ซิฟิลิส หรือ โรคซิฟิลิส (Syphilis) นั้นเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่พบได้บ่อย โดยอาการโรคซิฟิลิสจะเป็นยังไง รักษายังไง วันนี้ theAsianparent พามาทำความรู้จักกันเลยค่ะ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซิฟิลิส โรคซิฟิลิสอันตรายกว่าที่คิด
นอกจากโรคเอดส์ หนองใน แล้วโรคซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่น่ากลัว โดยโรคนี้จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema Pallidum โดยความน่ากลัวของเชื้อนี้คือจะไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นชัดเจน แต่สามารถติดต่อกันได้ และสามารถเป็นเรื้อรังนานกว่า 2 ปี และเมื่อรักษาหายแล้ว ก็ยังสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้ด้วย สำหรับโรคซิฟิลิสนี้ พบได้ 10-15% ของโรคติดต่อทางเพศศัมพันธ์ทั้งหมด และหากใครสงสัยว่าเราเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือมีอาการของโรคซิฟิลิส มาทำความรู้จักไปพร้อมกันเลยค่ะ
ขอขอบคุณวีดีโอจาก : Mahidol Channel , https://www.youtube.com
เราสามารถติดรับเชื้อซิฟิลิสได้ 3 ทางคือ
- ทางเพศสัมพันธ์ โดยติดต่อผ่านทางเยื่อบุช่องคลอด และ ท่อปัสสาวะ
- ติดต่อผ่านการสัมผัสแผลที่มีเชื้อ เช่น ผิวหนัง เยื่อบุตา ปาก
- จากแม่สู่ลูก โดยหากแม่เป็นโรคซิฟิลิส จะถ่ายทอดโรคนี้สู่ลูกในครรภ์ได้ โดยเรียกเด็กที่เป็นซิฟิลิสจากสาเหตุนี้ว่า ซฟิลิสแต่กำเนิด (Congenital Syphilis) จะแสดงอาการจากการคลอดได้ 3-8 สัปดาห์ โดยเป็นอาการเล็กน้อยมาก จนแทบไม่ทันได้สังเกต เช่น มีตุ่มผื่นขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น แต่จะออกอาการชัดเจน เมื่อโตขึ้น ซึ่งเข้าสู่ระยะที่สี่ หรือ อาจจะแสดงพิการออกมาให้เห็นได้ชัด
โรคซิฟิลิสอาการ เป็นอย่างไร
อาการซิฟิลิสส่วนใหญ่นั้นจะพบในผู้ชาย โดยผู้ป่วยซิฟิลิสจะมีอาการหลายแบบ ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ซึ่งแบ่งเป็น 4 ขั้น
- ระยะแรก Primary Syphilis เชื้อซิฟิลิสจะเข้าทางเยื่อบุ รอยถลอก รอยแผลที่ผิวหนังซึ่งมักพบได้ที่อวัยวะเพศชาย อัณฑะ ทวารหนัก ช่องคลอด ริมฝีปาก และมักจะเป็นแผลเดียว ลักษณะเป็นแผลริมแข็ง คือแผลมีขอบนูนแข็ง แต่ไม่เจ็บ และดูสะอาด ต่อมน้ำเหลืองจะโต จากนั้นอีก 10-90 วัน เชื้อจะเกิดตุ่มแดง แตกออกเป็นแผลที่อวัยวะเพศ ตรงบริเวณที่เชื้อเข้า แผลที่เห็นจะอยู่ 1-5 สัปดาห์ แล้วจะหายไปเองได้ ถึงแม้แผลจะหายแล้ว เชื้อซิฟิลิสอยู่ในกระแสเลือดอยู่ หากผู้ได้รับเชื้อซิฟิลิสเป็นโรคเอดส์อยู่ก่อนแล้ว แผลที่ปรากฏจะมีขนาดใหญ่และกดเจ็บมาก
- ระยะสอง Secondary Syphilis โดยผู้ป่วยซิฟิลิสที่ไม่ได้รับการรักษาในระยะแรก แล้วเลยมาประมาณ 6-8 สัปดาห์ ซิฟิลิสจะเข้าสู่ระยะสอง โดยเชื้อจะกระจายไปตามกระแสเลือด ทำให้เป็นไข้ ปวดศรีษะ ปวดเมื่อตามข้อ เพราะข้ออักเสบ นอกจากนี้จะเกิดผมร่วงหย่อมๆ มีผื่นสีแดงน้ำตาลขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจได้พบทั่วตัว โดยที่ไม่คัน รวมทั้งยังอาจจะพบผื่นสีเทาใน ปาก คอ และ ปากมดลูก หรืออาจจะพบหูด Condylomata lata ในบริเวณที่อับชื้น เช่น รักแร้ ทวารหนัก หรือ ขาหนีบ โดยระยะนี้อาจจะเรียกว่า ระยะเข้าข้อ อารนี้อาจจะอยู่ในระยะประมาณ 1-3 เดือนแล้วจะหายไปเอง ซึ่งสามารถอาจะกลับมาเป็นซ้ำได้ใหม่
- ระยะสาม Latent Stage ระยะนี้อาจจะกินเวลานานหลายปี โดยหลังจากได้รับเชื้อเลยทีเดียว และจะเป็นระยะที่ไม่ได้แสดงอาการอะไรออกมา โดยโรคนี้อาจจะเกิดผื่นได้เหมือนในระยะที่ 2 ดังนั้นการเจาะเลือดไปตรวจอาจจะเป็นทางเดียวที่จะตรวจสอบได้ว่า เป็นโรคซิฟิลิสหรือไม่ และหากผู้หญิงมีเชื้อซิฟิลิสเข้าสู่ขั้นที่ 3 เกิดตั้งครรภ์ เชื้อซิฟิลิสจะสามารถถ่ายทอดสู่ลูกในครรภ์ได้
- ระยะสี่ Late Stage ระยะนี้เป็นระยะที่กินเวลา 2-30 ปี หลังได้รับเชื้อ โดยเชื้อจะเข้าไปทำลายอวัยวต่างๆ ทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น ซิฟิลิสระบบหัวใจ และ หลอดเลือดซิฟิลิสระบบประสาท อาจจะทำให้ตาบอด หูหนวก กระดูกอาจจะหักได้ง่าย ซึ่งหากรักษาไม่ทัน อาจจะทำให้อวัยต่างๆ ถูกทำลาย และหากเด็กในครรภ์ได้รับจากมารดาก็อาจจะเกิดความผิดปกติ พิการ เสียชีวิตได้
การวินิจฉัยโรคซิฟิลิส
แพทย์จะใช้การสอบถามข้อมูลทั่วไป และทำการตรวจร่างกายเบื้องต้น ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจดูบริเวณอวัยวะเพศ หรือ ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย หากพบว่ามีแผล หรือ ความผิดปกติ ที่อาจบ่งบอกถึงโรคซิฟิลิสได้ แพทย์จึงจะสั่งตรวจละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้
การตรวจเลือด เป็นการตรวจหาเชื้อ ที่อยู่ในกระแสเลือดของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยบางรายที่มีผลออกมาว่าติดเชื้อ จะต้องทำการตรวจซ้ำอีกครั้ง หลังจากที่ตรวจครั้งแรกไปแล้ว เพื่อเป็นการยืนยันการติดเชื้อ ที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิสนั่นเอง
การเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ เป็นการตรวจในกรณีที่ผู้ป่วยมีแผล หรือ ผื่นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งแพทย์จะเก็บตัวอย่างเขื้อบนผิวหนัง หรือ น้ำเหลืองที่ออกมาจากแผล นำไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการณ์ เพื่อทำการหาเชื้อที่ทำให้เกิดโรค
อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโรค จำเป็นจะต้องดูระยะของโรคที่ผู้ป่วยเป็นด้วย เนื่องจากในบางระยะ อาจไม่ปรากฏอาการของโรค แต่เมื่อโรคเข้าสู่ระยะสุดท้าย มักพบความผิดปกติที่ร่างกายอื่น ๆ แพทย์จึงจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างเชื้อ เพื่อส่งตรวจให้ห้องปฏิบัติการณ์ ตามระยะโรคที่ผู้ป่วยเป็น
การรักษาโรคซิฟิลิส
ผู้ป่วยที่เป็นโรคซิฟิลิสไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะหากตรวจพบเชื้อตั้งแต่ระยะต้นๆ จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยกินยาปฏิชีวนะ เพนนิซิลลิน เป็นเวลา 1-3 สัปดาห์ ทั้งนี้ระยะเวลาการรักษาขึ้นกับระยะของโรคที่เป็นด้วย และหากผู้ป่วยมีคู่สมรสก็ควรจะได้รับการรักษาคู่กัน แต่ถึงแม้ว่าจะหายแล้วก็ต้องกลับมาตรวจซ้ำอีกในช่วงแรก ทุกๆ 3 เดือนจนครบ 3 ปี เพราะมันอาจจะมีเชื้อหลบในแอบแฝงอยู่ และจะได้แน่ใจว่าโรคหายขาด ทั้งนี้ ระหว่างการรักษาโรคซิฟิลิส ผู่ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น
วิธีป้องกันโรคซิฟิลิส
โดยวิธีที่ง่ายและป้องกันกับโรคซิฟิลิสได้ดีที่สุด คือป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อจะมีเพศสัมพันธ์ และไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หากจะแต่งงานก็ควรไปตรวจโรค เพื่อหากพบว่าใครเป็นโรคนี้จะได้รักษาให้หายขาด นอกจากนี้ใครมีอาการผิดปกติ ที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด
ภาวะแทรกซ้อนของโรคซิฟิลิส
หากผู้ป่วยโรคซิฟิลิส ไม่ได้เข้ารับการรักษาที่ต่อเนื่อง หรือ หายขาด อาการของโรคที่เข้าสู่ระยะสุดท้าย อาจทำให้เกิดการพัฒนา และรุนแรงขึ้นได้ เมื่อเชื้อเข้าไปอยู่ในระบบต่งา ๆ อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคอัมพาต โรคหัวใจ ตาบอด ภาวะสมองเสื่อม เสียสติ ไร้สมรรถภาพทางเพศ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ภาวะแทรกซ้อนของซิฟิลิสต่อสตรีมีครรภ์
ในสตรีมีครรภ์ อาจมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร หรือ ทำให้เกิดภาวะตายคลอดได้ และทารกอาจเป็นโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด หากเชื้อได้ส่งผ่านจากแม่ไปยังลูก ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติในอวัยวะหลายส่วนหลังจากคลอด เช่น ดวงตา ฟัน สมอง กระดูก และการได้ยิน เป็นต้น
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ :
6 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมวิธีการป้องกัน ทำอย่างไรให้ไม่ติดโรค?
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคหนองใน หนองในเป็นยังไง? อันตรายไหม?
โรค HIV คือโรคอะไร ใช่โรคเอดส์ไหม ? มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง ?
ที่มา : mamastory
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!