดเต้าเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะต่อไปไม่นานลูกจะต้องเข้าเรียนชั้นอนุบาล ซึ่งแน่นอนว่าคุณแม่คงตามไปอยู่ด้วยไม่ได้ หากคุณแม่ทำถูกวิธี และใจเย็น ๆ คอยสังเกตลูก และปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วย ปัญหานี้ไม่นานก็จะสามารถแก้ได้เอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ท้องแล้วยังให้นมลูกต่อได้ไหม ลูกคนโตยังไม่หย่านม น้องก็มารอในท้องแล้ว
ภาวะซึมเศร้าหลังหย่านม ปัญหาสุขภาพจิตที่คุณแม่ควรเข้าใจ
วิธีป้องกัน หน้าอกหย่อนคล้อย นมยาน หลังลูกน้อยหย่านม
ที่มา : babymed
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!