ในช่วงของการตั้งครรภ์ในช่วงแรก คุณแม่หลายคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับ “ถุงไข่แดง” แต่ไม่รู้มาก่อนว่า ถุงไข่แดงทำหน้าที่อะไร มีความสำคัญอย่างไรต่อตัวของคุณแม่ หรือลูกน้อยในครรภ์ วันนี้เราจะมาเจาะลึกถึงทุกข้อมูลที่ควรรู้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นคุณแม่มือใหม่อย่างสมบูรณ์ที่สุด
ถุงไข่แดง (Yolk Sac) เกิดจากอะไร ?
ในช่วงเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากไข่ผ่านการปฏิสนธิ เซลล์มวลภายในจะสร้างเนื้อเยื่อ 2 ชนิด ที่เรียกว่า “ไฮโปบลาส (Hypoblast)” และ “เอพิบลาส (Epiblast)” โดยไฮโปบลาส จะสร้างถุงไข่แดง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการส่งสารอาหารต่าง ๆ จากมารดาไปสู่ตัวอ่อนในระยะต้น ในส่วนของเซลล์จากเอพิบาส จะสร้างเนื้อเยื่อที่เรียกว่า “ถุงน้ำคร่ำ” ซึ่งมีตัวอ่อนอยู่ข้างใน ในเวลาต่อมา คือ ทารกในครรภ์ และเจริญเติบโตไปจนกระทั่งคลอดนั่นเอง
วิดีโอจาก : BabyandMom.co.th
ถุงไข่แดงทำหน้าที่อะไร สำคัญกับลูกในครรภ์อย่างไร ?
ในสัปดาห์ที่ 5 เมื่อตรวจ ultrasound ทางช่องคลอดสามารถพบถุงการตั้งครรภ์ และถุงไข่แดงได้แล้ว ถุงไข่แดงเป็นถุงที่อยู่ติดอยู่กับตัวอ่อน ประกอบไปด้วยเส้นเลือดเล็ก ๆ มากมาย โดยเลือดจะถูกลำเลียงไปยังผนังของถุงไข่แดง และไหลเวียนกลับไปยังหัวใจของตัวอ่อน สารอาหารก็จะถูกดูดซึมจากถุงไข่แดง และลำเลียงไปยังตัวอ่อนในครรภ์ในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ ก่อนที่รกจะถูกพัฒนาสมบูรณ์ และมาทำหน้าที่ในการส่งอาหารไปยังตัวอ่อนแทนถุงไข่แดงในเวลาต่อมา
เมื่อตัวอ่อนมีการพัฒนาเพิ่มขนาด และอวัยวะขึ้น แต่ถุงไข่แดงยังคงขนาดเท่าเดิม อาหารจากถุงไข่แดงจึงไม่เพียงพอ จึงเปลี่ยนมาดูดซึมอาหารผ่านสายรกแทน และถุงนั้นก็จะสลายไป ในปลายสัปดาห์ที่ 12 รกของทารกได้มีการพัฒนาจนสมบูรณ์แล้ว และทำหน้าที่แทนถุงไข่แดง ในการนำอาหาร และออกซิเจนมาเลี้ยงทารก และยังเป็นที่แลกเปลี่ยนของเสียจากเลือดทารกไปยังมารดาอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาหารบํารุงผนังมดลูก มีอะไรบ้าง อยากให้มดลูกแข็งแรง ไม่แท้งง่ายต้องกินอะไร
คุณแม่แพ้ท้อง ลูกจะได้รับสารอาหารไหม ?
ในกรณีที่คุณแม่แพ้ท้องหนักมาก กลัวว่าสารอาหารที่กินเข้าไปจะไม่ถึงลูกน้อย เจ้าถุงไข่แดงนี้เอง จะทำหน้าที่สะสมสารอาหารเอาไว้ให้แก่ลูกน้อย นพ.อานนท์ เรืองอุตมานันท์ กล่าวว่า ลูกในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ จะใช้อาหารจากไข่แดงที่มีติดตัวเขามา และเมื่อใช้หมด ลูกก็จะใช้อาหารจากกระแสเลือดของแม่ จากนั้นค่อยใช้สารอาหารที่แม่เก็บสะสมเอาไว้ ไม่ได้ใช้อาหารที่แม่เพิ่งกินเข้าไป ไม่ว่าแม่จะกิน หรือไม่ได้กิน ลูกก็จะดูดซึมอาหารมาจากแม่ด้วยอัตราคงที่
เพราะฉะนั้น คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลว่าลูกจะขาดสารอาหาร แต่กลับกัน คุณแม่ต้องรักษาสุขภาพของตัวเอง เพราะหากลูกน้อยดึงสารอาหารของคุณแม่ไปใช้จะมีผลต่อสุขภาพคุณแม่เอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : แพ้ท้องมาก อันตรายไหม วิจัยเผย แม่แพ้ท้องมีโอกาสที่จะไม่แท้ง!
หากเกิดอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรงควรทำอย่างไร ?
อาการแพ้ท้องนั้นจะมีภาวะแพ้ท้องรุนแรง (Hyperemesis Gravidarum) ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ด้วยเช่นกัน โดยคุณแม่จะมีอาการอาเจียนบ่อยและรุนแรง, ไม่มีแรง หรือเป็นลม, มีน้ำลายมาก, กลัวการทานอาหาร, หัวใจเต้นเร็ว, ความดันโลหิตต่ำ และมีอาการซึมเศร้า เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ควรพาคุณแม่เข้าพบแพทย์ เพื่อรับการรักษา
ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การให้น้ำเกลือเฝ้าดูอาการขาดน้ำ, การให้อาหารทางสายยางเพื่อให้ร่างกายสมดุล, การใช้ยารักษา เช่น ยาลดอาการกรดไหลย้อน (Antireflux Medications) หรือยาต้านฮิสทามีน (Antihistamines) เป็นต้น โดยจุดประสงค์ของการรักษา คือ การดูแลร่างกายของคุณแม่ให้แข็งแรงมากที่สุด เพื่อเลี่ยงภาวะแทรกซ้อน และให้คุณแม่ได้พักผ่อนมากขึ้น ดังนั้นการเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการรับมือกับอาการแพ้ท้อง จึงเป็นความรู้ที่สำคัญ ที่ไม่ควรมองข้าม
7 เคล็ดลับรับมืออาการแพ้ท้อง
อาการแพ้ท้องเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคุณแม่ที่กำลังท้อง ซึ่งมักจะเกิดในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ สำหรับบางคนที่ไม่แพ้ท้องถือว่าโชคดี แต่สำหรับคุณแม่ที่แพ้ท้อง ลองใช้เคล็ดลับรับมืออาการแพ้ท้อง ต่อไปนี้ดูนะ
- อย่าปล่อยให้ท้องว่าง เพราะเมื่อท้องว่าง จะยิ่งมีอาการแพ้ท้องมากขึ้น
- จิบน้ำหวาน กระเจี๊ยบ ลำไย สมูทตี้ หรืออะไรก็ได้ที่ชอบ เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงาน
- อมลูกอมขิง ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอมได้ดี
- เคี้ยวหมากฝรั่งกลิ่นเปเปอร์มินท์ ช่วยให้สงบ ผ่อนคลายจากอาการคลื่นไส้ได้
- ทานขนมปังกรอบ แครกเกอร์รสชาติเค็มนิด ๆ สามารถบรรเทาอาการพะอืดพะอมได้
- พกถุงซิปล็อก เตรียมพร้อมเสมอเมื่อต้องการอาเจียน
- แปรงฟันให้ปากหอมสดชื่น ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นจากอาการแพ้ท้อง
ถึงแม้ในช่วงแรก ๆ ของการตั้งครรภ์จะมีถุงไข่แดงช่วยในด้านการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ให้สมบูรณ์ แต่คุณแม่ก็ยังต้องคอยดูแลตนเองให้ดีที่สุด เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และมีสารอาหารให้กับลูกน้อยอย่างเพียงพอ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
อาการตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ เป็นอย่างไร และจำเป็นจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง
คู่มือคุณแม่ตั้งครรภ์ : ฝากครรภ์ อัลตร้าซาวด์ นับลูกดิ้น อาหาร และอาการแทรกซ้อน
เช็คลิสต์คุณแม่ตั้งครรภ์ ตลอด 9 เดือน ต้องทำอะไรบ้าง
ที่มาข้อมูล : ehd, siamhealth, 3, pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!