ไซนัสอักเสบ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับเด็กเมื่อเด็กเป็นภูมิเเพ้ เป็นหวัด หรือมีปัญหาทางการหายใจ ซึ่งอาจทำให้เด็กหายใจได้ไม่สะดวก และบางทีก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างอาการติดเชื้อในสมอง อาการไซนัสอักเสบ สังเกตได้ยังไงบ้าง คุณแม่จะช่วยลูก ๆ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ได้ยังไง ติดตามได้ที่นี่
ไซนัสอักเสบคืออะไร เป็นแบบไหน
อาการไซนัสอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อบริเวณจมูก มีสาเหตุมาจากหวัด โรคภูมิแพ้ โรคฮิบ (Haemophilus Influenzae) โรคหลอดลมติดเชื้อแบคทีเรีย (Moraxella Catarrhalis) หรือโรคติดเชื้อ Streptococcus Pneumonia ซึ่งคนที่เป็นไซนัสอักเสบนั้น มักจะมีอาการ เช่น คัดจมูก น้ำมูกข้นและไหลลงลำคอ ปวดหัว ไอ ปวดรูจมูก มีไข้ สูญเสียความสามารถในการรับกลิ่น เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ คล้ายกับอาการไข้หวัด หรือภาวะสุขภาพอื่น ๆ จึงอาจทำให้สังเกตได้ไม่ง่าย และเป็นเรื่องยากในบางครั้ง ที่จะรู้ได้ว่าเด็กเป็นไซนัสอักเสบหรือไม่
สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีและเป็นไซนัสอักเสบ มักจะคัดจมูกนานกว่า 7-10 วัน มีน้ำมูกสีเขียวหรือเหลือง ไอในช่วงตอนกลางคืน และตาบวม ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย จะมีหวัดหรือคัดจมูกนานเกิน 7 วัน และยังอาจปวดศีรษะ ไอ มีไข้ มีกลิ่นปาก รู้สึกไม่สบายที่บริเวณหน้า เจ็บคอ และตาบวมได้ด้วย นอกจากนี้ เด็กบางคน ก็อาจจะอาเจียน ปวดเบ้าตา หน้าผาก หรือบริเวณข้างจมูกด้วยเช่นกัน
โดยทั่วไป ไซนัสอักเสบแบ่งออกได้ 4 ประเภท ดังนี้
- ไซนัสอักเสบแบบฉับพลัน (ระยะสั้น) จะเกิดขึ้นไม่เกิน 12 สัปดาห์ และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นหากมีการรักษาอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ไซนัสอักเสบชนิดนี้ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างการติดเชื้อในสมองได้
- ไซนัสอักเสบกึ่งฉับพลัน ในช่วงแรกอาการอาจจะยังไม่ดีขึ้น แต่สามารถหายได้หลังจากผ่านไป 4-12 สัปดาห์
- ไซนัสอักเสบชนิดเรื้อรัง (ระยะยาว) เป็นอาการติดเชื้อแบบฉับพลันที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ นานกว่า 12 สัปดาห์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะยังรักษาอาการไซนัสอักเสบครั้งก่อนหน้าได้ไม่ดีพอ
- ไซนัสอักเสบ ที่กลับมาเกิดซ้ำ ๆ เกิดข้ึนเมื่อผู้ป่วยมีอาการไซนัสอักเสบมากกว่า 3 ครั้งใน 1 ปี
อย่างไรก็ตาม อาจมีเด็กบางกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและเป็นไซนัสอักเสบได้ง่าย เช่น เด็กที่มีรูปร่างจมูกผิดปกติ มีฟันติดเชื้อ ได้รับบาดเจ็บที่จมูก มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูก ปากแหว่งเพดานโหว่ มีปัญหาเกี่ยวกับกรดในกระเพาะอาหาร หรือเป็นโรคกรดไหลย้อน เป็นต้น ทั้งนี้ เด็กที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ก็เสี่ยงที่จะเป็นไซนัสอักเสบได้เช่นเดียวกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : รู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยเป็นหวัดVSไซนัสอักเสบ
เด็กที่เป็นไซนัสอักเสบ มักเป็นหวัด คัดจมูก (ภาพโดย jcomp จาก freepik.com)
วิธีดูแลเด็กที่เป็นไซนัสอักเสบเบื้องต้น
หากเด็กเป็นไซนัส แต่ไม่ได้มีอาการรุนแรง คุณแม่อาจช่วยบรรเทาอาการน้อง ๆ ได้ง่าย ๆ ที่บ้าน ดังนี้
- ให้น้อง ๆ ดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง เพื่อช่วยระบายเมือกหรือน้ำมูกที่อยู่บริเวณคอ และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ร่างกาย
- ล้างจมูกเด็กด้วยน้ำเกลือ โดยไม่ควรทำให้เด็กเองหากทำไม่เป็นหรือไม่เคยทำ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนหากไม่มั่นใจว่าจะทำได้ เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการล้างจมูกเด็กที่ถูกต้อง
- ประคบร้อนให้เด็ก โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น แล้วประคบที่บริเวณจมูก แก้ม หรือตาของเด็ก เพื่อช่วยลดอาการบวม
- หากเด็กโตพอที่จะอาบน้ำเองได้แล้ว ควรให้เด็กอาบน้ำอุ่น เพื่อเพิ่มความชื้นให้กับจมูก หรือจะให้เด็กลองนั่งอยู่ในห้องน้ำที่มีไอจากน้ำร้อนก็ได้
- ใช้สเปรย์พ่นจมูกเด็ก เพื่อช่วยให้จมูกไม่แห้ง ซึ่งสเปรย์ที่ใช้ ควรเป็นสเปรย์ที่คุณหมอแนะนำและไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก ๆ
- ให้เด็กดมน้ำมันหอมระเหยยูคาลิปตัส เพื่อทำให้จมูกโล่งและสดชื่นมากยิ่งขึ้น
- ให้เด็กนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย หากเด็กนอนหลับไม่เพียงพอ หรือร่างกายอ่อนเพลีย อาจทำให้อาการแย่ลง
- ให้เด็ก ๆ ลองรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ด เพราะจะช่วยทำให้จมูกและทางเดินหายใจโล่งขึ้นได้
- ซื้อวิตามินซีให้เด็ก ๆ รับประทาน เพื่อลดอาการบวมที่เกิดจากไซนัสอักเสบ
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่แชร์ ลูกหวิดตาบอดเพราะไซนัสลงตา
เด็กที่เป็นไซนัสอักเสบหลายคน มักจะมีอาการไอร่วมด้วย (ภาพโดย jcomp จาก freepik.com)
ป้องกันไม่ให้เป็นไซนัสอักเสบได้ยังไงบ้าง
แม้ว่าอาการไซนัสอักเสบจะสังเกตได้ยาก เพราะคล้ายกับไข้หวัด แต่เราสามารถช่วยเด็ก ๆ ลดความเสี่ยงที่จะเป็นไซนัสได้ ดังนี้
- ล้างจมูกเด็กด้วยน้ำเกลือหรือผลิตภัณฑ์ที่แพทย์แนะนำบ่อย ๆ เพื่อให้จมูกของเด็กไม่แห้ง
- ใช้เครื่องทำความชื้นในบ้าน เพื่อทำให้บ้านหรือห้องนอนมีความชื้นอยู่เสมอ
- ให้เด็กอยู่ห่างจากควันบุหรี่ ยาสูบ หรือควันซิการ์
- หากเด็กเป็นภูมิแพ้ ควรให้เด็กอยู่ห่างจากสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้
- ไม่ควรให้เด็กเอาน้ำเข้าจมูกอย่างรุนแรงจนเกินไป
- พาเด็กเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันอาการภูมิแพ้
- ไม่ให้เด็กลงเล่นน้ำในสระที่มีคลอรีนอยู่ เพราะสารคลอรีนอาจทำให้เด็กระคายเคืองจมูกได้
- ไม่ให้เด็กเข้าใกล้กับคนที่เป็นหวัด หรือคนที่เป็นโรคทางเดินหายใจ
เนื่องจากว่าอาการไซนัสอักเสบ มีความคล้ายกับอาการไข้หวัดทั่วไปอยู่มาก จึงอาจทำให้คุณแม่ไม่ทันสังเกตเห็น หากเด็กเป็นไซนัสอักเสบ อย่างไรก็ตาม หากเด็ก ๆ คัดจมูก มีไข้สูง หายใจไม่สะดวก หายใจหอบ หรือมีอาการไซนัสอักเสบเกินกว่า 10 วัน ควรพาเด็กไปหาหมอทันที หรือหากเด็ก ๆ ไม่ได้มีอาการรุนแรง แต่คุณแม่รู้สึกเป็นกังวล ก็สามารถพาน้อง ๆ เข้าพบหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการที่เกิดได้เช่นกันค่ะ ซึ่งเมื่อเข้าพบหมอ หมออาจซักประวัติโดยทั่วไป และตรวจดูอาการที่เกิด นอกจากนี้ หมออาจทำการสแกนจมูกเพื่อตรวจดูความผิดปกติ และนำตัวอย่างเนื้อเยื่อในจมูกออกมา เพื่อตรวจหาเชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ ด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ลูกมีน้ำมูกเรื้อรัง…เกิดจากไซนัสอักเสบได้หรือไม่?
ภูมิแพ้ ลูกเป็นภูมิแพ้ รับมือได้ยังไงบ้าง รักษาได้หรือเปล่า?
ล้างจมูก วิธีล้างจมูกให้ลูก ลูกป่วยภูมิแพ้ เป็นหวัด มีน้ำมูก ล้างจมูกให้ลูกโล่ง ช่วยให้ทารกหายป่วยไว
ที่มา : stanfordchildrens , hopkinsmedicine , khonkaenram , everydayhealth , healthline , allinahealth
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!