คุณแม่ท่านหนึ่งได้พาลูกน้อย อายุ 2 เดือน มาปรึกษาหมอด้วย อาการผื่นผิวหนังอักเสบ และถ่ายอุจจาระมีมูกเลือด เป็น ๆ หาย ๆ มาตั้งแต่อายุ 1 เดือน เมื่อได้ซักถามประวัติเพิ่มเติม และตรวจร่างกายแล้วก็สันนิษฐานได้ว่า อาการของเด็กน่าจะมากการแพ้อาหาร ในขณะที่คุณแม่ยังคงสงสัยว่า รู้ได้อย่างไรเมื่อลูกแพ้อาหาร ทั้ง ๆ ที่ให้เพียงน้ำนมแม่เพียงอย่างเดียว
รู้ได้อย่างไรเมื่อลูกแพ้อาหาร ผ่านนมแม่ สังเกตได้จากอะไร?
เรามักจะพบเด็กที่มีอาการแพ้อาหารมากยิ่งขึ้น เนื่องจากลักษณะของกระบวนการการผลิตอาหารในปัจจุบัน และลักษณะการเลือกทานอาหารของตัวคุณแม่ ที่ไม่ส่งผลดีต่อร่างกายของเด็ก
เด็กที่เกิดใหม่มักมีอาการแพ้อาหารต่าง ๆ ถึงร้อยละสิบ ซึ่งอาการแพ้จะส่งผลต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิต การเจริญเติบโต รวมถึงพัฒนาการของเด็ก แม้ว่าตัวคุณแม่จะเลือกให้เพียงน้ำนมของแม่ แก่ลูกน้อยของตน แต่อาการแพ้ ก็ยังคงพบเห็นได้อย่างต่อเนื่อง นั่นเป็นเพราะ อาหารที่คุณแม่ทานเข้าไปในแต่ละมื้อนั้น สารอาหารต่าง ๆ ยังคงส่งผ่านไปยังน้ำนม และเมื่อลูกได้ดื่มน้ำนมแม่ จึงไม่แตกต่างจากการทานอาหารชนิดเดียวกันกับที่แม่ของเขาทานนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น อาหารที่แม่ทานบางส่วนจะถูกส่งผ่านมายังลูก โดยมีการดูดซึมจากลำไส้ เข้าสู่กระแสเลือด และเส้นเลือดบริเวณหน้าอก ก็จะไปหล่อเลี้ยงเซลล์ที่สร้างน้ำนมในเนื้อเต้านม หากลูกแพ้อาหารเช่น นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง จึงสามารถมีอาการแพ้ได้ แม้จะทานเพียงนมแม่เท่านั้น เพราะมีส่วนของโปรตีนที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ผ่านมาทางน้ำนมนั่นเองค่ะ การแพ้อาหารผ่านนมแม่นี้ มักเกิดในเด็กทารกวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน เนื่องจากการทำงานของระบบย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : การแพ้นมวัว และแพ้อาหารในเด็ก เป็นยังไงบ้าง? สิ่งที่พ่อแม่หลายคนควรรู้!
ใช้เวลานานเท่าใดหลังจากแม่ทานอาหาร ลูกจึงจะเกิดอาการแพ้?
เนื่องจากกระบวนการย่อย และดูดซึมอาหารของแต่ละคน ใช้เวลาไม่เท่ากัน และอาหารแต่ละชนิด ก็สามารถย่อยได้ยากหรือง่ายต่างกัน และอาการแพ้อาหารมีทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเกิดอาการช้า ดังนั้น ระยะเวลาในการเกิดอาการแพ้ของลูก จึงมีความแตกต่างกันได้ตั้งแต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงจนถึงเกือบทั้งวัน
อาการแพ้อาหารในเด็กแรกเกิด มีอะไรบ้าง?
- อาการทางผิวหนัง : ผื่นผิวหนังอักเสบ , ลมพิษ , ตาบวม , ปากบวม
- อาการทางระบบทางเดินอาหาร : อาเจียน , ถ่ายเหลว , ถ่ายเป็นมูกเลือด
- อาการทางระบบทางเดินหายใจ : หายใจครืดคราด หายใจมีเสียงวี๊ด เหนื่อยหอบ และอาจมีอาการแพ้รุนแรงชนิดอะนาฟัยแลกซิส (Anaphylxis) ได้แก่ การแพ้ที่มีอาการ 2 ระบบ ขึ้นไป จนถึงความดันต่ำ ช็อค
- อาหารที่แพ้ได้บ่อย : นมวัว ไข่ขาว ไข่แดง ถั่วเหลือง อาหารทะเล แป้งสาลี ถั่วลิสง ถั่วชนิดอื่น ๆ
อาหารที่พบว่าเด็กมักจะมีอาการแพ้บ่อย
ส่วนมากอาหารที่เด็กแรกเกิดมักจะมีอาการแพ้จะมีอยู่เพียงไม่กี่ประเภท ดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ที่เราจะต้องใส่ใจให้มากเป็นพิเศษ เนื่องจากอาหารดังกล่าว อาจจะเป็นส่วนประกอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ของอาหารต่าง ๆ ดังนั้น ตัวคุณแม่จำเป็นจะต้องใส่ใจในรายละเอียดของส่วนผสม ของอาหารต่าง ๆ ที่ทานเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งอาหารดังกล่าวมีดังนี้
อาหารประเภทถั่ว
- อาหารคาว : ขนมจีนน้ำพริก , ยำไทยใส่ถั่วลิสง , ส้มตำ , ข้าวเกรียบปากหม้อ , สาคูไส้หมูสับ , ปั้นสิบ , ไส้กรอกปลาแนม , แหนมสดข้าวทอด , ข้าวตังหน้าตั้ง , ข้าวตังเมี่ยงลาว , กระทงทอง , น้ำจิ้มสะเต๊ะ , น้ำจิ้มแหนมเนือง
- ของหวาน : บราวนี่ , คุกกี้ถั่วลิสง , ขนมถั่วตัด , ขนมตุบตับ
- อาหารที่อาจมีถั่วลิสง : ขนมเค้ก , บิสกิท , ขนมปังกรอบ , ซุป , ซอสสปาเกตตี้ , น้ำสลัด
- ถั่วเหลือง : เต้าเจี้ยว , โปรตีนเกษตร , มาการีน , มายองเนส , ซีอิ๊ว , ขนมไหว้พระจันทร์ , เทมเป้ (Tempeh) , ขนมเทียน , นัตโต (Natto) , เต้าหู้ยี้ , ขนมหม้อแกงถั่วเหลือง , ซอสญี่ปุ่น (Miso) , ซอสปรุงรส , ถั่วงอกหัวโต , นมถั่วเหลือง , ชีสถั่วเหลือง , เต้าฮวย , ฟองเต้าหู้ , น้ำเต้าหู้ , น้ำเต้าหู้ถั่วเหลือง , ขนมถั่วแปป , ขนมเปี๊ยะ , ขนมเต้าส่วน , ขนมลูกชุบ , คุ้กกี้บางชนิด , ขนมขบเคี้ยวแผ่นกรอบที่ทำจากถั่วเหลือง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ลูกแพ้อาหารต้องทำอย่างไร เคล็ดลับการดูแลลูกแพ้อาหารในแต่ละช่วงวัย
อาหารประเภทแป้งสาลี
- อาหารคาว : อาหารประเภทชุบแป้งทอด , มักกะโรนี , สปาเกตตี้ , พาสต้า , หมี่ซั่ว , ก๋วยเตี๋ยวโซบะ ,บะหมี่ , เกี๊ยวกรอบ , ติ่มซำ , บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป , พิซซ่า , ผักชุบแป้งทอด , โรตีมะตะบะ , ซุปข้น , แหนมสดข้าวทอด , กระทงทอด , ถุงเงิน , ขาแกะปลอม , ซอสถั่วเหลือง , น้ำเกรวี่ , Hotdog Sausage , ไก่ทอด , Cereals , ปูอัด , ไส้กรอก , ปลาดุกฟู , หอยจ๊อ , ของทอดของกรอบเกือบทุกชนิด , แป้งโกกิ , แป้งคนอร์ , เกร็ดขนมปัง , ปอเปี๊ยะสด , ปาท่องโก๋ , ลูกชิ้นชุบแป้งทอด , น้ำสลัด , เกี๊ยว , บะหมี่
- อาหารหวาน : โรตีสายไหม , เค้ก , คุกกี้ , โรตี , ฮานามิ , เอแคล , พาย , แพนเค้ก , วอฟเฟิล , บิสกิท , มัฟฟิน , ขนมปังแครกเกอร์ , โดนัท , แฮมเบอร์เกอร์ , บราวนี่ , ครัวซอง , ขนมโตเกียว , แยมโรล , ขนมปังเนยสด , ทองพลุ , ทองเอก , ขนมสาลี่ , ปุยฝ้าย , ขนมปั้นสิบ , ขนมดอกลำดวน , กะหรี่พัฟ , ขนมไข่ ,ครองแครงกรอบ , โคนไอศกรีม , ปอเปี๊ยะ , พุดดิ้ง , มันฝรั่งทอด , ขนมเปี๊ยะ , ทาร์ต , ขนมสายไหม , ลูกอมเคี้ยวหนึบ , โยเกิร์ตบางยี่ห้อ
- เครื่องดื่ม : โกโก้ , โอวัลติน , เบียร์ , ไมโล , นมถั่วเหลืองชนิดไม่เจ
อาหารประเภทไข่
- ของคาว : ข้าวคลุกกะปิ , ข้าวผัดใส่ไข่ , ก๋วยเตี๋ยวผัดไทใส่ไข่ , หมี่กะทิ , ผักชนิดต่าง ๆชุบแป้งทอด , บะหมี่ , พิซซ่า , โรตีมะตะบะ , น้ำสลัดน้ำข้น , เกี๊ยว ,ขนมจีบ , แจงลอน , ทอดมัน , Hotdog Sausage , ซาลาเปาไส้หมูสับ , แหนมสดข้าวทอด , ขาแกะปลอม , มายองเนส , หมี่กรอบ , ถุงเงิน , กระทงทอง , เบื้องญวน , ไก่หรือกุ้งพันอ้อย , ปอเปี๊ยะสด , Scramble egg , ปูผัดผงกะหรี่ , กระเพาะปลา , ก๋วยจั๊บ
- ของหวาน : เค้ก , คุกกี้ , คัสตาร์ด , พาย , บิสกิท , มัฟฟิน , ขนมปังแครกเกอร์ , แฮมเบอร์เกอร์ , บราวนี่ , ครัวซอง , ขนมโตเกียว , แยมโรล , เอแคล , พุดดิ้ง , แพนเค้ก , วอฟเฟิล , โดนัท , ขนมปังเนยสด , ขนมปังปอนด์ ,ทองพลุ , ขนมหม้อแกงไข่ , ทองหยิบ , ทองหยอด , ฝอยทอง , ขนมเปี๊ยะ ,ขนมสาลี่ , ปุยฝ้าย , ขนมไข่ , ขนมทองม้วน , ทองเอก , ครองแครงกรอบ , ขนหน้านวล , ขนมเบื้องไทย , สังขยา ,ขนมครก
อาหารทะเล
- แกง : แกงเผ็ด, แกงเขียวหวาน , แกงส้ม , แกงเหลือง , แกงเทโพ , แกงไตปลา , แกงคั่ว , แกงอ่อม , พะแนง , แกงเลียง , ผัดพริกขิง , ขนมจีนน้ำยา
- น้ำพริก : น้ำพริกมะขาม , น้ำพริกมะม่วง , น้ำพริกกะปิ , น้ำพริกลงเรือ
- อาหารคาวอื่น ๆ : หมูกรอบ , หมี่กะทิ , ขนมเบื้องญวน ,ปอเปี๊ยะ , ข้าวตังหน้าตั้ง , ข้างตังเมี่ยงลาว , ข้าวเกรียบกุ้ง , หอยจ๊อ , ลูกชิ้นกุ้ง , ลูกชิ้นปลา , ปูอัด
- เครื่องปรุง : น้ำข้าวยำ , น้ำเมี่ยงคำ , กะปิ
- ขนม : ขนมถุงต่าง ๆ เช่น ข้าวเกรียบกุ้ง , ปูไทย , ปลาทาโร่
อาหารประเภทนมวัว
- ของคาว : ต้มยำน้ำข้น , ซุปบางชนิด , ซุปข้น , น้ำสลัดบางชนิด , โรตี , มะตะบะ , มันบด , มายองเนส , พิซซ่า , Hotdog Sausage , Scramble egg , ขนมเบื้องญวน , ซาลาเปา , ชีส , เนย , เนยเทียม
- ของหวาน : ไอศกรีม , คัสตาร์ด , เค้ก , คุกกี้ , เอแคล , พาย , แพนเค้ก , วอฟเฟิล , บิสกิท , มัฟฟิน , ขนมปังแครกเกอร์ , โดนัท , แฮมเบอร์เกอร์ , บราวนี่ , ครัวซอง , ขนมปังโตเกียว , แยมโรล , พุดดิ้ง , Caramels , ขนมปังเนยสด , ขนมปังปอนด์ , ขนมปังกระเทียม , วิปปิ้งครีม , ทองพลุ , ขนมเปี๊ยะนมสด , ปั้นสิบทอด , กะหรี่พัฟ , ขนมดอกลำดวน
- เครื่องดื่ม : โยเกิร์ต , ยาคูลท์ , Coffe mate , โอวัลติน , ไมโล , โกโก้ , กาแฟใส่นม , นมถั่วเหลืองที่ไม่ใช่สูตรเจ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : เรื่องที่พ่อแม่ควรรู้ ดูแลลูกอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยง การแพ้อาหารในเด็ก วิธีสังเกตว่าลูกแพ้อาหารหรือไม่
ทราบได้อย่างไรว่าลูกแพ้อาหารผ่านนมแม่?
หากคุณแม่ให้นมสังเกตว่าหลังจากที่คุณแม่ได้รับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วสักพักลูกมีอาการผิดปกติในระบบต่าง ๆ เกิดขึ้นซ้ำ ๆ จะเป็นข้อสงสัยว่าแพ้อาหารชนิดนั้น ควรไปปรึกษาคุณหมอเพื่อจะได้ซักถามประวัติ ชนิดของอาหาร ปริมาณ ที่คุณแม่ทาน และอาการที่เกิดขึ้นของลูกในเวลาต่อมาอย่างละเอียด และตรวจร่างกายลูกเพื่อหาอาการแสดงของระบบต่าง ๆ
ตรวจสอบการแพ้อาหารได้อย่างไร?
โดยมาก เมื่อตรวจสอบอาหารแล้วพบว่าเด็กมีอาการแพ้สาเหตุมาจากอาหารที่คุณแม่ทานเข้าไป ก็จะทำการแนะนำตัวคุณแม่ให้ทำการทดสอบภูมิแพ้ ซึ่งจะมีวิธีตรวจสอบ ดังนี้
- การทดสอบภูมิแพ้โดยการสะกิดผิวหนัง (Skin prick test)
- การเจาะเลือดตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร (Specific IgE)
ซึ่งการทดสอบทางผิวหนัง (Skin prick test) หรือการตรวจเลือดของลูก (Specific IgE) หรือให้ลองงดอาหารที่สงสัย อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ และนัดมาติดตามอาการ หรือทดลองทานอาหารที่สงสัย ภายใต้การดูแลของคุณหมออย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยในการวินิจฉัยชนิดของอาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้ ทั้งนี้ การจะเลือกใช้วิธีใดในการช่วยการวินิจฉัยขึ้นกับดุลยพินิจของคุณหมอที่ดูแลร่วมกับการตัดสินใจของคุณพ่อคุณแม่เป็นหลักค่ะ
รักษาการแพ้อาหารผ่านนมแม่ทำได้อย่างไร?
- หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้
- ยาแก้แพ้บรรเทาอาการ
- อะดรีนาลีน (Adrenaline) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเมื่อมีอาการแพ้รุนแรงชนิดอะนาฟัยแลกซิส (Anaphylxis)
เมื่อทราบว่าลูกแพ้อาหารชนิดใดผ่านนมแม่ คุณแม่ให้นมก็ต้องงดอาหารนั้นและผลิตภัณฑ์ที่มีอาหารนั้นเป็นส่วนประกอบอย่างเคร่งครัด และเมื่อลูกถึงวัยที่จะทานอาหาร ก็ต้องงดอาหารของลูกที่มีส่วนประกอบของสิ่งที่แพ้ เช่นกันนะคะ นอกจากนั้นคุณหมอก็จะให้ยารักษาอาการแพ้ที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น ยาทาผื่น ยาแก้แพ้แก้คัน ลดน้ำมูก ยาสูดขยายหลอดลม เป็นต้น
สำหรับการงดอาหารที่แพ้จะต้องงดไปจนกว่าคุณหมอที่ให้การดูแลจะแนะนำให้ลองทานอาหารนั้นได้ โดยจะลองทานเองที่บ้าน หรือมาทานภายใต้การดูแลของคุณหมอที่โรงพยาบาล ก็ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของการแพ้ ในเด็กแต่ละคนตามดุลยพินิจของคุณหมอค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
แม่กินเผ็ด น้ำนมจะเผ็ดด้วยไหม
ประโยชน์แปลกๆของนมแม่ ที่คุณอาจไม่เคยรู้ เช่น กำจัดกลิ่นใต้วงแขน บรรเทาอีสุกอีใส
นมแม่ยิ่งใหญ่มาก สุดยอดภาพถ่ายนมแม่ออสเตรเลีย งดงามและอบอุ่นสุดๆ
ที่มา : Phyathai Sriracha
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!